4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

สวรส.เปิดวงขยายแนวร่วม ขับเคลื่อนประเทศไทยปลอดพยาธิใบไม้ตับ-มะเร็งท่อน้ำดี ตั้งเป้าลดเจ็บป่วยตาย พร้อมเพิ่มอัตราผู้รอดชีวิต

          กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดการประชุมเครือข่ายบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำปี พ.ศ. 2567 “TSRI Research and Development Personnel Network Forum 2024 “TSRI-RDP 2024: Preparing Today for Tomorrow’s Challenges” เพื่อเป็นเวทีเชื่อมพลังนักวิจัยไทยผ่านการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างนักวิจัยรุ่นใหม่และนักวิจัยอาวุโส รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิผู้มีความเชี่ยวชาญ ที่จะนำไปสู่การสร้างความร่วมมือทางวิชาการ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกัน รวมถึงการต่อยอดงานวิจัยที่มีศักยภาพสูงต่อไป โดยมีผู้บริหารหน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) พร้อมด้วยเมธีวิจัยอาวุโส นักวิจัยรุ่นใหม่ ตลอดจนผู้แทนบริษัทเอกชนชั้นนำทั้งไทยและต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมฯ กว่า 1,200 คน เมื่อวันที่ 21 - 23 พ.ย. 2567 ณ โรงแรม เดอะ รีเจ้นท์ ชะอำ บีช รีสอร์ท จังหวัดเพชรบุรี

          ทั้งนี้ ในงานดังกล่าว สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมเป็นเจ้าภาพหลักด้านวิชาการในการประชุมห้องย่อย เพื่อเปิดวงแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นขับเคลื่อนประเด็น “ปลอดพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี” ซึ่งเป็น 1 ใน 8 ประเด็นยุทธศาสตร์เป้าหมาย สร้างอนาคตไทย โดยในการประชุมห้องย่อย ประเด็นปลอดพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี มี รศ.ดร.วัชรินทร์ ลอยลม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเลขาธิการมูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดี เครือข่ายนักวิจัย สวรส. เป็นผู้ดำเนินรายการ และเปิดประเด็นชวนคุยและชวนแลกเปลี่ยนโดย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ว่า โรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี นับเป็นปัญหาสาธารณสุขเฉพาะพื้นที่ โดยพบบ่อยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งที่ผ่านมามีการสร้างความรู้ที่เป็นต้นทุนในเรื่องโรคดังกล่าวอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น ฐานข้อมูลกลุ่มเสี่ยง (Isan Cohort) ระบบคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดี ชุดตรวจคัดกรองโรค หลักสูตรภูมิคุ้มกันโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี คู่มือการผลิตปลาร้า ปลาส้มปลอดภัย ฯลฯ หากแต่ยังไม่เห็นผลเท่าที่ควร เนื่องจากยังมีการเสียชีวิตจากโรคดังกล่าวสูงถึง 6,500 ราย/ปี ส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ 13,500 ล้านบาท/ปี[1] ทั้งๆ ที่โรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ป้องกันและรักษาได้ ถ้าสามารถคัดกรองกลุ่มเสี่ยงให้เข้าสู่กระบวนการรักษาได้เร็ว โดยในปี 2568 นี้ สวรส.จะเป็นหน่วยงานบริหารและจัดการทุนวิจัย (Program Management Unit: PMU) หลัก ในการขับเคลื่อนเพื่อให้ประเทศไทยปลอดโรคพยาธิใบไม้ตับและลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งท่อน้ำดี ทั้งนี้ สวรส. ตั้งเป้าหมายการขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การลดความชุกของการเกิดโรคพยาธิใบไม้ตับ ภายใน 3 ปี น้อยกว่า 5% และภายใน 10 ปี น้อยกว่า 1%, สามารถวินิจฉัยโรคมะเร็งท่อน้ำดีได้ตั้งแต่ระยะต้น ภายใน 3 ปี ได้มากกว่า 50% ภายใน 10 ปี ได้มากกว่า 80%, สามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งท่อน้ำดี ภายใน 3 ปี ได้มากกว่า 30% ภายใน 10 ปี ได้ 50%

          “ความยากหนึ่งของการแก้ปัญหาเรื่องนี้คือ การสู้กับโรคพฤติกรรม ซึ่งการเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นเรื่องที่ต้องใช้กลยุทธ์หลากหลายรูปแบบในการเข้าถึงแต่ละกลุ่มเป้าหมาย ควบคู่กับการสร้างความเชื่อและพฤติกรรมใหม่ เช่น ปลาร้ากินสุกก็อร่อยได้ เค็มน้อยก็อร่อยได้ โดยเน้นไม่ให้เกิดผู้ป่วยรายใหม่ ส่วนคนที่เป็นโรคแล้วก็สามารถคัดกรองเพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที ซึ่งในกระบวนการขับเคลื่อนเพื่อให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กระทรวงศึกษาธิการ ภาคการเมือง ภาคธุรกิจ ฯลฯ โดยหา key actor ที่มีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาแต่ละมิติ แล้วช่วยกันวางแผน พร้อมดำเนินงานอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สามารถสร้าง Big Impact ในเรื่องดังกล่าวให้กับสังคมไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม” นพ.ศุภกิจ กล่าว

          ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นอย่างหลากหลาย และมีประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ ควรมีการทบทวนจุดแข็งและจุดอ่อนของกระบวนการขับเคลื่อนความรู้ที่ผ่านมา และสังเคราะห์ความรู้ที่เป็นแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับโรคให้ชัดเจน ควรเริ่มจากโมเดลเล็กๆ และวัดผลให้ได้จริง แล้วค่อยขยายผลเชิงพื้นที่ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมนุษย์ ไม่ควรใช้สมการเดียวกันในการไปถึงผลลัพธ์ที่ต้องการ ควรมีการใช้สื่อหลากหลายรูปแบบในการสื่อสารความรู้
ที่เกี่ยวข้อง เช่น Infographic, TikTok, Clip, Application, เพลง ฯลฯ เพื่อให้ตรงกับความสนใจ และมีโอกาสของการนำไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของแต่ละกลุ่มเป้าหมาย เด็กเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญในการบอกต่อความรู้ในครอบครัว การคัดกรองด้วยชุดตรวจเบื้องต้น คนทั่วไปควรเข้าถึงได้ง่าย และหลังจากคัดกรองแล้ว ควรทำแนวทางปฏิบัติให้ชัดเจนว่า การรักษาต่อและการเข้าถึงการรักษาต้องทำอย่างไร ฯลฯ 

          ช่วงท้ายของการประชุมห้องย่อยวิชาการ ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ร่วมแลกเปลี่ยน พร้อมเสริมพลังให้ทุกภาคส่วนจับมือขับเคลื่อนประเด็นปลอดพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีไปสู่เป้าหมายเดียวกัน 
...........................

[1] ฐานข้อมูลผู้ป่วยมะเร็งของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ณ 5 มิถุนายน 2567

รูปภาพเพิ่มเติม
nZkkAbWB
14 ธ.ค. 67
หัวข้อ

1

รายละเอียด

20


hvqBoCKg
23 ธ.ค. 67
หัวข้อ

1

รายละเอียด

20


แสดงความคิดเห็น

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้