ข่าว/ความเคลื่อนไหว
กำลังเป็นข่าวครึกโครมในช่วงนี้สำหรับปัญหาแรงงานต่างด้าว ทั้งแรงงานต่างด้าว ผิดกฎหมายกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และการออกกฎหมายควบคุมแรงงานต่างด้าว นอกจากปัญหาดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยแล้ว ในด้านสาธารณสุขก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องจับตามองและเฝ้าระวังถึงอันตรายจากโรคภัยไข้เจ็บ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของเชื้อโรคที่อาจแฝงมากับแรงงานต่างด้าวที่เราอาจไม่รู้ตัว
จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า การตรวจสุขภาพแรงงานเมื่อปี 2555 มีแรงงานต่างด้าวป่วยเป็นวัณโรค 2,034 คน ในจำนวนนี้อยู่ในระยะแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นจำนวน 195 คน เป็นโรคซิฟิลิสจำนวน 1,359 คน โรคเท้าช้าง 38 คน และมีสารเสพติดอีก 321 คน นอกจากนี้ยังมีโรคอื่นๆ เช่น โรคพยาธิไส้เดือน ไข้เลือดออก และมาลาเรีย ซึ่งถือว่าอันตรายมาก หากมีการนำมาแพร่เชื้อโดยไม่มีการควบคุมที่ดีพอ
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังสรุปข้อมูลจากตัวเลขแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองอย่างถูกกฎหมายประมาณ 2.1 ล้านคน คนกลุ่มนี้จะต้องเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพ แต่พบว่าแรงงานเหล่านี้เข้าสู่ระบบประกันสุขภาพจริงๆ เพียงประมาณ 4 แสนราย ส่วนแรงงานที่เข้าเมืองแบบผิดกฎหมายอีกประมาณ 2 ล้านคน ก็มีการซื้อบัตรประกันสุขภาพเพียงประมาณ 4 แสนคนเช่นเดียวกัน
นั่นหมายความว่าจากแรงงานต่างด้าวราว 4 ล้านคน มีแรงงานประมาณ 3 ล้านคนที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบสาธารณสุขของไทย ทำให้ไม่สามารถติดตามสถานการณ์ด้านสุขภาพของคนกลุ่มนี้ได้ ซึ่งถือว่าน่าเป็นห่วงอย่างมาก แม้การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวครั้งใหม่ กระทรวงสาธารณสุข จะเตรียมการตรวจสุขภาพ และให้แรงงานต่างด้าว ซื้อบัตรประกันสุขภาพแล้วก็ตาม แต่หากใครต้องใกล้ชิดกับแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายและ ไม่ผ่านการตรวจสุขภาพอาจต้องเสี่ยงต่อ 3 โรคนี้
1) โรควัณโรค มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย ไมโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium tuberculosis) หรือ TB เชื้อนี้จะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการ ไอติดต่อกันเป็นเวลานานและเกิดแผลในปอดจนทำให้เสียชีวิตได้ การติดต่อเกิดจากการแพร่กระจายขณะที่ ผู้ป่วยไอ จาม หรือแม้แต่การพูดคุย โดยเชื้อจะออกมาจากน้ำลายหรือละอองเสมหะและจะลอยอยู่ในอากาศได้เป็นเวลานาน โดยเฉพาะในที่อากาศไม่ถ่ายเท เมื่อเราหายใจเอาเชื้อวัณโรคเข้าไปจะทำให้มีโอกาสติดเชื้อโรคได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิคุ้มกันไม่ดีหรือมีร่างกายอ่อนแอ เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง เป็นต้น สำหรับอาการของโรคที่สำคัญคือ อ่อนเพลีย ไม่มีแรง น้ำหนักลด เบื่ออาหาร มีไข้ต่ำๆ หนาวสั่นและมีเหงื่อออกตอนกลางคืน และมีอาการไอแห้งๆ ในช่วงแรกๆ ต่อมาจะไอแบบมีเสมหะและจะไอมากในเวลาเข้านอน ตื่นนอน ช่วงเช้าและหลังอาหาร หากใครที่ไอเรื้อรังเกิน 3 สัปดาห์ต้องรีบพบแพทย์โดยด่วน
2) โรคซิฟิลิส (Syphilis) เป็นโรคเสี่ยงสำหรับผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับต่างด้าวที่มีเชื้อนี้อยู่โดยไม่ได้ป้องกัน ทั้งจากอวัยวะเพศ ช่องคลอด ทวารหนัก ท่อปัสสาวะ และช่องปาก นอกจากนี้ ยังสามารถติดโรคผ่านการสัมผัสผิวหนัง เช่น ทางผิวหนัง เยื่อบุตา หรือสัมผัสสารคัดหลั่ง โรคนี้เกิดได้ทั้งชายและหญิง สาเหตุมาจากเชื้อ Treponema pallidum สำหรับอาการที่สำคัญ มี 3 ระยะ โดยในระยะแรกสังเกตได้จากความผิดปกติจากการมีแผลทั้งแผลเดี่ยวและหลายแผลซึ่งพบมากบริเวณอวัยวะเพศทั้งชายและหญิง เมื่อร่างกายรับเชื้อซิฟิลิสไปแล้วประมาณ 10-19 วัน แผลที่เกิดขึ้นจะเป็นวงกลมขนาดเล็ก นิ่ม ไม่เจ็บ ขอบแผลจะนูนแข็ง และแผลจะอยู่นานประมาณ 3-6 สัปดาห์ หากในช่วงนี้ ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันเวลาก็จะสามารถหายได้ แต่หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องก็จะ เข้าสู่ระยะต่อไปซึ่งอันตรายมากขึ้น ดังนั้นหากใคร มีความเสี่ยงและมีอาการข้างต้นต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา
3) โรคเท้าช้าง (Elephantiasis) เป็นโรคที่เกิดจากหนอนพยาธิตัวกลมฟิลาเรีย เป็นพยาธิที่อยู่ในกระแสเลือด มียุงเป็นพาหะนำโรค เมื่อยุงกัดและ ดูดเลือดคนที่มีพยาธิตัวอ่อนก็จะรับเชื้อเข้าไป โดยพยาธิตัวโตเต็มวัยจะมีชีวิตอยู่ในร่างกายคนได้ประมาณ 5 ปี สำหรับอาการเมื่อถูกยุงที่มีเชื้อ ระยะแรกร้อยละ 70-80 จะไม่มีอาการใดๆ แต่ต่อมาอาจเกิดอาการเฉียบพลัน เช่น การอักเสบของต่อมและทางเดินน้ำเหลือง ต่อมน้ำเหลืองบวมโต ปวด มีไข้ และรู้สึกไม่สบายร่วมด้วย อาการที่เกิดขึ้นเป็นนานประมาณ 3-5 วัน และจะหายไปได้เองโดยไม่ต้องรักษา ต่อมาช่วงที่อาการเรื้อรังจะมีอาการบวมของน้ำเหลือง เมื่อกดจะเกิดรอยบุ๋ม ต่อมาจะบวมมากขึ้น กดแล้วไม่บุ๋ม จนในที่สุดเกิดเป็นภาวะเท้าช้างเมื่อพยาธิเข้าไปอุดที่ต่อมน้ำเหลือง ซึ่งอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นภายหลังจากติดเชื้อพยาธิแล้วประมาณ 5 -10 ปี ดังนั้น การป้องกันการติดเชื้อโรคจึงอยู่ที่การหลีกเลี่ยงการถูกยุงกัด และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
เพราะแรงงานต่างด้าวมีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรค การป้องกัน หมั่นสังเกตอาการ จึงเป็นสิ่งจำเป็นในช่วงนี้
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันที่ 04 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 หน้า 25
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้