4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

ว่าด้วยเรื่อง"ไอโอดีน"คุณรู้จักมันดีพอหรือยัง?

          เชื่อว่าหลายคนคุ้นเคยกับแร่ธาตุตัวนี้ "ไอโอดีน" แต่หนึ่งในจำนวนใครหลายคน อาจยังไม่รู้จักมันดีพอ  เมื่อเร็วๆ นี้ ทีมข่าว ASTV ผู้จัดการ Live ได้มีโอกาสไปร่วมงานรณรงค์เนื่องในวันไอโอดีนแห่งชาติที่สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ซึ่งตรงกับวันที่ 25 มิถุนายน ของทุกปี  โดยในปีนี้มีการเดินขบวนรณรงค์ แจกเอกสารเผยแพร่ประชาสัมพันธ์บริเวณทางขึ้น-ลงรถไฟฟ้าสถานีหัวลำโพง พร้อมด้วยการแสดงต่างๆ รวมไปถึงการมอบประกาศเกียรติคุณแก่หน่วยงานที่ให้การสนับสนุนในการดำเนินงานควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน  แต่ประเด็นสำคัญ คงหนีไม่พ้นพระเอกของงาน นั่นก็คือ "ไอโอดีน" แร่ธาตุที่คนไทยยังไม่ค่อยตระหนักถึงภัยร้ายของการขาดสารไอโอดีน โดยเฉพาะหญิงตังครรภ์ที่ยังขาดเจ้าแร่ธาตุตัวนี้อยู่ไม่น้อย โอกาสเสี่ยงที่จะแท้งลูก หรือเด็กมีความพิการแต่กำเนิด หรือเป็น "เด็กเอ๋อ" ย่อมมีได้สูงยืนยันได้จากข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขที่มีการสำรวจ พบว่า เด็กไทยยังเสี่ยงเกิดปัญหาสติปัญญาต่ำอยู่มาก เนื่องจากพบหญิงตั้งครรภ์มีปัญหาขาดสารไอโอดีน เห็นได้จากการสุ่มสำรวจระดับไอโอดีนในปัสสาวะของหญิงตั้งครรภ์ทั่วประเทศล่าสุดในปี 2556 พบสัดส่วนหญิงตั้งครรภ์ที่มีค่ามัธยฐานไอโอดีนในปัสสาวะต่ำกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลิตร ร้อยละ 51.3 ซึ่งถือเป็นพื้นที่ขาดสารไอโอดีนตามเกณฑ์องค์การอนามัยโลก

          ดังนั้น หากแม่ขาดไอโอดีน ลูกก็จะมีความเสี่ยงที่จะขาดสารไอโอดีนตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ส่งผลให้เซลล์สมอง และระบบประสาทของเด็กในครรภ์เจริญเติบโตไม่เต็มที่ ระดับไอคิวจะลดลงได้ถึง 10-15 จุด ที่น่าเป็นห่วงไปกว่านั้น หากแม่ขาดสารไอโอดีนมากๆ อาจทำให้แท้งลูก พิการแต่กำเนิด หรือเป็น "เด็กเอ๋อ" ได้"ไอโอดีนเป็นสารอาหารที่มีความสำคัญต่อการสร้างเซลล์สมองและการทำงานของร่างกาย โดยเฉพาะการเจริญเติบโตของทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา เด็กที่ได้รับสารไอโอดีนไม่เพียงพอ สมองจะเติบโตช้ากว่าปกติและมีผลต่อสติปัญญา ถ้าขาดอย่างรุนแรงจะเป็นโรคเอ๋อได้" ดร.นพ.พรเทพ  ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัยเน้นย้ำถึงความสำคัญของไอโอดีน

          ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายให้สถานพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง จ่ายยาเม็ดวิตามินรวม ประกอบด้วยไอโอดีน ธาตุเหล็ก และโฟลิก ให้หญิงตั้งครรภ์ทุกรายกินวันละ 1 เม็ด ตั้งแต่ไปฝากครรภ์จนถึงหลังคลอดขณะให้นมบุตร 6 เดือน เพื่อสร้างให้เด็กไทยมีไอคิวเกิน 100 จุด เท่ามาตรฐานสากล  ส่วนในคนทั่วไปนั้น ร่างกายคนเราต้องการไอโอดีนเพื่อนำไปสร้างไทรอยด์ฮอร์โมน ซึ่งช่วยในการควบคุมการเผาผลาญอาหารในร่างกายให้เป็นไปตามปกติ การขาดไทรอยด์ฮอร์โมนเป็นระยะเวลานานๆ ร่างกายจะสั่งให้ต่อมไทรอยด์ขยายใหญ่ขึ้น หรือที่เราเรียกกันว่า "คอพอก" นั่นเอง

          กรณีผู้ใหญ่ หากขาดไอโอดีนจะทำให้มีไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ เสี่ยงน้ำหนักตัวขึ้นง่าย เนื่องจากการเผาผลาญ อาหารน้อย จะไม่กระตือรือร้น เกียจคร้าน อ่อนเพลีย เฉื่อยชา สมรรถนะการทำงานลดลง  หากเกิดในวัยเรียนจะทำให้เฉื่อยชา เรียนไม่ทันเพื่อน หากขาดนานๆ จะทำให้ไอคิวลดลงด้วย หากขาดในช่วง ที่ยังเป็นทารกจะทำให้สมองเติบโตช้าเรียนรู้ช้า ตัวเล็กแคระแกร็น โดยหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร ต้องการไอโอดีนวันละ 250 ไมโครกรัม เด็กแรกเกิดถึง 5 ปีต้องการวันละ 90 ไมโครกรัม เด็กอายุ 6-12 ปีต้องการวันละ 120 ไมโครกรัม ส่วนวัยรุ่นและผู้ใหญ่ต้องการวันละ 150 ไมโครกรัม

          ทั้งนี้ อาหารที่มีไอโอดีนสูง ได้แก่ อาหารทะเลทั้งสัตว์และพืช เช่น ปลาทะเล กุ้งทะเล สาหร่ายทะเล เป็นต้น แต่กระนั้นเราก็ไม่สามารถหาอาหารทะเลมารับประทานได้ทุกวัน จึงมีการเติมไอโอดีนในเครื่องปรุงรสเค็ม เช่น เกลือ เพราะสามารถบริโภคได้ทุกวันและวันละน้อย

          กรมอนามัยจึงได้รณรงค์ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเสริม ไอโอดีนลงไปในเกลือ น้ำปลา น้ำเกลือปรุงรส และซีอิ๊วที่ผลิตจากถั่วเหลือง และรณรงค์ให้ความรู้ แก่ประชาชนในการเลือกใช้เครื่องปรุงรสที่เสริมไอโอดีน และรับประทานอาหารทะเลบ้างเป็นบางมื้อ เนื่องจาก ร่างกายไม่สามารถเก็บสะสมไอโอดีนไว้ได้ จึงต้องรับประทานทุกวัน วันละน้อย ถ้าเป็นเกลือทะเลที่ไม่ได้ผสมไอโอดีน ใน 1 ช้อนชาจะมีไอโอดีนเพียง 20 ไมโครกรัมเท่านั้น จึงจำเป็นต้องเสริมไอโอดีนในเกลือทะเลด้วย จึงจะเพียงพอสำหรับความต้องการของคนปกติ

          ไม่เพียงเท่านั้น ยังได้มีการรณรงค์สร้างกระแสให้ประชาชนเข้าใจเรื่องประโยชน์ของสารไอโอดีน โดยเลือกเมนู "ส้มตำไอโอดีน" ที่มีการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมไอโอดีน อาทิ น้ำปลาเสริมไอโอดีน เกลือเสริมไอโอดีน มาเป็นส่วนผสมในการปรุงอาหาร ซึ่งนอกจากจะช่วยป้องกันโรคขาดไอโอดีนแล้ว ยังช่วยลดน้ำหนักได้อีกด้วย
          รู้แบบนี้แล้ว "ไอโอดีน" อย่าให้ขาด โดยเฉพาะคุณแม่ตั้งครรภ์ ถ้าไม่อยากให้ลูกเอ๋อ ไอคิวต่ำ ควรตระหนักกันไว้ให้ดี ไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อลูกและตัวเราเอง

ที่มา : หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 หน้า 13

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้