4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

โรคนอนกรน

          โรคนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ Obstructive Sleep Apnea (OSA) คืออะไร
          ขออธิบายดังนี้ ขณะที่นอนหลับอยู่นั้นทางเดินหายใจส่วนต้นจะตีบแคบลง เสียงกรนจะเกิดขึ้นขณะหายใจ อากาศจะเดินทางผ่านที่แคบทำให้เกิดเสียงดัง แล้วทางเดินหายใจส่วนต้นที่ตีบแคบอยู่ตรงไหน? ทางเดินหายใจที่เกิดตีบแคบขณะหลับนั้น อยู่ตั้งแต่หลังจมูกจนถึงทางเปิดของกล่องเสียง ทางเดินหายใจส่วนนี้เปรียบเสมือนท่อยางยืดหยุ่น ที่ไม่มีกระดูกเป็นโครงแข็ง


          โรคนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับนั้น เกิดขึ้นเฉพาะขณะหลับเท่านั้น เพราะขณะที่ตื่น สมองจะสั่งงานเต็มที่ให้กล้ามเนื้อบริเวณนั้นช่วยขยายทางเดินหายใจส่วนต้นเต็มที่ ทำให้พูด หายใจ และร้องเพลงผ่านทางเดินหายใจนี้ได้ แต่เมื่อหลับไปแล้ว สมองกำลังพักผ่อน ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณนี้ทำงานน้อยลง ท่อทางเดินหายใจส่วนต้นก็จะฟีบเข้าหากันเหมือนการดูดหลอดกาแฟ แต่ไม่เกิดขึ้นกับทุกคน หากทางเดินหายใจส่วนต้นของคนนั้นกว้างอยู่แล้ว ก็จะแคบลงเล็กน้อยตอนหลับก็ไม่เป็นไร แต่คนที่เป็นโรคนอนกรนหยุดหายใจขณะหลับนั้น จะมีทางเดินหายใจส่วนต้นแคบเล็กอยู่แล้ว จะทำให้เกิดตีบแคบจนปิดสนิทหรือเกือบสนิท ทำให้ไม่สามารถหายใจเอาอากาศผ่านไปสู่ปอดได้ เกิดผลเสียตามมาหลายอย่างดังนี้ ทำให้ออกซิเจนในเลือดต่ำ เนื่องจากขาดอากาศหายใจ ต้องพยายามหายใจแรงขึ้นเพื่อเปิดทางเดินหายใจนี้ สมองถูกกระตุ้นให้ตื่นบ่อย ๆ ทำให้หลับได้ไม่ลึก รู้สึกง่วงนอนตอนกลางวัน เพลียไม่สดชื่นเหมือนกับพักผ่อนได้ไม่เพียงพอ จนกระทั่งส่งผลกระทบอื่น ๆ ตามมา เช่น ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ความจำไม่ดี หงุดหงิดง่าย ง่วงหลับใน และเมื่อทิ้งไว้ในระยะยาวโดยไม่ได้รักษาอาจจะนำไปสู่โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต และโรคซึมเศร้าได้

          เห็นไหมล่ะคะ ผลที่ตามมานับกันพัลวันทีเดียว!!!
          แล้วเหตุใดคนที่มีทางเดินหายใจส่วนต้นแคบ ทำให้เกิดโรคนอนกรนหยุดหายใจขณะหลับได้? สาเหตุของทางเดินหายใจส่วนต้นแคบเกิดได้จากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น โครงสร้างใบหน้า ขากรรไกรเล็ก หรือมีลิ้นใหญ่ ต่อมทอนซิลโต และที่สำคัญคือ ความอ้วนทำให้มีไขมันสะสมบริเวณคอ ใครบ้างที่มีความเสี่ยง? สามารถเกิดขึ้นได้ทุกวัย ตั้งแต่เด็กถึงผู้ใหญ่ ในเด็กมักเกิดจากมีต่อมทอนซิลโต หรือโครงสร้างใบหน้า ส่วนในผู้ใหญ่มักพบในผู้ชายมากกว่า เนื่องจากฮอร์โมนเพศหญิงจะช่วยป้องกันอยู่ แต่เมื่อเข้าสู่วัยทองผู้หญิงจะมีโอกาสเสี่ยงได้มาก

          หากสงสัยว่ามีอาการโรคนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา ซึ่งในผู้ใหญ่สามารถสังเกตได้ดังนี้ 1) นอนกรนเสียงดังเป็นประจำ 2) หยุดหายใจขณะนอนหลับ หายใจแรง ๆ เสียงดังเป็นพัก ๆ สลับกับนิ่งเงียบ แล้วหายใจเฮือกเหมือนจะสำลักน้ำลาย บางครั้งผู้ป่วยจะตื่นขึ้นมารู้สึกเหมือนหายใจไม่ออก 3) ง่วงนอนกลางวัน บางครั้งเผลอหลับไประหว่างประชุม
          ผลกระทบที่สำคัญ จะทำให้ไม่มีสมาธิในการทำงาน ขี้ลืม หงุดหงิดง่าย วิตกจริตหรือซึมเศร้า ตื่นนอนตอนเช้าพบว่าปวดศีรษะ คลื่นไส้ ปัสสาวะบ่อยช่วงนอนหลับกลางคืน ผู้ชายอาจมีปัญหาเรื่องสมรรถภาพทางเพศลดลง ส่วนผู้หญิงอาจมีปัญหาประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ทั้งนี้ อาจมีอาการแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับแต่ละคน และส่วนมากผู้ป่วยมักจะไม่รู้ตัวว่าเป็น ต้องอาศัยคนรอบข้างสังเกตอาการ

          การตรวจวินิจฉัยเมื่อไปพบแพทย์ แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยในห้องปฏิบัติการการนอนหลับ (Sleep Laboratory)โดยจะติดอุปกรณ์หลายชนิด เพื่อวัดคลื่นสมองขณะนอนหลับ วัดระดับออกซิเจนและลมหายใจ เป็นต้น ส่วนวิธีการรักษาโรคนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ แพทย์จะรักษาตามความรุนแรงของอาการของผู้ป่วยแต่ละราย ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
          วิธีการที่ 1 ใช้เครื่องช่วยหายใจแรงดันบวก หรือ ซีแพ็พ (CPAP) เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงในการเปิดขยายและถ่างทางเดินหายใจส่วนต้นไม่ให้ตีบแคบขณะที่นอนหลับ โดยตัวเครื่องจะเป่าลมผ่านท่อสายยางไปสู่จมูกผู้ป่วยผ่านจากหน้ากาก เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละรายต้องการแรงดันที่แตกต่างกัน เจ้าหน้าที่ในห้องปฏิบัติการจะค่อย ๆ ปรับแรงดันที่เหมาะสมจนไม่มีอาการกรนหรือหยุดหายใจให้แต่ละคน ผลกระทบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจแรงดันบวก ก่อให้เกิดอาการคัดจมูก ปากแห้ง คอแห้ง เป็นต้น เมื่อมีการเริ่มต้นใช้เครื่องไม่ควรละทิ้งเครื่อง เพราะการใส่เครื่องในช่วงแรกอาจยังไม่คุ้นเคยต้องอาศัยการปรับตัวให้ชินกับเครื่องระยะหนึ่งแล้วจะรู้สึกดีขึ้นเมื่อหลับได้ดีขึ้น ดังนั้น การรักษาด้วยเครื่องซีแพ็พจึงถือเป็นมาตรฐานการรักษาโรคนอนกรนหยุดหายใจขณะหลับ เนื่องจากมีประสิทธิภาพสูงในผู้ป่วยเกือบทุกราย แต่จะเป็นผลสำเร็จในระยะยาวหรือไม่ขึ้นอยู่กับการยอมรับของผู้ป่วย

          วิธีการที่ 2 การใส่ฟันยาง หรือ Oral Appliance  ผู้ป่วยบางราย อาจรักษาได้ผลดีด้วยการใส่ฟันยาง การใส่ฟันยางนี้ ทันตแพทย์จะเป็นผู้ตรวจและประดิษฐ์ฟันยางให้ผู้ป่วยแต่ละคน จะได้ผลดีในผู้ป่วยที่มีระดับโรคเล็กน้อยและปานกลาง แต่ผู้ป่วยที่เป็นระดับโรครุนแรงมักไม่ได้ผลเท่าที่ควร ประโยชน์ของฟันยางนี้จะช่วยเปิดทางเดินหายใจส่วนต้นให้กว้างขึ้น โดยการยื่นขากรรไกรล่างและลิ้นมาทางด้านหน้า ปัญหาที่พบได้มากจากการใส่ฟันยางนี้ เช่น ปวดขากรรไกร การสบฟันเปลี่ยนไป รวมทั้งมีน้ำลายไหลมาก

          วิธีการที่ 3 การผ่าตัดเพื่อรักษาโรคนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับให้ได้ผล จึงต้องใช้วิธีการนี้ ซึ่งการผ่าตัดสามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น การผ่าตัดแก้ไขจมูกคด การจี้เยื่อบุโพรงจมูกที่บวม จะช่วยลดอาการคัดจมูกหรือกรนได้บ้าง แต่มักไม่ช่วยทำให้โรคหายได้ จึงมักเป็นการรักษาเสริมกับการรักษาอื่น ๆ

          การผ่าตัดในระดับลิ้นไก่ เพดานอ่อน การผ่าตัดเช่นนี้จะได้ผลดีในครึ่งหนึ่งของผู้ป่วย จึงควรปรึกษาแพทย์ถึงความเหมาะสมในการผ่าตัด และอาจมีภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดได้ เช่น พูดไม่ชัด สำลักน้ำขึ้นจมูก นอกจากนี้ยังมีการผ่าตัดอื่น ๆ เช่น ผ่าตัดระดับโคนลิ้น ผ่าตัดเลื่อนขากรรไกร ซึ่งอาจได้ผลดีกว่าการผ่าตัดระดับลิ้นไก่อย่างเดียว แต่ก็จะมีภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่า โดยมากการผ่าตัดมักทำให้เสียงกรนดีขึ้น แต่อาจยังไม่สามารถรักษาให้การหยุดหายใจขณะนอนหลับไปได้หมด จึงควรติดตามอาการและตรวจการนอนหลับซ้ำในห้องปฏิบัติการภายหลังการผ่าตัดแล้วระยะหนึ่ง

อาจารย์แพทย์หญิงวิสาข์สิริ ตันตระกูล, วรกต สุวรรณสถิต, เจนจิรา เพ็งแจ่มภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ที่มา : เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2557 หน้า 28

 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้