ข่าว/ความเคลื่อนไหว
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สำรวจพบเชื้อดื้อยา'สเตรปโตค็อกคัส นิวโมเนียอี-เอซินีโทแบคเตอร์' พุ่งใน รพ. 60 แห่ง สธ.เร่งใช้ โปรแกรมฮูเน็ตแก้ปัญหาทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "การวิเคราะห์ข้อมูลผลการทดสอบความไวของเชื้อต่อยาต้านจุลชีพด้วยโปรแกรม WHONET" ว่า ขณะนี้ปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทยน่าเป็นห่วง จากการรวบรวมข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ สถาบันวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่ทำร่วมกับเครือข่ายโรงพยาบาล 60 แห่งทั่วประเทศ พบว่า เชื้อหลายชนิดมีแนวโน้มดื้อยามากขึ้น โดยเชื้อที่มีอัตราการดื้อยาสูง คือ เชื้อสเตรปโตค็อกคัส นิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae) ที่เป็นต้นเหตุทำให้เกิดโรคปอดอักเสบในเด็กอายุไม่เกิน 5 ขวบ ดื้อยามากขึ้นจากร้อยละ 47 ในปี 2541 เป็นร้อยละ 65.6 ในปี 2556
นพ.อภิชัย กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีเชื้อกลุ่มเอซินีโทแบคเตอร์ (Acinetobacter) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลที่มักฉวยโอกาสก่อโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจผ่านเครื่องช่วยหายใจของผู้ป่วยวิกฤต (ไอ.ซี.ยู.) เชื้อเหล่านี้ดื้อต่อยาทุกตัวและมีแนวโน้มดื้อยาที่ดีที่สุดสำหรับการรักษาโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียแกรมลบ โดยมีอัตราการดื้อยาจากร้อยละ 14.4 ในปี 2543 เป็นร้อยละ 66.3 ในปี 2556
"การดื้อยาที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากการจ่ายยาอย่างไม่สมเหตุสมผล กินยาไม่ครบตามแพทย์สั่ง ปัญหาคือ ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ไม่มียาต้านจุลชีพตัวใหม่เกิดขึ้น เพราะไม่มีการลงทุนเรื่องนี้ แนวทางแก้ปัญหาคือ จะต้องรู้สถานการณ์ของเชื้อดื้อยาในภาพรวมของประเทศ ซึ่งขณะนี้องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยใช้โปรแกรมฮูเน็ต (WHONET) ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มี นโยบายให้โรงพยาบาลในสังกัด สธ.ใช้โปรแกรม ดังกล่าวทั้งหมด เบื้องต้นมีโรงพยาบาล 58 แห่งทั่วประเทศนำโปรแกรมดังกล่าวไปใช้แล้ว" นพ.อภิชัยกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับหลักการทำงานของโปรแกรมนี้ คือ โรงพยาบาลจะป้อนข้อมูลเกี่ยวกับการดื้อยาของผู้ป่วย ซึ่งจะมีการทดสอบความไวของเชื้อต่อยาต้านจุลชีพ โดยโปรแกรมนี้จะมีการประมวลข้อมูลอัตโนมัติในรอบ 1 เดือน หรือรอบ 1 ปี ทำให้รู้ว่าเชื้อแต่ละชนิดมีแนวโน้มการดื้อยาเป็นอย่างไร เมื่อรวบรวมข้อมูลจากทั่วประเทศก็จะทำให้เห็นสถานการณ์ในภาพรวมระดับประเทศดีขึ้น ทั้งนี้ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเคยมีปัญหาดื้อยามากที่สุดในยุโรป สามารถลดการดื้อยาได้สำเร็จหลังใช้โปรแกรมนี้มาแล้ว
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2557 หน้า 10
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้