4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

คู่หูสุขภาพ ช่วยปรับพฤติกรรมลด"ความดัน-เบาหวาน-หัวใจ"

          หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ชอบละเลียดอาหารหวาน มัน เค็ม ซ้ำยังไม่ออกกำลังกาย เมินหน้าใส่ผักและผลไม้ เชื่อเถอะว่าสักวันหนึ่ง คุณจะมีปัญหาสุขภาพโดยเฉพาะกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่เรารู้จักกันดีเช่น ความดัน เบาหวาน หัวใจและหลอดเลือด หรือแม้แต่มะเร็ง
          แต่อย่างว่า ของที่เคยชอบหม่ำ พฤติกรรมความเคยชินเดิมๆ ในชีวิตประจำวัน จะปรับเปลี่ยนปุบปับก็คงเป็นเรื่องยาก ที่สำคัญต้องปรับพฤติกรรมด้วยตัวคนเดียวก็อาจจะเคว้งและหมดกำลังใจไปในที่สุด ถ้ามีคนมาร่วมปรับพฤติกรรมสุขภาพด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเชิงการแข่งขัน เช่น แข่งลดน้ำหนัก หรือชวนกันไปออกกำลังกาย ก็น่าจะจูงใจให้การปรับพฤติกรรมประสบความสำเร็จมากกว่า

          ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือพื้นที่ ต.ตะกาง อ.เมือง จ.ตราด ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นำโดย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. ได้พาสื่อมวลชนดูการดำเนินงานพื้นที่อำเภอสุขภาพดีในการจัดการปัญหาสุขภาพท้องถิ่น พบว่า พื้นที่ดังกล่าวมีการใช้โมเดลของ "คู่หูดูแลสุขภาพ" ร่วมกับกิจกรรมการดำเนินงาน ต่างๆ มาช่วยในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ซึ่งพบว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ช่วยลดจำนวนคนอ้วนในพื้นที่ได้มากถึง 80% เลยทีเดียว

          ส่วนที่มาที่ไปของการดำเนินงานคู่หูดูแลสุขภาพนั้น นพ.ชรัตน์ วสุธาดา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ตราด อธิบายว่า เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานเครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอ ซึ่งจะมีโรงพยาบาลชุมชนเป็นแม่ข่าย และมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นลูกข่ายดำเนินงานร่วมกับ อปท. ผู้นำชุมชน อสม. เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี เหมาะกับวิถีชีวิตชุมชน ไม่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ส่วนกลุ่มที่ป่วยแล้วก็ได้รับการดูแลเข้าถึงบริการ ควบคุมให้อาการอยู่ในระดับปกติ ไม่เกิดโรคแทรกซ้อน

          สำหรับสถานการณ์โรคไม่ติดต่อเรื้อรังของ จ.ตราด พบว่า โรคมะเร็ง มีอัตราการตายอันดับ 1 รองลงมาคือโรคหลอดเลือดสมอง ส่วนอัตราป่วยสูงสุดคือโรคความดันโลหิตสูง โดยปี 2557 พบป่วย 9,447 ราย รองลงมาคือเบาหวาน ป่วย 6,034 ราย การควบคุมป้องกันโรคจึงดำเนินงานในโครงการ "สุขภาพดีวิถีไทย" นำร่องพื้นที่ ต.ตะกาง ก่อน ภายใต้แนวคิดของดีบ้านฉัน บริหารจัดการโดยชุมชน ซึ่งมีการประกาศนโยบายสุขภาพดี 7 เรื่องคือ 1.กินผักและผลไม้ปลอดสารพิษวันละครึ่งกิโล 2.ลดอาหารหวาน มัน เค็ม 3.ปลูกผักปลอดสารพิษ โดยใช้ปุ๋ยชีวภาพหมู่บ้าน  4.ออกกำลังกายถูกต้องทุกวันๆ ละ 45 นาที ยกเว้นวันอาทิตย์  5.ทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่โมโหง่าย ไม่เครียด  6.ไม่ดื่มสุรา และ 7.ไม่สูบบุหรี่

          ด้าน นายอภิเดช บุญล้อม นายกเทศมนตรี ต.ตะกาง ให้ข้อมูลเพิ่มว่า ต.ตะกาง มี 6 หมู่บ้าน ประชากร 1,986 คน มีผู้ป่วยความดันโลหิต 98 ราย เบาหวาน 48 ราย หัวใจและหลอดเลือด 36 ราย และโรคมะเร็ง 7 ราย การดำเนินงานอำเภอสุขภาพดีเริ่มที่ หมู่บ้านหัวหนอง ต.ตะกาง เมื่อปี 2552 โดย อปท. อสม. เป็นทีมสุขภาพอำเภอ การดำเนินงานจะเน้นที่การตรวจสุขภาพแบบเชิงรุก เพื่อคัดกรองโรคเรื้อรัง โดยแยกระดับของโรคตามปิงปองจราจร 7 สี ตามนโยบายของ นพ.สสจ.ตราด เช่น โรคเบาหวาน สีขาวคือ ระดับน้ำตาลต่ำกว่า 100 สีเขียวอ่อน 1 ระดับน้ำตาลอยู่ที่ 100-125 ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยง สีดำ หมายถึงป่วยมีโรคแทรกซ้อน เป็นต้น  กลุ่มเสี่ยงสีเขียวอ่อน ยังสามารถแก้ไขไม่ให้เกิดโรค ได้ด้วยการปรับพฤติกรรมสุขภาพ ที่ดำเนินการก็คือสร้างแกนนำ "คู่หูดูแลสุขภาพ" โดยมีหมออนามัยเป็นศูนย์กลาง ให้ อสม.แต่ละคนซึ่งมีความรับผิดชอบดูแลแต่ละบ้านอยู่แล้วคนละ 5-10 บ้าน ให้ชักชวนบ้านที่ตนดูแลมาออกกำลังกาย ส่งเสริมให้กินผักผลไม้ครึ่งกิโล เป็นต้น เรียกได้ว่า อสม.ต้องปรับพฤติกรรมสุขภาพเป็นเพื่อนไปด้วย

          นอกจากนี้ ยังมีการทำ Walk Rally ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 5 ฐานคือ ฐานวัดรอบเอว ฐานตรวจระดับน้ำตาลวัดความดันโลหิต ฐานหลากหลายวิธีพิชิตพุง ฐานการเลือกอาหาร และฐานอาหารหวานเค็มน้อย สร้างการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม ช่วยให้จดจำได้ดีกว่าการฟังบรรยาย และจัดให้มีสถานที่ออกกำลังกายในชุมชน ปลูกฝังพฤติกรรมดังกล่าวเด็กในศูนย์เด็กเล็ก ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุด้วยการสวดมนต์ไหว้พระ ออกกำลังกายแบบผู้สูงวัย พบว่า รอบเอวเกินเฉลี่ยลดลง คุมระดับน้ำตาลและความดันโลหิตสูงได้เพิ่มมากขึ้น

          สำหรับคนเมืองแม้จะมีบริบทแวดล้อมที่ต่างกัน แต่หากต้องการปรับเปลี่ยนสุขภาพ ลองชักชวนเพื่อนหรือคนใกล้ชิดมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่ดีด้วยกันอย่างมีวินัย ก็เชื่อว่าจะช่วยให้คุณมีสุขภาพที่ดีขึ้นได้เช่นกัน

สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์

ที่มา : หนังสือพิมพ์ ASTVผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2557 หน้า 9

 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้