ข่าว/ความเคลื่อนไหว
จากนี้ไปในอีก 10 ปีข้างหน้า ใครจะรู้บ้างว่าสุขภาพคนไทยจะเป็นแบบใด? ระบบการรักษาพยาบาลจะดีขึ้นหรือแย่ลง? งบประมาณด้านสาธารณสุขจะเพียงพอมากน้อยแค่ไหน? หรือคุณภาพชีวิตของคนไทยจะพัฒนาไปในทิศทางใด? ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นเรื่องที่น่าคิด ยิ่งในโลกยุคเปลี่ยนแปลงรวดเร็วเช่นนี้ "การเตรียมตัว-เตรียมความพร้อม" เพื่อรองรับสถานการณ์และปัญหา ถือเป็นเรื่องจำเป็น ทั้งนี้ การที่จะเห็น "ปัญหา" ในอนาคต ก็จำเป็นที่จะต้องวาดภาพ "อนาคต" ขึ้นมาให้ได้เสียก่อน...
อีก 10 ปี "สุขภาพคนไทย" จะเป็นแบบไหน?
จะมีปัจจัยใด? ที่มีผลกระทบ "ระบบสุขภาพ"
'สถานการณ์ในช่วงเวลา 10 ปีข้างหน้านี้ มีปัจจัยมากมายที่อาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนไทยได้" ...นี่เป็นการระบุของ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ถึงปัจจัยที่อาจจะส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพไทยในอนาคต พร้อมมีการย้ำว่า...ปัจจัยที่จะเข้ามากระทบต่อระบบสุขภาพของไทยในทศวรรษหน้านั้น มีอยู่อย่างมากมาย อาทิ การเคลื่อนย้ายประชากรข้ามชาติ การที่คนไทยย้ายถิ่นฐานจากชนบทเข้าสู่เมืองมากขึ้น รวมถึงการเข้าสู่สังคมสูงอายุของไทย นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและความรู้ที่รวดเร็วขึ้น รวมถึงการเพิ่มขึ้นของโรคอุบัติใหม่ โรคอุบัติซ้ำ และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน ความดัน และโรคอ้วน ซึ่งเกิดจากวิถีชีวิตยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป
นอกจากการระบุของเลขาธิการ คสช.แล้ว นักวิชาการ-ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบสาธารณสุขเองก็พยายามค้นหา "ปัจจัย" ที่อาจจะส่งผลกระทบกับ "ระบบสุขภาพคนไทย" ในทศวรรษหน้าด้วย โดย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้จัดทำโครงการชื่อว่า "ภาพอนาคตระบบสุขภาพปี 2566" ขึ้นมา ทั้งนี้ เพื่อค้นหาปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนไทย โดยเฉพาะในช่วงระยะเวลา 10 ปีข้างหน้านี้ เพื่อ "เตรียมตัว-เตรียมความพร้อม" ในการรับมือปัจจัยดังกล่าวมีทั้ง "เชิงบวก-เชิงลบ" ที่มีผลกระทบต่อ "สุขภาพคนไทย!!!"
ในรายงาน "ภาพอนาคตระบบสุขภาพปี 2566" ซึ่งเป็นโครงการที่เน้น "กระบวนการวิเคราะห์" ระบุไว้ว่า...ปัจจัยที่มีผล กระทบต่อสุขภาวะในระยะ 10 ปีข้างหน้า ที่อาจจะส่งผลต่อ "ทิศทางสุขภาพคนไทย" ได้นั้น ประกอบด้วย...
1.การขยายตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน และการเปิดเสรีด้านเศรษฐกิจ ที่ทำให้การค้าขายและคมนาคมขนส่งข้ามพรมแดนมีบทบาทมากขึ้น ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายคนข้ามพรมแดน ทั้งนักเดินทางและแรงงานข้ามชาติได้ง่ายขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นการ "เพิ่มความเสี่ยงในการระบาด" ของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ และความเจ็บป่วยเกี่ยวกับสาธารณภัย
2.การเปิดเสรีภาคบริการ และการที่ประเทศไทยประกาศนโยบาย Medical Hub ที่ทำให้เกิดความต้องการของระบบบริการสุขภาพในสถานบริการภาคเอกชนมากขึ้น ขณะที่ทรัพยากรด้านสุขภาพโดยเฉพาะบุคลากรมีจำนวนจำกัด ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายบุคลากรสุขภาพระหว่างภาครัฐและเอกชน ทำให้เกิด "ความขาดแคลน" บุคลากรในด้านนี้ได้...
3.การเปลี่ยนแปลงทางสังคม เป็นปัจจัยที่มากระทบต่อระบบสุขภาพโดยตรง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแนวคิดทางการเมืองการปกครอง เป็น "สังคมของภาคพลเมือง" เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความตระหนักในสิทธิและหน้าที่ในนโยบายสาธารณะอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของตนเองมากขึ้น
4.โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในปี 2573 ที่จะมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น 1 ใน 4 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ก็อาจจะทำให้ "เกิดภาระในการดูแลสุขภาพ" เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรังของผู้สูงอายุ ส่งผลให้รัฐต้องลงทุนสร้างและพัฒนาทรัพยากรมากขึ้น
5.การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยที่พัฒนาเข้าสู่ความเป็นเมืองมากขึ้น ที่อาจจะทำให้ประชาชนมีโรคที่เกิดจาก "วิถีชีวิตแบบคนเมือง" เพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มต้องการบริการสุขภาพ ที่ตอบสนองต่อวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น
6.การเติบโตทางเศรษฐกิจที่กระตุ้นเร้าให้เกิดการแข่งขันสูง เพื่อสร้างรายได้ ที่อาจจะนำไปสู่ "ความเหลื่อมล้ำในสังคม" จนทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมามากมาย อาทิ ปัญหาเยาวชน ยาเสพติด ความรุนแรง หรืออาชญากรรม ซึ่งส่งผลทำให้ประชากรเกิดความอ่อนแอลง ทั้งทางร่างกายและจิตใจ
7.ภูมิอากาศของโลกที่แปรปรวน ที่อาจจะ "ก่อให้เกิดโรคใหม่" ทั้งในคน พืช และสัตว์ นำไปสู่การพัฒนา หรือการใช้ยาใหม่ ๆ รวมถึงการใช้สารเคมีเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ ทำให้เกิดโรคติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาที่รุนแรงมากขึ้น
ทั้งนี้ เลขาธิการ คสช. ยังระบุย้ำไว้ด้วยว่า...การเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ที่อาจจะกระทบต่อ "ระบบสุขภาพของไทย" จำเป็นต้อง "ปรับเปลี่ยนวิธีคิด" โดยนโยบายของรัฐต้องให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจ รวมถึงสร้างระบบบริการสุขภาพที่เน้นองค์รวม-เน้นท้องถิ่นให้มากขึ้น รวมถึงต้องทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นผู้มีส่วนร่วมดูแลในระบบสุขภาพ เพราะที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ก็คือ "สถานการณ์"ที่คนไทยต้องเผชิญในอีก 10 ปีข้างหน้านี้...
นี่เป็น "ภาพอนาคตสุขภาพ" บางส่วนที่เกี่ยวข้องกับ"สุขภาพของคนไทย"
รู้ไว้ก่อนก็จะพร้อม "รับมือปัญหา!!!"
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 07 มิถุนายน พ.ศ. 2557 หน้า 1
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้