4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

เร่งแก้ใช้ยาไม่สมเหตุผลชี้ไทยแบกภาระหลังแอ่น ส่อดื้อยาคุมโรคลำบากในอนาคต

          อนุ กก.ส่งเสริมการใช้ยาฯ เผย ทั่วโลกวิกฤติ แบกภาระด้านยาสูง ซ้ำก่อปัญหาเชื้อโรคดื้อยา ขณะที่ไทย เฉพาะสิทธิข้าราชการเหยียบ 7 หมื่นล้านบาทต่อปี แถมติดเชื้อดื้อยาสูงกว่า 1 แสนราย ตายแล้ว 3 หมื่นราย ชี้อนาคตคุมโรคลำบาก ต้องเร่งแก้ปัญหา ยก รพ.ศิริราชนำขบวน รพ.ส่งเสริมการใช้ยาสมเหตุผล พร้อมร่วมมือเครือข่าย บรรจุในเกณฑ์ประเมินคุณภาพสถานพยาบาล หวังให้การใช้ยาสมเหตุผลกระเตื้องอย่างน้อยปีละ 5%

          ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ให้สัมภาษณ์ว่า องค์การอนามัยโลกได้ทำการศึกษาพบว่าประเทศต่างๆ ทั่วโลกกำลังประสบปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายด้านยาที่สูงมาก ในจำนวนนั้นมาก กว่า 50% ยังเป็นการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุสมผล เช่นเดียวกับในประเทศไทยที่มีการศึกษาพบว่ามีค่าใช้จ่ายด้านยาสูงเกิน 50% ของงบประมาณด้านสุขภาพโดยรวมทั้งหมด โดยเฉพาะในกลุ่มข้าราชการที่มีค่าใช้จ่ายด้านยาสูงถึงปีละ 7 หมื่นล้านบาท ส่วนมากเป็นยากลุ่มรักษาไขมัน ความดันโลหิตสูง ทั้งนี้ จากการศึกษาใบสั่งยาใน รพ.ทั่วประเทศของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) พบว่ามีการใช้ยาในบัญชียาหลักจำนวนมาก แต่มูลค่ายาที่มีการเบิกเงินคืนจากกองทุนกลับพบว่าค่ายานอกบัญชีมีอัตราสูงถึง 75% นั่นเป็นเพราะยานอกบัญชีมีราคาแพงมาก

          ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าการสั่งยาไม่สมเหตุผลส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านนี้พุ่งสูงมาก ประสิทธิภาพที่ได้ต่ำ เกิดผลข้างเคียงจากยาที่มีตั้งแต่อาการเล็กน้อยไปจนถึงขั้นเสียชีวิต และที่กำลังเป็นปัญหามากในทั่วโลกขณะนี้คือ การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่สมเหตุผล ก่อให้เกิดภาวะเชื้อโรคดื้อยา ทำให้การควบคุมโรคในอนาคตมีปัญหา โดยเมื่อปี 2555 สวรส.ได้ทำการศึกษาเรื่องนี้ พบว่าคนไทยติดเชื้อดื้อยามากกว่า 1 แสนราย และเสียชีวิตมากกว่า 3 หมื่นราย ต้องอยู่ใน รพ.นานขึ้นมากกว่า 1 ล้านวัน และสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่า 10,000 ล้านบาท รวมไปถึงการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุผลที่เกิดจากการสั่งใช้ยา ภายใต้อิทธิพลจากการส่งเสริมการขายยาและการโฆษณายา ทำให้เกิดการใช้ยาโดยไม่จำเป็น การสั่งใช้ยาซ้ำซ้อน สั่งใช้ยาโดยไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่ารักษาโรคนั้นได้จริง เพราะฉะนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหาการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุผล

          โดยล่าสุดทาง สวรส. กลุ่มสถาบันแพทย ศาสตร์แห่งประเทศไทย เครือข่าย รพ.โรงเรียนแพทย์ (UHosNet) สถาบันรับรองคุณภาพ รพ. (องค์กรมหาชน) ได้ทำข้อตกลงว่าจะบรรจุเรื่องการใช้ยาอย่างสมเหตุผลเป็นเกณฑ์ในการประเมินคุณภาพสถานพยาบาล (HA : Hospital accreditation) ด้วย โดยตั้งเป้าว่าอยากให้มีการใช้ยาอย่างสมเหตุผลมากขึ้นอย่างน้อยปีละ 5% หรือคิดเป็นมูลค่า 7 พันล้านบาทต่อปี และลดการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่สมเหตุผลลง 50% ซึ่งตรงนี้จะมีแนวปฏิบัติการใช้ยาให้กับทาง รพ. จะมีการอบรมให้ความรู้แก่ รพ.ไปตามภูมิภาคต่างๆ อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวยังเป็นเพียงการนำร่องใน รพ.ที่มีความพร้อมเท่านั้น เบื้องต้นมี รพ.ศิริราช รพ.จากภาคใต้ 18 แห่ง และรอ รพ.ที่เขตบริการสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขคัดเลือกเข้ามาอีก จากนั้นจะมีการประเมินผลโครงการหลังจากนี้อีก 6 เดือน และ 12 เดือน หาก รพ.ใดทำได้ดีจะมีรางวัลให้ด้วย

          "เรื่องการใช้ยาไม่สมเหตุผลมี 2 กรณี คือ 1.ตัวคนไข้เองที่มักจะมีความคิดว่าเมื่อมา รพ.แล้วต้องได้ยากลับไป 2.ตัวแพทย์ก็คิดตามคนไข้ เลยสั่งจ่ายยาไปโดยไม่ได้ตระหนักว่าจะเป็นการสร้างปัญหาเรื่องของการใช้ยาไม่สมเหตุผลและการดื้อยาตามมา ดังนั้นนอกจากโครงการนี้ที่เราทำกับสถานพยาบาลแล้ว ยังได้ดำเนินการให้ความรู้กับประชาชนเป็นโครงการคู่ขนานกันไปด้วย โดยมีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ" ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าว

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 หน้า 4

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้