4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

อปท.กับการสร้างเสริมสุขภาพ: บทบาทที่ต้องจับตามอง

         ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2553 สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการกำกับทิศทางแผนงานวิจัยและพัฒนาการกระจายอำนาจสุขภาพขึ้น เพื่อเป็นการนำเสนอผลการวิจัยในโครงการศึกษาบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการสร้างเสริมสุขภาพ และโครงการศึกษากระบวนการทางการเมืองในการกระจายอำนาจกรณีศึกษาถ่ายโอนสถานี อนามัย โดยมี นพ.สุวิทย์  วิบุลผลประเสริฐ เป็นประธานในการประชุม

          ทพญ.ดร.ศิริวรรณ  พิทยรังสฤษฎ์ นักวิจัย สวรส. และสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ นำเสนอผลการวิจัยในโครงการศึกษาบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการ สร้างเสริมสุขภาพ จากการทบทวนและวิเคราะห์กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ อปท. พบว่า พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) พ.ศ.2537 ส่งผลต่อการขยายบทบาทของ อปท. ในการสร้างเสริมสุขภาพชัดเจนคือ เน้นหนักไปในเชิงการจัดการสิ่งแวดล้อมพื้นฐาน การรักษาความสะอาดของถนน เรื่องน้ำ ทางเดินและที่สาธารณะ รวมทั้งการกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล ตลอดจนการป้องกันโรคและระงับโรคติดต่อ แต่กระนั้นก็ยังไม่ครอบคลุมบทบาททั้ง 5 ประการของการสร้างเสริมสุขภาพในนิยามใหม่  ส่วนแผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้ อปท. ฉบับที่ 2 ได้ผูกภารกิจการบริการด้านการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรคและการรักษาพยาบาลเบื้องต้น ไปพร้อมงบประมาณ สถานีอนามัยและบุคลากร ให้ถ่ายโอนให้ อปท. ที่มีความพร้อมดำเนินการ ส่งผลน่าจะทำให้ภาวะการนำของ อปท. ในการสร้างเสริมสุขภาพล่าช้าออกไป เนื่องจากจะต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอนในการรับโอนสถานีอนามัย ดังนั้นเพื่อให้มีความชัดเจนในบทบาทของท้องถิ่นในการสร้างเสริมสุขภาพ จึงสมควรกำหนดภารกิจให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ในการสร้างเสริมสุขภาพ เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทำหน้าที่สร้างกลไกนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพในระดับจังหวัดที่มีส่วนร่วมจาก ท้องถิ่นทุกระดับ สร้างกลไกเพื่อจัดการสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพในระดับจังหวัด  เทศบาล ทำหน้าที่จัดให้มีบริการสาธารณะในเทศบาล สร้างความมีส่วนร่วมของชุมชน การจัดการให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ การคุ้มครองสิทธิ ตลอดจนเป็นแกนประสานจัดทำนโยบายสาธารณะ และจัดทำแผนสุขภาพระดับอำเภอ  ส่วน อบต. ทำหน้าที่จัดให้มีบริการสาธารณะในเขตตำบล ส่งเสริมสุขภาพของประชาชนรายบุคคล และเป็นแกนประสานจัดทำนโยบายสาธารณะอย่างมีส่วนร่วม หรือจัดทำแผนสุขภาพระดับตำบล

          นพ.พงษ์พิสุทธิ์  จงอุดมสุข ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าว เป็นการเสนอจากข้อมูลที่ได้จากการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพในหน่วยงาน อบต. ยังไม่ได้มีข้อมูลของเทศบาล และอบจ. จึงอาจยังไม่สามารถอธิบายบทบาทการสร้างเสริมสุขภาพของ อปท. ทุกระดับในภาพรวมของทั้งประเทศได้ รวมทั้งคณะนักวิจัยควรจัดทำข้อเสนอให้เป็นรูปธรรมที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ประโยชน์เชิงนโยบายได้ต่อไป

          ด้าน ผศ.เวียงรัฐ  เนติโพธิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และ นักวิจัย สวรส. กล่าวว่า จากโครงการศึกษากระบวนการทางการเมืองในการกระจายอำนาจกรณีศึกษาถ่ายโอนสถานีอนามัย พบว่า กระบวนการถ่ายโอนมีทั้งรูปแบบที่เกิดความสำเร็จได้จาก อปท. เป็นหลัก และจาก อปท.และสถานีอนามัยร่วมมือกัน โดย ในรูปแบบของ อปท. เป็นหลักนั้น พบว่าผู้บริหารเป็นนักการเมืองอาชีพ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนักการเมืองระดับชาติและแกนนำชาวบ้าน ตลอดจนความสัมพันธ์กับข้าราชการใน อปท. ด้านการมีส่วนร่วมพบว่าการตัดสินใจของประชาชนผ่านทางแกนนำเป็นหลัก ส่วนรูปแบบที่ อปท. และสอ.ร่วมมือกัน พบว่าผู้บริหารอปท.มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ สอ. ทั้งแบบร่วมงานและแบบเครือญาติ มีความสัมพันธ์กับข้าราชการใน อปท. ในสายบังคับบัญชา และมีการสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ อย่างไรก็ดี เมื่อมองรูปแบบการถ่ายโอนเป็นกระบวนการทางการเมือง พบว่าประสบความสำเร็จด้วยเหตุผลจากการมีอำนาจบริหารที่เข้มแข็ง มีการแข่งขันกันทางการเมืองเพื่อให้เกิดการแข่งขันด้านการให้บริการและมี ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ ตลอดจนมีการตรวจสอบถ่วงดุลทั้งจากประชาชน จากคู่แข่ง จากองค์กรอิสระ และจากภาคประชาสังคม

          นพ.สุวิทย์  วิบุลผลประเสริฐ กล่าวว่า เพื่อให้เกิดความชัดเจนและมีเป้าหมายในการศึกษาเพื่อพัฒนาการกระจายอำนาจด้านสุขภาพ ควรชี้ให้เห็นว่าการศึกษานี้จะมีข้อเสนออย่างไรทำให้การถ่ายโอนเป็นไปตามหลักการประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด และกระทรวงสาธารณสุขควรต้องทำอย่างไรในการเชื่อมบุคลากรที่โอนย้ายไปสังกัดท้องถิ่นให้ยังคงอยู่ในระบบสุขภาพให้ได้มากที่สุด

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้