4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

กลุ่มโรค NCDs ผลาญชีวิตคนไทย 6 ต้นเหตุ ฆ่าตัวตายก่อนวัยอันควร

           กลุ่มโรค NCDs (Non-Communicable diseases) หรือโรควิถีชีวิต เป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง แต่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่สมดุล ทั้งการกิน นอน พักผ่อน ออกกำลังกาย และการทำงาน ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง และโรคอ้วนลงพุง ซึ่ง 6 โรคนี้เป็นภัยเงียบที่คร่าชีวิตคนไทยถึง 73% ต่อปี
          เพื่อเป็นการรณรงค์เตือนภัยเกี่ยวกับโรคภัยเงียบดังกล่าว ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานแถลงข่าว "กลุ่มโรค NCDs วิกฤติโรค วิกฤติโลก" พร้อมเปิดตัวแคมเปญรณรงค์ "กลุ่มโรค NCDs โรคที่คุณสร้างเอง" ที่จะเผยแพร่และสร้างความตระหนักให้กับคนไทยเห็นความสำคัญของการปรับเปลี่ยน พฤติกรรม เพื่อป้องกันปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคในกลุ่ม NCDs

          ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า กลุ่มโรค NCDs เกิดจาก 6 ปัจจัยเสี่ยง คือ เหล้า บุหรี่ อาหาร (หวาน-มัน-เค็มจัด) การออกกำลังกายไม่เพียงพอ ความเครียด และกรรมพันธุ์ เรียกได้ว่าเป็นโรคที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรม เนื่องจากสภาพสังคมมีความเร่งรีบ ทำให้เกิดความเคยชินในการบริโภคอาหารโดยเฉพาะอาหารจานด่วน รวมถึงเทคโนโลยีที่เจริญก้าวหน้ามากขึ้น ชีวิตมีความสะดวกสบาย ทำให้คนไทยออกกำลังน้อยลง กลุ่มโรคนี้จึงนับเป็นภัยเงียบที่คนไทยต้องเผชิญ โดยเฉพาะช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา สังเกตได้จากสถิติผู้เจ็บป่วยและเสียชีวิตสูงเป็นอันดับหนึ่ง และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ

          จากข้อมูลสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ปี 2552 ไทยมีผู้ป่วยด้วยโรคในกลุ่มนี้ถึง 14 ล้านคน เสียชีวิตมากกว่า 3 แสนคน หรือคิดเป็น 73% ของการเสียชีวิตของประชากรไทยทั้งหมด และมากกว่าครึ่งเสียชีวิตก่อนอายุ 60 ปี คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจของชาติประมาณ 200,000 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่ประชากรทั่วโลกเสียชีวิตด้วยกลุ่มโรค NCDs 63% และที่สำคัญเป็นประชากรในประเทศกำลังพัฒนาถึง 80% ขณะที่คนไทยเสียชีวิตด้วยกลุ่มโรคนี้สูงกว่าอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยของประชากรทั้งโลกถึง 10% และสูงกว่าทุกประเทศในโลกทั้งที่กลุ่มโรค NCDs เป็นโรคที่เกิดจากปัจจัยที่หลีกเลี่ยงและป้องกันได้

          เบาหวาน-หัวใจ-มะเร็ง-ความดันโลหิตสูง-ถุงลมโป่งพอง-อ้วนลงพุง" โรคคนรวย/คนแก่ จริงหรือ???
          ศ.พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ลักษณะของโรค NCDs เป็นแล้วไม่หาย แต่เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ โดยปัจจุบันแนวโน้มผู้ป่วยกลุ่มโรคนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอายุที่พบน้อยลงเรื่อยๆ หากพิจารณาจากอัตราน้ำหนักตัวของประชากรที่อยู่ในเกณฑ์เกินมาตรฐานมีจำนวนเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงไม่ใช่โรคที่เกิดเฉพาะกับกลุ่มคนรวยหรือคนสูงอายุเท่านั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก่อนที่จะเกิดโรค โดยอาหารถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด สามารถปรับโดยการลดหวาน มัน เค็ม บริโภคให้ครบ 5 หมู่ และควรลดหรือเลิกดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้เกิดหลายโรคเช่นกัน เพิ่มการออกกำลังกาย และหากิจกรรมคลายเครียด ก็จะเป็นวิธีป้องกันกลุ่มโรค NCDs ได้อย่างดี

          ด้าน รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม สสส. กล่าวว่า สสส.ได้นำประเด็นกลุ่มโรค NCDs มาเป็นประเด็นในการสื่อสารหลักประจำปี 2557 โดยเน้นเตือนภัย "6-6-5" คือ 6 โรคที่มีผู้เสียชีวิตสูง 6 ปัจจัยเสี่ยงหลัก และ 5 แนวทางในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม คือ ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ เลี่ยงอาหารหวาน-มัน-เค็ม เพิ่มผักผลไม้ การออกกำลังกาย อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน (5 ครั้งต่อสัปดาห์) และอารมณ์ดี คิดบวก พักผ่อนให้เพียงพอ หากเราสามารถปรับเปลี่ยนอารมณ์ใหม่ให้เป็นไปในเชิงบวกได้ ก็จะช่วยให้ปรับเปลี่ยนลดพฤติกรรมเสี่ยงบางอย่างได้ด้วยเช่นกัน

          "สแกนกรรม" พฤติกรรมต้นเหตุคนไทยฆ่าตัวตายก่อนวัยอันควร
          สสส. ร่วมกับเครือข่ายวิชาการ จัดทำแบบประเมินความเสี่ยงกลุ่มโรค NCDs (NCDs Quiz) หรือเรียกว่าการสแกนกรรม เพราะกลุ่มโรคนี้เกิดจากพฤติกรรม หรือเกิดจากกรรม ซึ่งก็คือการกระทำของเรานั่นเอง ตัวอย่างการสแกนกรรมต่อกลุ่มโรคที่ไวที่สุด6 วินาที พยากรณ์กลุ่มโรค NCDs คือ 1.ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2.สูบบุหรี่หรือได้รับควันบุหรี่ 3.กินอาหาร หวาน-มัน-เค็ม 4.ไม่ค่อยออกกำลังกาย 5.เครียดบ่อย 6.มีพ่อแม่ ญาติใกล้ชิดป่วยเป็น กลุ่มโรค NCDs หากใน 6 ข้อนี้ถ้าใช่ ข้อใดข้อหนึ่ง จะมีแนวโน้มเป็นหนึ่งในมนุษย์ NCDs

          ทั้งนี้ เพื่อช่วยตรวจหาความเสี่ยงด้วยตนเองเบื้องต้นว่ามีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคใด และมีพฤติกรรมเสี่ยงด้านใด จะได้ทราบว่าตัวเองควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใดบ้าง โดยสามารถทำได้ปีละครั้ง หรือ 6 เดือนครั้ง หากคิดว่าตนเองมีความเสี่ยงมาก หากผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองได้ ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา และลดการใช้ยาลงได้ ผู้สนใจสามารถเข้าไปสแกนกรรมได้ที่ www.ncdsthailand.com

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 หน้า 14     

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้