4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

สวรส. เร่งพัฒนางานวิชาการตอบโจทย์การปรับบทบาทกระทรวงสาธารณสุข

          ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของบริบทด้านต่างๆ ในสังคม ส่งผลให้ระบบสุขภาพต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง อย่างไม่หยุดนิ่ง โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขหน่วยงานหลักที่มีบุคลากรทางด้านสาธารณสุขทั่ว ประเทศ จะปรับบทบาทอย่างไรให้เหมาะสมกับกระแสการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุข  นับเป็นโจทย์ใหญ่ที่หลายฝ่ายต้องทบทวนและให้ความสำคัญ ซึ่งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2553 สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้จัดเวทีระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับ “บทบาทที่เหมาะสมของกระทรวงสาธารณสุข” ภายใต้การกระจายอำนาจด้านสาธารณสุข ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์  เพื่อระดมความเห็นการหารูปแบบที่เหมาะสมในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น บทบาท การลงทุนทางด้านสุขภาพ การปรับโครงสร้างองค์กร การพัฒนาบุคลากร ฯลฯ

          ศ.ดร.อุดม ทุมโฆษิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ นักวิจัย สวรส. เสนอกรอบแนวทางพิจารณาบทบาทของกระทรวงสาธารณสุขและวิธีการทำงานของกลไกร่วม ระดับจังหวัด โดยกรอบดังกล่าวเป็นแนวทางพิจารณาเพื่อกำหนดบทบาทและความรับผิดชอบของ ส่วนกลางและท้องถิ่นที่คำนึงถึง 4 บริบทหลักได้แก่ การกระจายอำนาจทางปกครอง บริบททางสุขภาพ บริบททางกฎหมาย และบริบทด้านข้อเท็จจริง รวม ทั้งมีข้อเสนอเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของโครงสร้างระดับประเทศ เช่น กระทรวงสาธารณสุขควรเป็นศูนย์กลางในการจัดการและให้การสนับสนุนในระดับชาติ กำหนดมาตรฐานบริการขั้นต่ำที่ประชาชนพึงได้รับ จัดงบประมาณ กำลังคน เวชภัณฑ์ ฯลฯ ส่วนการทำหน้าที่ของโครงสร้างระดับจังหวัด เช่น ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการสุขภาพที่เน้นการมีส่วนร่วมทั้งแนวดิ่งและแนวราบ ร่วมสมทบและจัดการด้านทรัพยากร เช่น คน วัสดุ ทรัพย์สิน รับผิดชอบด้านการสนับสนุนทางเทคนิคแก่ท้องถิ่นภายใต้ข้อตกลงร่วมกัน จัดระบบโครงสร้าง กระบวนการในระดับจังหวัด ฯลฯ

          นพ.วินัย  ลีสมิทธ์  โรงพยาบาลคลองขลุง จ.กำแพงเพชร นักวิจัย สวรส. ชี้ให้เห็นถึงการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุขที่มีความหมายกว้างกว่าการยกอำนาจ ทั้งหมดไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)  เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขยังต้องมีบทบาทร่วมกับ อปท. อย่างสมดุลและเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นในด้านการบริหารหน่วยบริการ การป้องกัน ควบคุมโรค และส่งเสริมสุขภาพในพื้นที่ บทบาทของสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สำนักตรวจราชการสาธารณสุขเขต ศูนย์วิชาการเขต รวมถึงสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสาขาเขตพื้นที่ การอภิบาลระบบ เพื่อให้เกิดบริการที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และเป็นธรรม ซึ่งจากการศึกษาครั้งนี้มีข้อเสนอเกี่ยวกับบทบาทของกระทรวงสาธารณสุขหลังการ กระจายอำนาจอยู่หลายเรื่อง เช่น ให้มีบทบาทกำหนดนโยบายสุขภาพระดับชาติโดยเฉพาะเรื่องการป้องกัน ควบคุมโรค และส่งเสริมสุขภาพ ดูแลกำกับบริการสุขภาพโดยเฉพาะการสาธารณสุขภาพรวม การกระจายทรัพยากรที่เป็นธรรม การวางแผนและบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล กำหนดและออกกฎหมายที่สำคัญด้านสาธารณสุข เป็นศูนย์ข้อมูลและสารสนเทศ เป็นศูนย์กลางในการอบรมเรื่องสุขภาพให้กับ อปท. การกำหนดชุดสิทธิประโยชน์ต่างๆ ฯลฯ ซึ่งบทบาทดังกล่าวจะเกิดผลสัมฤทธิ์ได้ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยบริการและศูนย์วิชาการกระทรวงสาธารณสุข ที่มีความยืดหยุ่นในการดำเนินการ รวมไปถึงอาจมีกลไกหรือรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง เช่น การใช้กลไกการตลาดที่เป็นการแข่งขันทางการตลาดในการกระจายทรัพยากรภายใต้การ ควบคุมกำกับของรัฐ การจัดตั้งเขตสุขภาพ การปรับโรงพยาบาลเป็นองค์กรอิสระ เป็นต้น

          ขณะที่ นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า สำหรับประเด็นการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุข ในด้าน งานวิชาการต้องสร้างและพัฒนาความรู้ให้มีความชัดเจนว่าการกระจายอำนาจดัง กล่าวเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่ได้เป็นการดำเนินการเพราะถูกกดดัน ส่วนการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นจริง อย่างเป็นรูปธรรมนั้น อาจยังไม่สามารถเห็นผลได้ในเร็ววัน เพราะเป็นประเด็นที่มีผลกระทบกับหน่วยงานและบุคลากรในหลายภาคส่วน สวรส. จึงมีบทบาทในการสนับสนุนให้เกิดการสร้างความรู้ที่ชัดเจนและเป็นที่ยอมรับ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เหมาะสมและยั่งยืนต่อไป โดยหลังจากนี้ สวรส. จะมีการพัฒนารูปแบบของทางเลือกต่างๆ โดยร่วมกับ อปท. ที่มีความเห็นด้านบวกในแง่ของการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุขมาระดมความคิดเห็น และจัดทำแผนร่วมกัน ควบคู่ไปกับการศึกษาทบทวนการออกนอกระบบและการดำเนินงานของโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ที่เป็นจุดเปลี่ยนหนึ่งในระบบสุขภาพ เพื่อนำมาเป็นบทเรียนและเติมเต็มในการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุขครั้งนี้

          ด้าน นพ.สมศักดิ์  ชุณหรัศมิ์  เลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) กล่าวเสริมว่า การปรับบทบาทของกระทรวงสาธารณสุขเป็นประเด็นที่มีการแลกเปลี่ยนทางด้าน วิชาการและการระดมความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด เพราะเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ดังจะเห็นได้จากที่ผ่านมาในระบบสุขภาพได้มีการเกิดขึ้นของหน่วยงานใหม่ๆ ที่มีบทบาทสำคัญ เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงควรมีการปรับบทบาทให้เหมาะสมภายใต้บริบทที่ เปลี่ยนไป โดยในระหว่างนี้เสนอให้ สวรส. ดำเนินการในส่วนของงานวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ สำนักงานนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ ดำเนินการพัฒนาด้านนโยบาย นอกจากนั้นการปรับบทบาทของกระทรวงสาธารณสุข อาจเริ่มนำร่องจากกรมควบคุมโรคที่ทราบว่ามีการตื่นตัวและขยับเรื่องนี้แล้วค่อนข้างมาก รวมทั้งควรพยายามแทรกเรื่องการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุขในเวทีพูดคุยต่างๆ ให้ขยายวงกว้างขึ้นและเกิดกระแสด้านบวก เพื่อเป็นแรงสนับสนุนที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดประโยชน์กับระบบ สุขภาพ

          อย่างไรก็ดี แม้จะมีความหลากหลายในความคิดเห็นและแนวทางต่างๆ แต่เชื่อว่าความแตกต่างดังกล่าวจะนำไปสู่คำตอบที่ดีที่สุดให้กับระบบสุขภาพ และตราบใดที่เส้นทางการดำเนินงานโดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างสุขภาวะให้กับทุกคน ในสังคม ผ่านการถ่ายโอนภารกิจด้านสุขภาพไปสู่การบริหารจัดการโดยบุคคลและองค์กรใน ท้องถิ่นเป็นสำคัญ ดังนั้นการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ผ่านกระบวนการเรียนรู้ และข้อมูลสนับสนุนทางวิชาการ จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ สวรส. และภาคีเครือข่ายวิจัย จะต้องเร่งพัฒนารูปแบบและแนวทาง เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย ภายใต้บทบาทหน้าที่ที่เหมาะสมต่อไป

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้