4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

วิกฤติ ยา'ไม่'ปฏิชีวนะ

          ถึงเวลาเลิกทาหูทวนลม มองข้ามผลร้ายจากการใช้'ยาปฏิชีวนะ' อย่างผิดๆ โดยเฉพาะเมื่อ WHO ส่งสัญญาณเตือนครั้งสาคัญว่าด้วยการ"เสื่อมความสามารถ"ในการรักษาโรคของยาที่ถูกใช้อย่างครอบจักรวาลกลุ่มนี้
          แม้จะมีความพยายามจากหลายหน่วยงานในแวดวงสาธารณสุขเพื่อกระตุ้นให้สังคมตระหนักถึงสถานการณ์การ 'ดื้อยา' ที่เพิ่มสูงขึ้นในไทย โดยเฉพาะจากการทานยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ และผิดวิธี จนเชื้อดื้อยา และกลายเป็นปัญหาบานปลายที่อาจถึงแก่ 'ชีวิต' ได้ หากสุดท้ายไม่มียาตัวไหนเอาอยู่

          ฟังดูเป็นปัญหาใหญ่ และคนส่วนใหญ่ก็รับฟัง แต่กลับทำเป็นลืมเสียทุกครั้งเมื่อถึงเวลาเป็นหวัด เจ็บคอ หรือ ท้องเสียทีไร เป็นวิ่งเข้าร้านขายยาซื้อ 'ยาฆ่าเชื้อ' เอากลับไปทานเป็นว่าเล่น ทั้งๆ ที่กว่าครึ่งของเคสที่เกิดขึ้น ไม่มีความจำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะ

          ตอกย้ำความรุนแรงที่เป็นเหมือนสัญญาณเตือนภัยครั้งสุดท้าย เมื่อ องค์การอนามัยโลกออกประกาศอย่างเป็นทางการราวสัปดาห์ก่อน ในประเด็นที่ว่า 'ยาปฏิชีวนะที่มีอยู่บนโลกนี้ 'เสื่อมความสามารถ' ในการรักษาโรค' ไปเป็น ที่เรียบร้อยแล้ว
          ดร.เคอิจิ ฟุกุดะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก กล่าวไว้ในแถลงการณ์ว่า เรากำลังเข้าสู่ยุคสมัยของการติดเชื้อธรรมดาๆ และการบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยซึ่งเคยเป็นเรื่องจิ๊บๆ กำลังจะกลับกลายเป็น 'เพชฌฆาต' คร่าชีวิตคนเราได้อีกครั้ง

          พร้อมกันนี้ ยังระบุถึงโรคที่คุ้นหูกันดีอย่าง โรคติดเชื้อในกระแสเลือด, โรคท้องร่วง, โรคปอดบวม, โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ และ หนองใน ซึ่งพบว่า แบคทีเรียก่อโรคสามารถต้านยาปฏิชีวนะได้ทั้งหมด แม้กระทั่งยาที่ใช้เป็นกรณีสุดท้ายเมื่อยาอื่นหมดทางรักษา

          ...ทีนี้ เริ่มจะมองเห็นความสำคัญของ คำเตือน 'อย่าใช้ยามั่ว' กันบ้างแล้วหรือยัง ?
          ยาเสื่อม เพราะเชื้อแกร่ง
          เหมือนฉายหนังม้วนเก่า ซ้ำไปซ้ำมา เกี่ยวกับความสำคัญของการรับยาปฏิชีวนะอย่างถูกวิธีซึ่งถึงจะพูดย้ำกันมาหลายปี แต่ผลลัพธ์ก็ยังคงน่าเป็นห่วง แม้การแชร์ข้อมูลรายงานวิจัยจากองค์การอนามัยโลกชิ้นดังกล่าวที่แพร่อยู่ในโลกออนไลน์ และเป็นที่ถกเถียงกันในเรื่องความถูกต้องของการแปลศัพท์ทางการแพทย์ ที่อาจมีส่วนเกินจริง เพราะระบุว่า ยาปฏิชีวนะ ที่โลกนี้มีอยู่ในภาวะวิกฤติถึงขั้น "หมดคุณสมบัติในการรักษา" ซึ่งถึงแม้ในระดับความเลวร้ายจะยังไม่ชัดเจน แต่ที่แน่ใจและฟันธงได้ ก็คือ สถานการณ์เชื้อดื้อยาปฏิชีวนะในบ้านเรา ตลอดจนหลายประเทศทั่วโลก อยู่ในขั้น "วิกฤติ"

          สำหรับไทยเอง จากการเปิดเผยของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อเดือนมีนาคม ปี2556 พบว่า เชื้อโรคดื้อยายังคงเป็นปัญหาใหญ่ของวงการสาธารณสุขไทย โดยสาเหตุหลักเกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินความจำเป็น และ มีคนไทยติดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะปีละกว่า 1 แสนคน ใช้เวลารักษาตัวนานขึ้นรวมกันปีละกว่า 3 ล้านวัน

          ข้อมูลในปี 2553 พบว่า มีผู้ป่วยติดเชื้อชนิดดื้อต่อยาปฏิชีวนะ 5 ชนิด เสียชีวิต 38,481 ราย แซงโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด มูลค่า สูญเสียทางเศรษฐกิจจากการเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรปีละกว่า 40,000 ล้านบาท
          ผลจากการดื้อยา ก็มีตั้งแต่ การต้องเปลี่ยน ไปใช้ยาตัวใหม่ที่แรงกว่า และแพงกว่า ซึ่งก็มี ความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ ที่อาจส่งผลต่อชีวิตได้ นอกจากนี้ เชื้อดื้อยายังสามารถถ่ายทอดรหัสพันธุกรรมดื้อยาไปสู่เชื้อสายพันธุ์อื่น ทำให้ปัญหาการดื้อยาทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

          ข้อมูลจาก ศูนย์เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุสาเหตุของปัญหา 'เชื้อดื้อยา' ทางด้านประชาชน พบว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพฤติกรรมสุขภาพ ที่เอะอะก็ร้องจะทานยา แม้กระทั่งกับอาการ เจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ที่สามารถหายได้เอง ด้วยการดูแลร่างกายที่ถูกต้อง
          "คนเป็นหวัด ก็มักจะไปหาหมอ หรือไปหาซื้อยาตามร้านขายยา เพื่อรักษาอาการครั่นเนื้อ ครั่นตัว เจ็บคอ น้ำมูกไหล ไอ จาม ทั้งๆ ที่อาการเหล่านี้ เป็นอาการของโรคหวัดจากเชื้อไวรัส ซึ่งยาปฏิชีวนะไม่มีผลต่อโรคดังกล่าว หรืออย่างอาการท้องเสีย ที่หลายคนมักจะ สั่งซื้อยาปฏิชีวนะมากินแบบผิดๆ ทั้งๆ ที่เพียงแค่ดื่มน้ำเกลือ ORS ก็เป็นการรักษา ที่ถูกต้องแล้ว" เป็นคำอธิบาย จาก สุรางค์ เดชศิริเลิศ ที่ให้สัมภาษณ์ไว้ในจุลสาร HITAP เดือนตุลาคม-ธันวาคม ปี 2552 ในขณะที่ ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าศูนย์เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ และเสริมโดย ภก.วิพิน กาญจนการุณ อดีตนายกสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) ที่ร่วมแสดงความเห็นไว้ในจุลสารฉบับเดียวกัน ในฐานะที่คลุกคลีกับทางฝั่งบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้พบว่า ส่วนหนึ่ง ก็เกิดจากการขาดความรู้ในกลุ่มบุคลากรทาง การแพทย์เองด้วย

          "บางท่านไม่ได้ติดตามข้อมูลทางวิชาการของยาปฏิชีวนะจากแหล่งที่เชื่อถือได้ มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในยาปฏิชีวนะบางประเภท หรือบางครั้งก็โดนกดดันจากคนไข้ที่คาดหวังว่าจะได้ยา ถ้าไม่ได้จ่ายยาให้ ก็เหมือนไม่ได้รับการรักษา"
          สอดคล้องกันกับสิ่งที่คนเป็นแพทย์เจอมาตลอด โดย พญ.พัชรวรรณ ยุกแผน อายุรแพทย์ โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ร่วมแสดงความเห็นว่า ทัศนคติของทั้งคนไข้เอง และตัวบุคลากร คือ ความท้าทายอย่างมากสำหรับกรณีนี้


          พร้อมทั้งเอ่ยถึงประกาศจากองค์การอนามัยโลกในครั้งนี้ว่า ไม่ได้เกินไปจากความจริงแต่อย่างใด เพราะทุกวันนี้ เชื้อดื้อยาได้เกิดขึ้นแล้ว เพียงแต่ไม่อยากจะให้ตระหนกจนเกินไป โดยนับจากนี้ ทุกๆ คนก็ควรจะ ต้องระมัดระวังในการใช้ยามากขึ้น
          "คนไทยชอบซื้อยามาทานเอง โดยเฉพาะกลุ่มยาปฏิชีวนะ อย่างเป็นหวัด ก็ร้องหายา ฆ่าเชื้อ ทั้งๆ ที่โรคหวัดส่วนใหญ่ แค่รักษา ตามอาการก็เพียงพอแล้ว แต่คนส่วนใหญ่ ชอบคิดว่า ยาฆ่าเชื้อรักษาหวัดได้ แต่ความจริง คือ หวัดเกิดจากเชื้อไวรัส ส่วนยาปฏิชีวนะ มีหน้าที่ ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งไม่ได้มีความเกี่ยวข้อง กันเลย หรือบางคนก็ร้องขอกับหมอว่า ขอให้ สั่งยาฆ่าเชื้อให้ ซึ่งหมอบางคนก็จ่ายให้ แต่สำหรับเคสที่หมอไม่จ่ายให้ หลายคนก็ไปซื้อตามร้านขายยาอยู่ดี" พญ.พัชรวรรณ เอ่ย

          ไม่ว่าจะเป็น การใช้ยาเกินความจำเป็น ทานไม่ครบโดส ทั้งการไม่ใส่ใจคำกำชับ ของหมอ และคิดเอาเองว่าหายแล้ว จนถึงการ ซื้อยาทานเอง ล้วนส่งผลให้เกิดการดื้อยา ได้ทั้งนั้น

          ยานี้ ผีไม่ได้บอก
          จากการให้ความสำคัญกับ ยาปฏิชีวนะ ในนามของ "เพนนิซิลิน" ที่ถูกยกให้เป็น 'ยาปาฏิหาริย์' (Miracle Drug) ของชาวโลก ในยุคหนึ่ง เนื่องจากช่วยให้มนุษย์จำนวนมหาศาลรอดตายจากการติดเชื้อเมื่อประมาณ 70 ปีก่อน จนองค์การวิชาชีพหลายแห่งเคยประกาศว่ามนุษย์จะควบคุมโรคติดเชื้อได้ และโรคติดเชื้อจะไม่เป็นปัญหาสุขภาพอีก ต่อไปจากการมียาต้านจุลชีพและวัคซีน

          นั่นคงกลายเป็นอดีตไป.. เพราะข้อพิสูจน์ จากหลายๆ สถาบันทางการแพทย์ ทั้งของไทยเอง จนถึงระดับโลก ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ปัญหาเชื้อดื้อยา ที่กำลังเป็นระเบิดเวลา พร้อมจะปะทุขึ้นมาด้วยการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคติดต่อที่อาจไม่มีทางรักษา ก็เป็นได้
          "ถ้าเป็นหวัด เจ็บคอ เป็นไซนัส เดินเข้าร้านขายยา ส่วนใหญ่ที่ได้กลับมา คือ อะม็อกซี ซิลิน เมื่อใช้ยากันมากขึ้นเกินความจำเป็น เชื้อโรคก็ต้องมีการพัฒนาตัวเองเพื่อความ อยู่รอด ขณะที่ยาไม่ได้พัฒนาเยอะ หลายๆ ปีถึงคิดตัวใหม่ออกมาได้ที แล้วอีกไม่กี่ปี เชื้อก็จะดื้อยาแล้ว บริษัทวิจัยยา จึงไม่ค่อยอยากจะลงทุนวิจัยเรื่องยาปฏิชีวนะเท่าไหร่ เพราะมันไม่คุ้มค่ากับการลงทุน" พญ.พัชรวรรณ อธิบาย


          สอดคล้องกับงานวิจัยในหัวข้อ "การดื้อยาปฏิชีวนะของแบคทีเรีย" โดย พญ.วีรวรรณ ลุวีระ อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความไม่ปกติระหว่าง การค้นพบยาปฏิชีวนะ และการดื้อยาปฏิชีวนะ (อ้างอิงข้อมูลจาก CIBA Foundation) โดยยกตัวอย่าง อาทิ
          ยา Penicillin ค้นพบในปี 1940 และ นำมาใช้ทางคลินิกในปี 1943 ขณะที่ตรวจพบการดื้อยาครั้งแรกก็ปีเดียวกันกับที่คิดค้นยา
          ยา Streptomycin ค้นพบในปี 1944 ก่อนจะถูกนำมาใช้ทางคลินิก และพบการดื้อยาครั้งแรกในปีเดียวกัน คือ ปี 1947
          ยา Tetracycline ค้นพบในปี 1948 นำมาใช้ทางคลินิก ปี 1952 และพบการดื้อยาครั้งแรกในปี 1956
          ยา Erythromycin ค้นพบในปี 1952 นำมาใช้ทางคลินิก ปี 1955 และพบการดื้อยาครั้งแรกในปี 1956


          จะเห็นว่า ความสามารถในการพัฒนา ตัวเองของแบคทีเรียเพื่อต่อสู้กับยาจนสามารถเอาชนะได้นั้น หลายๆ ตัวสามารถประกาศชัย ได้ภายในระยะเวลาไม่กี่ปี ซึ่งเมื่อเทียบกับยารักษาเบาหวาน หรือความดันแล้ว  แทบไม่ต้อง มีการพัฒนาเพิ่มเติมอะไรเลย ก็ยังมีประสิทธิภาพในการรักษาอยู่ จึงไม่น่าแปลกใจที่บริษัทยา จะหันมาเน้นการผลิตยาในกลุ่มหลัง ซึ่งไม่ต้อง ลงทุนทำวิจัยเพิ่มให้เสียเงินมหาศาลเพื่อ จะพบว่า ยานั้นด้อยประสิทธิภาพในอีกไม่กี่ปีถัดมา จึงไม่ต้องสงสัยว่า คนทำธุรกิจ จะเลือกค้าขายสินค้าตัวไหน..
          เมื่อยาหยุดอยู่กับที่ แต่เชื้อโรคพัฒนาต่อเนื่อง จึงเกิดเป็นความพยายามครั้งใหญ่ของวงการแพทย์ เพื่อที่จะส่งเสริม "การใช้ยา ต้านจุลชีพอย่างสมเหตุสมผล" นำโดย WHO ที่ออกนโยบายให้ทั่วโลกเดินตามเมื่อหลายปีก่อน
          ประเทศไทยเองก็รับนโยบายมา โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้เริ่มต้นนำมาใช้เกิดเป็นโครงการ Antibiotics Smart Use (ASU) เมื่อปี 2550 กับ 3 โรคยอดนิยม คือ หวัด, ท้องเสีย และ แผลสด ซึ่งผู้ป่วยมักจะได้รับยาปฏิชีวนะมาทานเสมอ "จากการเริ่มต้นในโรงพยาบาลสังกัด กระทรวงฯ ได้ระยะหนึ่ง ทางกระทรวงฯ ก็คิดอยากให้โรงเรียนแพทย์มาร่วมในโครงการนี้ด้วย ซึ่งทางคณะแพทย์ศิริราช ก็รับมา โดย เรานำมาพัฒนาต่อ บนโจทย์คือ ต้องการหาหลักฐานว่า อาการแบบไหน ควรให้ หรือไม่ควรให้ยาปฏิชีวนะ" นพ.อธิรัฐ บุญญาศิริจากหน่วยระบาดวิทยาคลินิค สถานส่งเสริมการวิจัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะผู้วิจัย R2R เรื่อง "Antibiotics Smart Use (ASU) ที่โรงพยาบาลศิริราช" เพื่อส่งเสริมการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างสมเหตุผลในโรงเรียนแพทย์ ผลโดยสรุปจากการพยายามพิสูจน์ให้ เห็นถึง "การใช้ยาปฏิชีวนะที่เกินความจำเป็น" ได้อย่างชัดเจน โดยจาก 6 เดือนก่อนหน้า ทำการทดลอง พบว่า มีการสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะของโรคหวัด อุจจาระร่วง และแผลสด เดือนมิถุนายน-ตุลาคม พ.ศ.2554 ที่ ร้อยละ 69-74, ร้อยละ 51-85 และร้อยละ 87 ตามลำดับ

          และหลังจากทำความเข้าใจกับทีมแพทย์ ตลอดจนการทำประชาสัมพันธ์ในหลายๆ ช่องทาง เมื่อวัดผลใหม่อีกครั้ง พบว่า ถึงแม้คนไข้ไม่ได้รับยาปฏิชีวนะ แต่ก็หายจากโรคได้ ไม่ต่างกับกลุ่มที่ได้รับ
          "ในกลุ่มคนไข้ที่มาด้วยโรคหวัด พบว่า มีเชื้อ สเต็ปโตคอกคัส กรุ๊ปเอ ซึ่งเป็นเชื้อที่ต้องได้รับยาปฏิชีวนะเพียง 3.8 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ โรคท้องเสียในช่วงที่เก็บข้อมูลประมาณ 6 เดือน ไม่พบเชื้อแบคทีเรียเลย ทำให้พิสูจน์ได้ว่า ที่ผ่านมาโรงพยาบาลมีการจ่ายยาเกินความจำเป็น ไม่ว่าจะจากความต้องการของผู้ป่วยเอง หรือการตัดสินใจของแพทย์" นพ.อธิรัฐ เอ่ย พร้อมบอกว่า หลังจากเดินหน้าโครงการ เต็มตัวแล้ว พบว่า สัดส่วนการจ่ายยาปฏิชีวนะลดลงเหลือไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือเป็นผลดี ทั้งต่อตัวคนไข้เองที่ไม่ต้องเสี่ยงต่อการดื้อยา แพ้ยารุนแรงจนเสี่ยงต่อชีวิต
          ...แถมยังสบายกระเป๋าทั้งของตัวเอง และของรัฐอีกด้วย

          'กัน' ก่อนดื้อ
          3 โรคที่พบบ่อย และหายเองได้ด้วยการดูแลตัวเองโดยไม่ต้องพึ่ง ยาปฏิชีวนะ
          ท้องเสีย 99 เปอร์เซ็นต์  เกิดจากเชื้อไวรัส หรืออาหารเป็นพิษ  เพียงดื่มน้ำเกลือแร่ก็หายได้
          หวัด เจ็บคอ มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เกิดจากเชื้อไวรัส การพักผ่อนและทำร่างกายให้อบอุ่น ช่วยทำให้ภูมิคุ้มกันโรคของร่างกายแข็งแรง กำจัดไวรัสได้เร็วขึ้น จึงหายป่วยเร็วขึ้น
          แผลเลือดออก แผลมีดบาด แผลถลอก ถ้าทำความสะอาดอย่างถูกวิธี และป้องกันไม่ให้แผลโดนน้ำ แผลก็จะหายเอง
          และอย่าลืมเทคนิคง่ายๆ คือล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการติดเชื้อดื้อยาจากภายนอกด้วยอีกทางหนึ่ง

เรื่อง : ปานใจ ปิ่นจินดา

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 หน้า 1

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้