4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

กรรมาชีพบักโกรกหนี้อ่วม ป่วยเรื้อรัง

          ผ่านไปอีก 1 ปี สำหรับวันแรงงานแห่งชาติ หรือวันกรรมกรสากล ซึ่งเป็นวันหยุดของเหล่าแรงงาน และมีธรรมเนียมปฏิบัติที่จะต้องเดินขบวนยื่นข้อเรียกร้องประจำปีแก่รัฐบาล เพื่อให้ปรับปรุงนโยบายยกระดับคุณภาพชีวิตของลูกจ้าง  เมื่อยื่นข้อเรียกร้องเสร็จสิ้นวันต่อไปก็กลับไปทำงานงกๆ กันต่อไป โดยที่ข้อเสนอต่างๆ ถูกเพิกเฉย ลูกจ้างยังคงไร้อำนาจต่อรอง มีรายได้ที่ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพเหมือนเดิม

          หากจำกันได้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้เปิดเผยผลสำรวจ สถานภาพแรงงานไทยที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาทพบว่ามีแรงงานถึง 93.7% ที่เป็นหนี้เฉลี่ยครัวเรือนละ 1.06 แสนบาท เป็นตัวเลขสูงสุดในรอบ 6 ปี
          ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนว่า แรงงานมีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย โดยมีสาเหตุจากราคาสินค้าที่แพงขึ้นดอกเบี้ยและน้ำมันแพงขึ้น ผลสำรวจยังพบว่าแรงงานต้องการให้เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 388.25 บาท/วันเพื่อสะท้อนถึงภาวะค่าครองชีพที่แท้จริงจากนั้นเพิ่มเป็น 498 บาท ใน 3 ปีข้างหน้า และเพิ่มเป็น 579 บาท ในอีก 5 ปี
          นอกจากรายได้ไม่พอจ่ายแล้ว แรงงานไทยยังมีปัญหาสุขภาพย่ำแย่อีกด้วย

          นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า ไทยมีประชากรที่มีงานทำ38 ล้านคน อยู่ในภาคเกษตรกรรม 13 ล้านคน และอีก 25 ล้านคน อยู่ในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการและอื่นๆซึ่งกว่า 10% ของแรงงานทั้งหมด หรือเกือบ 4 ล้านคน ป่วยเป็นโรคเรื้อรังมากที่สุด คือโรคหัวใจและหลอดเลือด รองลงมาคือ เบาหวานและโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง  ขณะที่ผลสำรวจภาวะสุขภาพของแรงงานภาคเกษตรกรรม ก็พบว่ามีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในเลือดถึง 30%

          ข้อมูลข้างต้นสะท้อนให้เห็นสภาพชีวิตชนชั้นแรงงานได้ชัดเจน แม้แต่ในยุคที่รัฐบาลจะป่าวประกาศว่าขึ้นค่าจ้าง 300 บาท ทำให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นก็ตาม
          ทั้งนี้ หากพิจารณาข้อเสนอวันแรงงานในปีนี้ไม่ว่าจะของกลุ่มสภาองค์การลูกจ้าง ซึ่งจัดกิจกรรมที่สนามหลวง หรือกลุ่มคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) ซึ่งจัดกิจกรรมหน้ารัฐสภา จะพบว่าข้อเสนอหลักๆ แทบไม่แตกต่างกัน และเป็นข้อเสนอเดิมๆ ทุกปี
          อาทิ การเรียกร้องให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 อย่างเร่งด่วน ซึ่งการรับรองอนุสัญญาดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างการรวมตัว รวมกลุ่มจัดตั้งสหภาพต่อรองเจรจาผลประโยชน์กับนายจ้าง ข้อนี้เรียกร้องกันมาทุกปี แต่รัฐบาลก็ไม่เคยปฏิบัติ
          การตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงให้กับลูกจ้างในกรณีที่สถานประกอบกิจการปิดกิจการ เลิกจ้าง ไม่จ่ายค่าชดเชย เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงในการทำงานเพราะมักจะมีปัญหาลูกจ้างถูกเลิกจ้างแล้วโดนเบี้ยวเงินชดเชย ต้องใช้วิธีฟ้องร้องต่อศาลแรงงาน ซึ่งกว่าจะเสร็จกระบวนการก็ใช้เวลานาน แรงงานไม่มีเงินใช้ระหว่างสู้คดี เรื่องนี้ก็เป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องวันแรงงานปีก่อน แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม

          นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการปฏิรูประบบประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระ มีความโปร่งใสในการดำเนินการ มีมืออาชีพมาบริหารกองทุน ตลอดจนขยายสิทธิผู้รับงานไปทำที่บ้านเข้าเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 ก็เป็นอีกข้อที่ขบวนการแรงงานเรียกร้องมานานหลายปี ทว่ารัฐก็เพิกเฉยถึงขนาดที่ว่ามีการล่ารายชื่อเสนอร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ประกันสังคม ซึ่งยกร่างโดย ผู้ใช้แรงงาน รัฐสภาก็ตีตกตั้งแต่วาระ 1 ในชั้นรับหลักการ  ไม่ต้องพูดถึงเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งมีการเรียกร้องให้ปรับขึ้นกันทุกปี แต่เมื่อปรับขึ้นแล้วก็ไม่ทันกับค่าครองชีพที่พุ่งสูงตามเช่นกัน รวมไปถึงคำจำกัดความของค่าจ้างขั้นต่ำ ที่ฝ่ายแรงงานเรียกร้องให้ใช้นิยามขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งค่าจ้างขั้นต่ำหมายถึง ค่าจ้างแรกเข้าที่มีรายได้พอเพียงเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอีก 2 คน แต่ในเมืองไทยคือค่าจ้างสำหรับลูกจ้างเพียงคนเดียวเท่านั้น

          เห็นได้ว่า ไม่ว่าวันแรงงานจะผ่านไปกี่ปี กลุ่มแรงงานก็ยังมีปัญหาเรื่องรายได้สุขภาพ และสวัสดิการสังคมตลอดมา ข้อเรียกร้องที่ออกมาจึงเหมือนเดิม  หรือแม้แต่การเดินขบวนแสดงพลังในวันแรงงานแห่งชาติ จากเดิมที่มาจากอุดมการณ์การต่อสู้กับนายทุน เพื่อเรียกร้องสิทธิและสวัสดิการที่ควรมีควรได้กลับกลายเป็นเพียงพิธีกรรมประจำปี มีแต่รูปแบบการแสดง การละเล่นสนุกสนานบันเทิงต่างๆ  แต่ไม่ได้สืบทอดอุดมการณ์การต่อสู้ของชนชั้นแรงงานมาด้วย...

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 หน้า 6

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้