4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

กรณีศึกษาในต่างแดน "วิกฤติผู้สูงอายุ" วันนี้ไทย "ตื่นหรือยัง?"

          จากกรณี 'วิกฤติผู้สูงวัย" ที่ต่อไปอาจจะเป็น 'ปัญหาใหญ่"ไม่แพ้เรื่องการเมือง? โดยที่ในอนาคตอันใกล้นี้ไทยก็กำลังจะเข้าสู่สถานการณ์ของ 'สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ" ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องนี้ก็เริ่ม ๆ "ส่งสัญญาณปัญหาสังคม" ออกมาบ้างแล้ว! แต่ก็ดูเหมือนว่า...คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้สึกถึงปัญหา?  จนเมื่อถึงเวลาปัญหาระเบิดก็อาจแก้ไม่ทัน เหมือนเช่น 'วิกฤติผู้สูงวัย" ที่เกิดใน 'อังกฤษ" ที่กลายมาเป็น 'กรณีศึกษา" สำคัญของ 'ไทย"

          ทั้งนี้ กรณี "วิกฤติผู้สูงวัยในอังกฤษ" ที่เกิดขึ้น ได้กลายเป็น "ปัญหาใหญ่ของประเทศ" จนทำให้อังกฤษต้องพบผลกระทบที่ตามมาอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะในเรื่อง "งบประมาณรัฐ" ที่หมดไปกับ"ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ" เนื่องจากประเทศอังกฤษมี"บริการรัฐที่เกี่ยวกับหลักประกันสุขภาพที่ดีเลิศ!"...และด้วยสาเหตุนี้เมื่อต้องเผชิญกับผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น โดยที่ไม่เคยได้มีการเตรียมรับมือรองรับปัญหา สังคมอังกฤษจึงต้องเผชิญกับ "วิกฤติสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ" ที่กลายเป็น "ระเบิดลูกใหญ่" ทางสังคม...  เป็นกรณีปัญหาที่ไทยก็อาจจะต้องเผชิญ?

          สำหรับกรณีศึกษาดังที่ได้กล่าวนี้ ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้เคยสะท้อนข้อมูลผ่าน "สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์" มาว่า...ระบบการดูแลผู้สูงอายุ (Long-term care for the elderly) ถือเป็น "กลุ่มบริการที่ซับซ้อน" เพราะมีปัจจัยที่หลากหลาย และมี "ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย" มากมายหลายกลุ่ม เนื่องจากกลุ่มผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มักจะมีโรค ทำให้ต้องพึ่งยารักษาที่มีราคาแพง มักอ่อนแอ เจ็บป่วย เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย และผู้สูงอายุบางส่วนที่ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ก็อยู่ในกลุ่มของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเหล่านี้ด้วย ซึ่งผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักจะเป็น กลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำแล้ว เมื่อรัฐต้องรับภาระในการจัดการระบบดูแลผู้สูงอายุ จึงทำให้งบประมาณที่ต้องจ่ายในเรื่องนี้ถูกมองว่าเป็น 'ภาระของประเทศ" ที่เพิ่มขึ้นศ.นพ.สมเกียรติ กล่าวว่า ปัญหาที่อังกฤษเผชิญอยู่ เกิดขึ้นขณะที่ "ไม่มีการเตรียมการรับมือกับปัญหา" ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากกรณีศึกษาของอังกฤษ พบว่า โดยธรรมชาติของผู้สูงอายุที่เกี่ยวพันกับ "ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า" แบ่งได้ 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ใช้ชีวิตปกติและช่วยเหลือตัวเองได้ 2.กลุ่มเจ็บป่วยเฉียบพลันหรือฉุกเฉิน 3.กลุ่มเจ็บป่วยเรื้อรังและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ โดยที่อังกฤษมีจำนวนผู้ป่วยอายุมากกว่า 75 ปี ถือครองสัดส่วนการใช้เตียงในสถานพยาบาลถึงร้อยละ 70  ซึ่ง 1 ใน 4 เป็นผู้ป่วยหลงลืม (Dementia) ที่ต้องได้รับการดูแลระยะยาว โดยร้อยละ 70 ของงบประมาณด้านสุขภาพถูกใช้ดูแลผู้สูงอายุกลุ่มนี้

          จากสถานการณ์ดังกล่าว ถือเป็นเรื่องที่ "ท้าทายระบบบริการสุขภาพมาก" ทำให้หน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษ "ยกเครื่อง" ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าใหม่ โดยใช้การเพิ่มสัดส่วนที่จะทำให้ผู้สูงอายุในกลุ่มที่ 1 หรือกลุ่มที่ยังใช้ชีวิตปกติได้ ให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากที่สุด ทั้งการใช้กลยุทธ์การเพิ่มประสิทธิภาพระบบสุขภาพที่ครอบคลุม รวมถึงหามาตรการในการป้องกันดูแลการรักษาโรคเฉียบพลัน เป็นต้น
          'ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มงบประมาณประเทศที่ถูกดึงออกไปมาก ๆ เหล่านี้ หากเพิ่มขึ้นมากเกินไป ย่อมส่งผลกระทบในด้านต่าง ๆ ซึ่งอาจหมายถึงทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง เป็นภาระสังคมมากขึ้น"

          ย้อนกลับมาที่ไทย ศ.นพ.สมเกียรติ ระบุว่า...ภาพรวม "การดูแลผู้สูงอายุ" ในไทย ตกเป็น"ภาระของครอบครัว" เป็นส่วนใหญ่ โดยสังคมไทยมีจุดแข็งทางวัฒนธรรม ที่คนในครอบครัวอยู่ร่วมกัน รวมถึงมีความเอื้ออาทรกันและกันในสังคมชนบท ซึ่งปัจจัยนี้ทำให้ระบบสุขภาพในชุมชนยั่งยืนได้ แต่สังคมในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก อาจ "เร็วและแรง" จนคนไทยไม่รู้สึกว่ามีปัญหาต่าง ๆ รวมถึงกับวิกฤติผู้สูงวัย


          สำหรับแนวทางแก้ไข ศ.นพ.สมเกียรติ เสนอแนะไว้ว่า...การออกแบบนโยบายด้านสุขภาพผู้สูงอายุต้องคำนึงถึงกลไกการคลัง, บริการที่ครอบคลุม, ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย, รูปแบบบริการทางสังคม และธรรมชาติของผู้สูงอายุ โดยในส่วนของ "กลไกการคลัง" หากพิจารณากรณีศึกษาของอังกฤษก็จะพบว่า อังกฤษได้นำ "ระบบเก็บภาษีส่วนกลาง" มาใช้เป็น "ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ" และ "จัดสรรบางส่วน" ให้แก่ "องค์กรท้องถิ่น" ช่วยทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุ ส่วน "ภาษีท้องถิ่น" ที่จัดเก็บได้จะถูกใช้เป็น "ค่าใช้จ่ายด้านสังคม" ของผู้สูงอายุ...
          "ประเด็นสำคัญอยู่ที่ความสมดุลในการร่วมจ่าย ระหว่างภาครัฐ และประชาชนผู้ใช้บริการ ซึ่งเป็นเรื่องอ่อนไหว แต่สังคมก็จำเป็นต้องร่วมกันตัดสินใจ ทั้งนี้เราอาจจะนำกรณีศึกษาของอังกฤษมาประยุกต์ให้สอดรับกับบรรทัดฐานของสังคมไทย"...ศ.นพ.สมเกียรติ กล่าว

          "วิกฤติผู้สูงวัย" มองลึกลงไปปัญหายิ่งซับซ้อน 
          แก้ได้-จะหาทางออกได้.ต้อง 'จริงใจ-จริงจัง"
          ไม่แสร้งทำ 'ลูบหน้าปะจมูก" อย่างการเมือง??

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2557 หน้า 1

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้