4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

แนะแนวทางใหม่สู้'มะเร็งเต้านม'

          มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งในผู้หญิงไทยและผู้หญิงทั่วโลก ในทุกๆ 1 นาที จะมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งเต้านม 1 ราย ทั้งนี้สถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติ องค์การอนามัยโลก (Globocan) เปิดเผยสถิติจากการสำรวจในปี 2555 พบว่ามีผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมทั่วโลกทั้งสิ้นราว 6,255,000 ราย สำหรับประเทศไทยนั้นพบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมกว่า 54,000 ราย และในทุกๆ 2 ชั่วโมง จะพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ถึง 3 ราย ซึ่งยังไม่นับรวมผู้ป่วยอีกจำนวนมากที่ยังตรวจไม่พบหรือยังไม่ได้เข้ารับการตรวจรักษา

          จากสถิติพบว่าผู้หญิงไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเต้านมถึงวันละ 14 ราย มะเร็งเต้านมจึงเรียกได้ว่าเป็นภัยร้ายใกล้ตัวที่ผู้หญิงทุกคนควรระวัง เรียนรู้วิธีการดูแลตัวเองให้ห่างไกลโรค และเมื่อเป็นแล้วก็ต้องรู้จักรักษาให้ถูกต้องกับสายพันธุ์ของมะเร็งที่เป็น เพื่อยืดอายุให้มีชีวิตอยู่เติมเต็มความสุขในครอบครัวได้ยาวนานยิ่งขึ้น

          รองศาสตราจารย์นายแพทย์นรินทร์ วรวุฒิ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็ง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยข้อมูลภายในงาน "นวัตกรรมล่าสุดในการรักษามะเร็งเต้านม เพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวขึ้น" ว่า สาเหตุของโรคนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่คาดว่าพันธุกรรมมีส่วนสำคัญ โดยคนที่มีญาติสายตรงเป็นโรคมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมสูงกว่าคนทั่วไป นอกจากนั้น การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ใช้ฮอร์โมนเสริม รับประทานอาหารขยะ สัมผัสยาฆ่าแมลง การปล่อยตัวให้อ้วน รวมถึงการไม่ออกกำลังกาย และพฤติกรรมการใส่เสื้อชั้นในที่ไม่เหมาะสม เช่น ใส่เสื้อชั้นในนานเกินวันละ 20 ชั่วโมง ล้วนแต่เป็นปัจจัยเสี่ยง

          ดังนั้น ผู้หญิงทุกคนจึงควรรับการตรวจมะเร็งทุกปี และหากตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเต้านมแล้ว ควรตรวจให้แน่ชัดว่าเป็นสายพันธุ์ใดเพื่อรับการรักษาให้ตรงตามเป้าหมาย  โดยทั่วไปมะเร็งเต้านมที่ตรวจพบแบ่งง่ายๆ ได้เป็น 3 สายพันธุ์ใหญ่ๆ คือ สายพันธุ์ตอบสนองต่อฮอร์โมนเพศหญิง ซึ่งเป็นประเภทที่พบมากที่สุด, สายพันธุ์เฮอร์ทู พบได้ประมาณ 20% ของมะเร็งเต้านมทั้งหมด และชนิดไตรโลปะที่ยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจน พบได้ประมาณ 15% ของมะเร็งเต้านมทั้งหมด และผู้ป่วยที่เคยเป็นมะเร็งเต้านมและได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติแล้วยังคงมีโอกาสกลับมาเป็นได้อีก เพราะความผิดปกติของยีนบางอย่างในร่างกาย หรือจากสาเหตุบางประการ เช่น การหลงเหลือของเซลล์มะเร็งต้นกำเนิด หรือสเต็มเซลล์ในร่างกาย รวมถึงการดื้อยาที่แพทย์สั่ง การได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้องล่าช้า และภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำ

          โดยปกติมีระยะเวลาเฝ้าระวังการกลับมาเป็นซ้ำหลังจากรักษาประมาณ 12 ปี ซึ่งการกลับมาเป็นซ้ำมี 3 รูปแบบใหญ่ๆ คือ การกำเริบเฉพาะที่ การกำเริบในบริเวณข้างเคียง และการกำเริบแบบมีการแพร่กระจาย ซึ่งมักหวังผลเพื่อยืดชีวิตของผู้ป้วย รักษาคุณภาพชีวิต และบำบัดอาการของโรคเป็นหลัก

          นายแพทย์นรินทร์ กล่าวว่า มะเร็งร้ายที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วจนทำให้ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ในระยะเวลาอันสั้นคือ "มะเร็งเต้านมสายพันธุ์เฮอร์ทู"   การรักษานั้นมักใช้ยาฉีดกลุ่มยาต้านเฮอร์ทูควบคู่กับยาเคมีบำบัด แต่พบว่าผู้ป่วยกว่าครึ่งยังคงมีการพัฒนาของโรครุนแรงมากขึ้นในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากการดื้อยา

          ล่าสุดนักวิจัยได้ค้นพบนวัตกรรมใหม่ เป็นยาฉีดเพื่อรักษาโรคมะเร็งเต้านมสายพันธุ์เฮอร์ทู ที่นำมาใช้ร่วมกับยาต้านเฮอร์ทูตัวเดิมและยาเคมีบำบัดเพื่อป้องกันการดื้อยา ซึ่งมีประสิทธิภาพในการยับยั้งและขัดขวางการรวมตัวกันของโปรตีนเฮอร์ทูกับโปรตีนเฮอร์ชนิดอื่นๆ อันเป็นสาเหตุหนึ่งของการดื้อยาตัวเดิม และลดอัตราการเสียชีวิตได้ถึงร้อยละ 34 เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของยาต้านเฮอร์ทูรุ่นก่อน และช่วยลดการลุกลามของโรค ช่วยยืดอายุของผู้ป่วยให้มีชีวิตอยู่เพื่อครอบครัวและคนที่รักได้ยาวนานยิ่งขึ้น ซึ่งยาฉีดดังกล่าวได้ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ และประเทศ อื่นๆ รวมกว่า 40 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งไทยที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้รักษาผู้ป่วยได้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

          นอกจากนั้น การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเอง ตลอดจนกำลังใจจากคนใกล้ชิดก็ยังคงมีส่วนสำคัญในการต่อสู้กับโรคมะเร็ง ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมควรมาพบแพทย์ตามนัด และรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง รักษาสุขภาพกายและใจให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม รับประทานผัก-ผลไม้ให้มากขึ้น และลดอาหารจำพวกเนื้อแดง รวมถึงเนื้อที่ผ่านการแปรรูป หลีกเลี่ยงการสัมผัสรังสี ออกกำลังกาย งดการดื่มแอลกอฮอล์ งดการสูบบุหรี่ และควรทำจิตใจให้สดชื่น เข้มแข็ง เพื่อให้มีกำลังใจในการต่อสู้กับโรคและมีชีวิตอยู่กับคนที่รักให้นานที่สุด

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 24 เม.ย. 2557 หน้า 26

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้