4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

การเอาตัวรอดจากการจมน้ำและการป้องกันอุบัติภัยทางน้ำ

       โดยธรรมชาติแล้ว ร่างกายของคนเรานั้นลอยน้ำได้ถ้าในปอดมีอากาศ แต่เหตุที่คนจมน้ำก็เพราะความตื่นตระหนกตกใจกลัวจะจมน้ำตาย จึงพยายามดิ้นรนเอาชีวิตรอด ตะเกียกตะกายดันตัวเองให้ลอยอยู่ที่ผิวน้ำ เพื่อที่จะหายใจ ซึ่งกลับเป็นการเร่งให้จมน้ำเร็วขึ้น เพราะไม่นานก็จะหมดแรง และยิ่งส่วนของร่างกายโผล่พ้นน้ำขึ้นมามากเท่าไร ก็จะยิ่งมีน้ำหนักกดลงให้จมน้ำมากยิ่งขึ้นเท่านั้น      

       วิธีการเอาตัวรอดจากการจมน้ำที่ถูกต้อง ก็คือ การลอยตัวอยู่นิ่งๆ พยายามลอยอยู่ที่ผิวน้ำโดยใช้กำลังให้น้อยที่สุด จะได้ไม่เหนื่อย ไม่หมดแรง เมื่อหายใจเอาอากาศเข้าไปในปอด ปอดก็จะเป็นเสมือนชูชีพพยุงเราไว้ไม่ให้จมน้ำ      

       ทุกคนสามารถลอยตัวในน้ำได้ เพราะความหนาแน่นของร่างกายมีน้อยกว่าน้ำ การที่บางคนไม่สามารถลอยตัวได้ ก็เป็นเพราะมีการเกร็งส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย สำหรับบางคนอาจมีกระดูกและกล้ามเนื้อใหญ่ มีน้ำหนักมาก ทำให้ลอยตัวลำบากกว่าปกติ ช่วงขาอาจจะจมน้ำ แต่ให้ช่วงอกลอยไว้ก็แล้วกัน      

       การลอยตัวมี 2 แบบ คือ จะนอนหงายให้ปากและจมูกโผล่พ้นน้ำเพื่อหายใจก็ได้ หรือนอนคว่ำลำตัวลอยปริ่มน้ำและเงยหน้าขึ้นมาหายใจก็ได้  การลอยหงายจะเก็บแรงได้มากกว่า บางคนอาจลอยได้ทั้งวัน แต่หากมีคลื่นลมแรงอาจต้องเปลี่ยนเป็นลอยคว่ำ ซึ่งจะปลอดภัยกว่า      

       กรณีที่ตัวเราเองเป็นผู้ประสบภัยทางน้ำ ไม่สามารถว่ายน้ำเข้าฝั่งได้ ในขณะที่รอความช่วยเหลืออยู่นั้น ประการแรก ควรตั้งสติให้ดี อย่าตื่นตระหนก พยายามปลดเปลื้องเสื้อผ้าหรือเครื่องประดับที่หนาหนักออกไป เพราะจะพาให้เราจมน้ำเร็วยิ่งขึ้น      

       อยู่ในท่านอนหงาย ให้ใบหน้าพ้นน้ำไว้ ปล่อยตัวตามธรรมชาติ ที่สำคัญคือ อย่าเกร็งตัว หายใจเอาอากาศเข้าปอด ถีบขาคล้ายๆ ท่ากบ และใช้มือพุ้ยน้ำเบาๆ จะช่วยให้ลอยตัวอยู่ในน้ำและเคลื่อนที่ไปได้      

       อีกวิธีหนึ่งคือ การลอยตัวอยู่กับที่ โดยใช้แขนกดลงน้ำแล้วกวาดออก ดึงแขนกลับมาแล้วกดลงน้ำซ้ำอีก ลักษณะคล้ายๆ วาดเลขแปดในน้ำ ทำซ้ำไปเรื่อยๆ ถีบขาเบาๆ คล้ายท่ากบ ไม่ต้องพับเข่าเข้ามามากนัก พยายามให้ศีรษะอยู่พ้นน้ำไว้ ท่านี้จะสามารถใช้มือโบกขอความช่วยเหลือได้      

       อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กล่าวมาเป็นเพียงคำแนะนำเบื้องต้น ซึ่งหากตกอยู่ในสถานการณ์จริงอาจจะทำได้ยาก การที่จะทำความเข้าใจ หรือปฏิบัติได้จริงดังที่กล่าวมา ควรจะได้รับการฝึกสอน แต่การเรียนการสอนว่ายน้ำในบ้านเราส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ทักษะการว่ายน้ำ 4 ท่ามาตรฐาน ทำให้เราเข้าใจผิดว่าเราว่ายน้ำเป็นแล้วและไม่จมน้ำแล้ว ทั้งที่จริงควรเรียนรู้ทั้งเรื่องความปลอดภัยทางน้ำ การเอาชีวิตรอดจากอุบัติภัยทางน้ำ การช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ รวมทั้งการปฐมพยาบาล การกู้ชีพด้วยการผายปอดและนวดหัวใจ      

       สำหรับการป้องกันอุบัติภัยทางน้ำนั้น ทำได้โดย     

  • สำรวจบริเวณบ้านและใกล้บ้านว่ามีจุดเสี่ยง เช่น คู หรือรางระบายน้ำ บ่อน้ำ หรือแหล่งน้ำที่น่าจะมีอันตรายอยู่ตรงไหนบ้าง
  • หาทางป้องกันอุบัติภัยทางน้ำ เช่น ทำรั้วรอบสระว่ายน้ำหรือแหล่งน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเข้าไปเล่นคนเดียว
  • อย่าปล่อยให้เด็กว่ายน้ำ หรืออยู่ใกล้แหล่งน้ำตามลำพัง หากมีสระน้ำอยู่ใกล้ๆ แล้วเด็กหายไป ให้รีบไปดูที่สระน้ำก่อน
  • อย่าปล่อยให้เด็กเล็กเล่นน้ำในอ่างคนเดียวแม้เพียงชั่วครู่ก็ตาม เด็กเล็กๆ สามารถจมน้ำในอ่างได้แม้น้ำจะมีความสูงแค่ไม่กี่นิ้ว เพียงแค่จุ่มหัวหรือคว่ำหน้าลงไปในน้ำเท่านั้น ก็จมน้ำเสียชีวิตได้แล้ว
  • แม้แต่ผู้ใหญ่ก็ไม่ควรเล่นน้ำตามลำพัง หรือดำน้ำลึกๆ ในที่ที่ไม่คุ้นเคย และไม่ควรเล่นน้ำในที่ลึกๆ หากร่างกายไม่สมบูรณ์หรือเป็นตะคริวง่าย 
  • หากเป็นโรคลมชัก ควรระมัดระวังหากอยู่ใกล้แหล่งน้ำ และไม่ควรลงเล่นน้ำ
  • ไม่ควรเล่นน้ำในระยะเวลา 1 ชั่วโมง หลังจากเพิ่งรับประทานอาหาร
  • อย่าดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ระหว่างว่ายน้ำ หรืออยู่บนเรือ และไม่ควรเล่นน้ำเมื่อรู้สึกมึนเมา แม้จะมีอาการเพียงเล็กน้อย
  • หากจะว่ายข้ามแม่น้ำหรือว่ายไปยังเรือที่จอดอยู่ ให้ระมัดระวังให้มาก เพราะเรือที่จอดหรือฝั่งตรงข้าม จะอยู่ไกลกว่าที่คิดหรือที่มองเห็น โดยเฉพาะในน้ำที่ค่อนข้างเย็น จะทำให้เหนื่อยง่ายขึ้น
  • หากเล่นน้ำในทะเล ควรว่ายขนานไปกับฝั่งจะปลอดภัยกว่าว่ายออกจากฝั่ง ขณะว่ายก็ควรมองฝั่งเป็นครั้งคราว เพราะอาจถูกกระแสน้ำพัดออกนอกฝั่งได้ หากจะว่ายน้ำออกจากฝั่ง ควรมีเพื่อนไปด้วย หรือมีเรือตามไปด้วย
  • เมื่อเดินทางทางน้ำ รอให้เรือจอดเทียบท่าให้เรียบร้อย จึงค่อยก้าวขึ้น-ลง
  • มองหาชูชีพทุกครั้งเมื่ออยู่บนเรือและเรียนรู้วิธีการใช้ สำหรับเด็กเล็กควรใส่เสื้อชูชีพทุกครั้งที่ลงเรือ
  • อ่านกฎระเบียบของสถานที่ท่องเที่ยว และปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด
  • และอย่าลืมหัดว่ายน้ำ      

       ติดตามฟังรายการ “Happy & Healthy”

       ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 11.00-12.00 น.

       ทางคลื่นของประชาชน คนนำปัญญา FM 97.75 MHz

       และ www.managerradio.com

ที่มา :  ASTVผู้จัดการออนไลน์  

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้