ข่าว/ความเคลื่อนไหว
หลังจากที่เงินลงทุนวิจัยประเทศขยับแตะ 0.37% ของจีดีพี เครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) จำเป็นต้องปรับทิศทางการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณบวก พร้อมเดินหน้าปรับทิศทางวิจัยหนุนนโยบายรัฐ เตรียมประเดิมยุทธศาสตร์ข้าวเพื่อเสนอรัฐบาลใหม่
ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในฐานะประธานการประชุมเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัย แห่งชาติ (คอบช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม คอบช. ครั้งที่ 1 ประจำปี 2557 ว่า ผลจากการคำนวณล่าสุดพบตัวเลขงบวิจัยประเทศในภาพรวมเพิ่มขึ้นจาก 0.24% เป็น 0.37% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 10 ล้านล้านบาท
โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ได้ให้ข้อมูลจากการสำรวจเบื้องต้นว่า ณ วันนี้สัดส่วนการลงทุนวิจัยของภาคเอกชนได้เพิ่มขึ้นราว 2.11 หมื่นล้านบาท จากเดิม 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งถ้านำมารวมกับเงินลงทุนด้านการวิจัยจากภาครัฐที่ 1.5 หมื่นล้านบาท ทำให้งบวิจัยของประเทศในภาพรวมมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นข่าวดี
"ที่ผ่านมาสัดส่วนการลงทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชนอยู่ที่รัฐ 55 ต่อ 45 แต่ปัจจุบันสัดส่วนการลงทุนได้กลับทางกัน โดยรัฐลงทุน 45 ขณะที่เอกชน 55 ซึ่งเป็นภาคเอกชนนำ ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดี" ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ เลขาธิการ สวทน. กล่าว
นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญจากการหารือร่วมกัน คือแนวทางในการปฏิรูประบบวิจัย โดยผู้บริหารองค์กรวิจัยต่างเห็นตรงกันถึงความสำคัญของงานวิจัยในเชิงนโยบาย โดยเฉพาะนโยบาย "ข้าว" เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้งบประมาณมหาศาล ควรมีผลวิจัยรองรับเพื่อเสนอนโยบายที่มีประสิทธิภาพต่อรัฐบาลใหม่ หรืออาจจำเป็นต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมากำกับดูแลนโยบายข้าวโดยเฉพาะ
ศ.นพ.สุทธิพันธ์ บอกว่า เพื่อจัดทำแผนงานเสนอรัฐบาลใหม่และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง คอบช. จำเป็นต้องบูรณาการความรู้จากแต่ละองค์กร เพื่อเสนอเป็นแผนงานหรือนโยบายที่เริ่มต้นจากงานวิจัย ซึ่งจะต้องหารือระหว่างหน่วยงานอย่างใกล้ชิด และเข้มข้นมากขึ้น
สำหรับ สกว. พร้อมสนับสนุนงานวิจัยเชิงนโยบายในระดับชาติและนานาชาติ ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ต่อหน่วยงานระดับประเทศ ในประเด็นที่เกี่ยวข้อง อาทิ ประชาคมอาเซียน, Think Tank /Redesigning and Repositioning Thailand, ไทยกับมหาอำนาจสำคัญ (Country Watch), การจัดการชายแดน และการแก้ปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้
อย่างไรก็ตาม ภารกิจเดิมของแต่ละหน่วยงานยังคงอยู่ แต่บทบาทของ คอบช. จะต้องเหนียวแน่น และเข้มแข็งขึ้น ในอนาคต 4 ปีข้างหน้า ตัวเขาเอง มีความคาดหวังว่า ผลผลิตจากงานวิจัยจะได้มีส่วนช่วยแก้โจทย์ปัญหาของประเทศร่วมกัน โดยเริ่มจากการจัดระบบงานวิจัยที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง และเชื่อมโยงผลงานวิจัยเป็นข้อเสนอให้กับรัฐบาล ได้เห็นประโยชน์จากงานวิจัยที่มากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีกับประเทศในภาพรวม
"สุดท้ายงานวิจัยจะถูกนำไปใช้หรือไม่ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาล แต่อย่างน้อยเราก็ได้พยายาม โดยผู้บริหารองค์กรวิจัยต่างมีความคาดหวังว่า รัฐบาลใหม่จะเห็นความสำคัญ และให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ จนสามารถดันงบลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศ ให้ขึ้นไปถึง 1% ของจีดีพี ได้สำเร็จอย่างที่มีความพยายามเรื่อยมา" ศ.นพ.สุทธิพันธ์ กล่าว ทั้งนี้ ในปี 2559 ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนต้องเพิ่มขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย คือ เอกชนลงทุนเพิ่ม 4.3 เท่า หรือ 9.1 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 70% จาก ปัจจุบันอยู่ที่ 51%
ขณะที่ ดร.พิเชฐ กล่าวเสริมว่า ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนจะเพิ่มขึ้นได้ต้องอาศัยกลไกการสนับสนุนในด้านต่างๆ เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษีแบบขั้นบันได สำหรับธุรกิจเอกชนที่ทำการวิจัยและพัฒนา โดยค่าใช้จ่ายส่วนที่เกินจากกิจกรรมด้านการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม 10 ล้านบาท บริษัทสามารถขอรับยกเว้นภาษีเพิ่มขึ้นจากเดิมที่จาก 200% เป็น 300%
ไม่ว่าจะเป็น ค่าใช้ด้านจ่ายบุคลากร วัสดุใช้สิ้นเปลือง และค่าเสื่อมราคา ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ค่าอุปกรณ์จักรกลอัตโนมัติ ค่าฝึกอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมวิจัยค่าใช้จ่ายในการซื้อสิทธิและค่าธรรมเนียมในการใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาและเทคโนโลยี ค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนและรักษาสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบเชิงวิศวกรรมหรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
ปัจจุบันสาขาอุตสาหกรรมที่มีค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมเคมี 3,630 ล้านบาท อุตสาหกรรมอาหาร 2,375 ล้านบาท อุตสาหกรรมปิโตรเลียม 1,553 ล้านบาท และอุตสาหกรรมเครื่องจักร 1,361 ล้านบาท เป็นต้น สำหรับในการประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมระดับผู้บริหารหน่วยงานวิจัย ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร องค์การมหาชน (สวก.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่ได้เข้าร่วมหารือแลกเปลี่ยนแนวทางการบูรณาการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศ ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4
หลังจากนี้ทุกภาคส่วนคงต้องติดตามการปรับนโยบายด้านงานวิจัยของประเทศว่า จะมีการพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นตามจำนวนงบประมาณที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดจะสะท้อนต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต
จุฑารัตน์ ทิพย์นำภา
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 หน้า 16
Attachment | Size |
---|---|
11ก.พ.57_กรุงเทพธุรกิจ_ภาคเอกชนลงทุนเพิ่มขยับงบวิจัย.pdf | 1.11 MB |
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้