ข่าว/ความเคลื่อนไหว
แผนงานวิจัย สวรส. จำนวนมากเกี่ยวข้องกับระบบบริการสุขภาพ เช่น แผนงานวิจัยพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน แผนงานวิจัยระบบการดูแลผู้สูงอายุ แผนงานวิจัยกำลังคนด้านสุขภาพ แผนงานสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ ฯลฯ จนทำให้ สวรส. ต้องจัดตั้งกลุ่มวิจัยสนับสนุนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (research cluster to support development of health care system) ขึ้นมา เพื่อประสานแผนงานวิจัยต่างๆ เหล่านี้ พร้อมทั้งให้มีการทบทวนสถานการณ์และกำหนดยุทธศาสตร์การวิจัยร่วมกัน
เมื่อเร็วๆ นี้ มีการประชุมผู้จัดการแผนงานวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ และผู้แทนของหน่วยงานต่างๆ เพื่อทบทวนและเสนอประเด็นวิจัยเพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ที่ประชุมมีประเด็นข้อสังเกตที่น่าสนใจหลายประเด็นดังนี้
การวิจัยระบบบริการสุขภาพปัจจุบัน แบ่งเป็น 3 แนวทางหลักๆ คือ
1)แนวทางที่ใช้มุมมองเชิงระบบ (system approach) คือ มองระบบบริการสุขภาพว่าประกอบด้วย ระบบบริการปฐมภูมิ (primary care) ทุติยภูมิ (secondary care) และตติยภูมิ (tertiary care) โดยที่ผ่านมาให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิเป็นหลัก เพราะเป็นระบบที่มีความอ่อนแอมากที่สุดในปัจจุบัน
2)แนวทางที่ใช้มุมมองการดูแลผู้ป่วยรายโรค (disease management approach) คือ เน้นการพัฒนาระบบการจัดการดูแลผู้ป่วยโรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคไตวายเรื้อรัง ฯลฯ การวิจัยในแนวทางนี้เกิดขึ้นมากในระยะหลัง เพราะ สปสช. มีการพัฒนาระบบ disease management สำหรับผู้ป่วยโรคต่างๆ ขึ้นมา ทำให้มีความต้องการงานวิจัยสนับสนุนเพิ่มมากขึ้น ปัญหาที่พบคือ การพิจารณาว่าจะวิจัยและพัฒนาการดูแลผู้ป่วยโรคใดๆ ขาดหลักเกณฑ์การพิจารณาที่ชัดเจนในช่วงแรก ระยะหลังเริ่มใช้ภาระโรค (burden of disease) มาพิจารณา เช่น เลือกพัฒนาโรคเรื้อรังอย่างเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นเป้าหมายเนื่องจากมีความชุกสูงและส่งผลกระทบมาก
3)แนวทางที่ใช้มุมมองกลุ่มประชากรเป้าหมาย (target population approach) คือ เน้นประชากรกลุ่มเป้าหมายสำคัญ (เหตุผลที่ใช้อธิบายความสำคัญอาจแตกต่างกัน) เช่น ระบบการดูแลผู้สูงอายุ คนพิการ คนชายขอบ ฯลฯ
ทั้งแนวทางที่ 2 และ 3 จะมองระบบการดูแลตั้งแต่เริ่มแรกจนสิ้นสุด คือ ครอบคลุมตั้งแต่การดูแลตนเอง การดูแลที่ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ แต่เน้นที่ผู้ป่วยบางโรค หรือประชากรบางกลุ่ม บางคนเรียกทั้งสองแนวทางนี้ว่าเป็น vertical approach และเป็นแนวทางที่ใช้ค่อนข้างมากในอดีต โดยมีการสร้างโครงสร้างเฉพาะสำหรับการดูแลผู้ป่วยและประชากรเหล่านี้ขึ้นมา เช่น การมีศูนย์มาเลเรีย วัณโรค โรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ โรคเอดส์ ฯลฯ ต่อมาเมื่อแนวคิดเรื่องบูรณาการ (integration) ได้รับการยอมรับมากขึ้น ประกอบการสถานการณ์ของโรคเหล่านั้นเปลี่ยนไป โครงสร้างการจัดบริการสำหรับโรคและประชากรเฉพาะต่างๆ จึงค่อยๆ ผสานกับโครงสร้างระบบบริการปรกติไป
ต่อมาเราเริ่มค้นพบว่า ผลของการบูรณาการดังกล่าว ทำให้การดูแลโรคและประชากรบางกลุ่มทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร แนวคิดเดิมที่เลิกใช้แล้วไปจึงถูกนำมาปัดฝุ่นใช้ใหม่ แต่เป็นการนำมาใช้ภายใต้เงื่อนไขว่า ทำอย่างไรจึงจะทำให้ระบบการดูแลผู้ป่วยและประชากรกลุ่มเฉพาะเหล่านั้นดีขึ้น โดยไม่ทำให้บูรณาการของระบบเสียไป กลวิธีที่ใช้ในปัจจุบัน คือ แยกระบบการจ่ายเงินสำหรับระบบการดูแลผู้ป่วยเหล่านั้นแทนที่จะแยกระบบการจัด บริการ (คือไม่ตั้งหน่วยบริการเฉพาะขึ้นมา) ประเด็นที่น่าพิจารณาคือ ผลของมาตรการทางการเงินดังกล่าวจะส่งผลอย่างไร
การเน้นวิจัยพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ (ตามแนวทางเชิงระบบ) โดยละเลยการวิจัยพัฒนาระบบบริการทุติยภูมิและตติยภูมิ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลรับส่งต่อ (referral hospital) อาจทำให้การพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิล้มเหลวได้ เช่น ระบบบริการแต่ละส่วนต้องประสานเชื่อมโยงกัน การพัฒนาระบบอย่างสมดุลเชื่อมโยงจึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว พอมองเห็นข้อเสนอประเด็นการวิจัยและพัฒนาระบบบริการสุขภาพในระยะต่อไปบ้าง ไหมครับว่า เราควรมุ่งเน้นประเด็นใดและใช้แนวทางไหน
นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข
27 กันยายน 2552
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้