4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

ยาปฏิชีวนะในเนื้อไก่...เรื่องร้ายๆ ที่ไก่เนื้อถูกใส่ความ

          ช่วงที่ผ่านมาหลายคนคงได้ผ่านตาคลิปในยูทูบเรื่องอาหารตามสั่งที่กล่าวหาอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่เนื้อของไทยใช้ยาปฏิชีวนะมากมายเป็นเหตุให้เกิดอาการเชื้อดื้อยาในมนุษย์... เมื่อมีโอกาสได้ติดตาม ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และ ศ.นพ.วิษณุ ธรรมลิขิตกุล หัวหน้าสถานส่งเสริมการวิจัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าเยี่ยมชมกระบวนการเลี้ยงไก่ในฟาร์มของเกษตรกรและฟาร์มของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ตลอดจนชมโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ด้วย จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ตามรอยเส้นทางผลิตไก่ตั้งแต่ฟาร์มจนถึงโต๊ะอาหารว่ามีการใช้ยาปฏิชีวนะกันที่ขั้นตอนไหนหรือไม่

          ยิ่งเมื่อภายหลังการเยี่ยมชมเสร็จสิ้นลง ศ.นพ.สมเกียรติ กล่าวว่า "ผมมั่นใจในอุตสาหกรรมไก่เนื้อของไทยและมั่นใจอย่างยิ่งคือ ซีพีเอฟ ที่นับเป็นตัวอย่างที่ดีที่การเลี้ยงสัตว์ชนิดอื่นควรจะนำไปเป็นแบบอย่างดำเนินการ นอกจากนี้ยังควรที่ให้มีความร่วมมือทำวิจัยระหว่างภาครัฐและเอกชนเกี่ยวกับประเด็นเชิงสาธารณสุขเช่นนี้เป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถนำไปสู่ประสิทธิภาพการผลิต และเพิ่มความปลอดภัยในอาหารเพื่อประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคให้สูงขึ้นได้อีก"...ยิ่งทำให้ทริปแห่งความรู้นี้น่าสนใจยิ่งขึ้น

          เริ่มต้นคณะได้รับทราบว่า ระบบมาตรการควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มไก่เนื้อนั้นมีการวางอย่างเข้มงวดและถูกกำหนดโดยภาครัฐซึ่งก็คือกรมปศุสัตว์ ในการควบคุมตรวจสอบอุตสาหกรรมนี้ ตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ เนื่องจากประเทศคู่ค้าของไทยอย่างสหภาพยุโรป หรืออียู มีกฎหมายห้ามการใช้ยาปฏิชีวนะเร่งการเจริญเติบโตในไก่เนื้อเพื่อการบริโภคโดยเด็ดขาดร่วม 10 ปีมาแล้ว ขณะเดียวกัน ในประเทศไทยเองก็มีกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ทั้งมาตรฐานฟาร์ม และมาตรฐานโรงงาน ตลอดจนกระบวนการตรวจสอบรับรอง เพื่อให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของประเทศคู่ค้า นี่จึงเป็นกฎเหล็กทางกฎหมาย ที่ทำให้ไม่มีผู้ประกอบการไก่เนื้อรายใดกล้าละเมิดกฎเกณฑ์นี้
          เพราะนั่นอาจหมายถึงการถูกตีกลับหรือออกระเบียบห้ามนำเข้าไก่เนื้อของประเทศไทยทั้งประเทศไปเลยทีเดียว

          ในมุมของเอกชนหรือฟาร์มก็มีมาตรการปฏิบัติที่เข้มงวดด้วยตนเองอยู่แล้ว โดยมาตรการควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มไก่เนื้ออยู่ภายใต้มาตรฐานหลักคือ มาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพ (Bio-Security) มาตรฐานอาหารปลอดภัย (Food Safety) หลักสวัสดิภาพสัตว์ที่ดี (Animal Welfare) รวมถึงมาตรฐานการจัดการฟาร์มที่ดีตลอดห่วงโซ่การผลิต ที่สำคัญและมั่นใจมากขึ้นได้อีกคือฟาร์มของบริษัทซีพีเอฟเองและฟาร์มเกษตรกร ต่างก็ปฏิบัติตามมาตรฐานต่างๆ เหล่านี้อย่างเคร่งครัดเช่นกันเดียวกัน


          อย่างไรก็ตาม ยังมีคำถามจากคณะแพทย์ว่า ในเมื่อตลอดเส้นทางของการผลิตไก่เนื้อของซีพีเอฟไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อเร่งการเติบโต
          เหตุใดในขั้นตอนของโรงงานแปรรูป จึงต้องมีการตรวจสอบยาปฏิชีวนะตกค้างในชิ้นเนื้ออีก

          ต่อคำถามดังกล่าว นสพ.พยุงศักดิ์ สมยานนทนากุล รองกรรมการผู้จัดการ ด้านบริการวิชาการสัตว์ปีก ซีพีเอฟ อธิบายว่า ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการจะเป็นกุญแจสำคัญในกระบวนการทวนสอบย้อนกลับ เพื่อการเก็บข้อมูลที่สมบูรณ์ชัดเจน และยืนยันได้ว่า ไม่ปรากฏมียาปฏิชีวนะตกค้างที่เป็น อันตรายจริงๆ

          นสพ.พยุงศักดิ์ยืนยันว่า อุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่เนื้อไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะในวัตถุประสงค์เพื่อเร่งการเติบโต เพราะไก่สามารถเติบโตตามธรรมชาติได้อย่างรวดเร็วขึ้นกว่าในอดีต ทั้งนี้ มาจาก 5 ปัจจัย นั่นคือ การมีสายพันธุ์ที่ดี (Genetic) อาหารคุณภาพดี (Nutrition) การเลี้ยงในโรงเรือนที่ได้มาตรฐาน (Farm) มีระบบการจัดการฟาร์มและสวัสดิภาพสัตว์ที่ดี (Management) และมีการป้องกันโรคที่เข้มงวด (Bio-security)

          เรื่องของพันธุกรรมนั้นนับเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งในโลกนี้มีบริษัทผู้ผลิตสายพันธุ์ไก่ที่ได้รับการยอมรับในต่างประเทศอยู่ 3 แห่งในโลก เขาจะใช้หลักการพื้นฐานวิชาพันธุศาสตร์ของเมนเดล คัดเลือกพันธุกรรมตามธรรมชาติ โดยปรับปรุงพันธุ์ตั้งแต่ระดับปู่ย่าพันธุ์ ภายใต้การประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์การแพทย์ของมนุษย์เข้ามาดำเนินการ เช่น การวัดคลื่นหัวใจ การวัดความดันเลือด และวัดความจุปอด เพื่อคัดสายพันธุ์ที่เติบโตได้เร็ว คล้ายๆ กับคนเราคัดเลือกนักกีฬาทีมชาติ เช่น ต้องมีปอดใหญ่ มีกล้ามเนื้อหน้าอกมาก ปกติแล้วในจำนวน 100 ตัว จะสามารถคัดมาใช้ได้ราว 5 ตัวเท่านั้น โดยทุกบริษัทในประเทศไทยที่ทำธุรกิจไก่ ซึ่งมีจำนวนราว 20-30 บริษัท ล้วนต้องนำเข้าสายพันธุ์จากบริษัทผู้ผลิตสายพันธุ์ไก่จากต่างประเทศทั้งสิ้นสายพันธุ์ที่ดี จะเป็นปัจจัยแรกที่จะช่วยให้ไก่เติบโตได้ดีโดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะเร่งเติบโต

          นอกจากนี้ยังทราบถึง กระบวนการเลี้ยงไก่จะมุ่งเน้นการป้องกัน ไม่ให้ไก่เจ็บป่วยเป็นโรคมากกว่าการปล่อยให้ไก่เสี่ยงต่อการเป็นโรคแล้วค่อยรักษาหรือให้ยาควบคุมทุกวัน ทำให้ลดหรือหยุดการใช้ยาปฏิชีวนะไปได้ และยังมีมาตรการสร้างเสริมสุขภาพไก่ขั้นพื้นฐานโดยเมื่อไก่อายุ 1 วัน จะมีการพ่นวัคซีนป้องกันโรคนิวคาสเซิลและโรคหลอดลมอักเสบซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพทั่วไปของไก่ทั่วโลก ทั้งนี้ ก็ไม่ใช่โรคในคน คล้ายๆ กับทารกที่ต้องฉีดวัคซีนป้องกันโปลิโอหรือหัดให้กับทุกคนรวมทั้งพวกเราด้วย


          เรื่องของอาหารสำหรับไก่กิน เมื่อสายพันธุ์ได้รับการพัฒนามาเป็นอย่างดีแล้วก็จำเป็นที่จะต้องได้อาหารที่เหมาะสมกับสายพันธุ์นั้นๆ เพื่อการเติบโตอย่างเต็มที่ตามศักยภาพของสายพันธุ์ ให้คุณค่าทางโภชนาการตรงตามความต้องการของสัตว์แต่ละชนิดในแต่ละช่วงอายุ และในระหว่างการเลี้ยง ภายในโรงเรือนระบบปิด จะป้องกันสัตว์พาหะและลดความเสี่ยงจากการปนเปื้อนของเชี้อต่างๆ ได้ ขณะที่ทุกฟาร์มจะมีระบบป้องกันโรค (Bio-security) ที่เข้มงวด ภายใต้ระบบการจัดการฟาร์มที่ดี มีการแบ่งโซนที่พัก และโซนเลี้ยงสัตว์อย่างชัดเจน พาหนะและบุคลากรต้องผ่านการฆ่าเชื้อทั้งก่อนเข้าบริเวณฟาร์มและก่อนเข้าโรงเรือน

          ไม่ว่าจะเป็นฟาร์มของบริษัทหรือฟาร์มของเกษตรกร ผู้บริโภคก็สามารถมั่นใจได้ในเรื่องของการปลอดยาปฏิชีวนะ เนื่องจากทุกโรงเรือนจะต้องมีสัตวแพทย์ตรวจสุขภาพไก่และลงนาม อนุมัติก่อนว่าปลอดภัย ปราศจากเชื้อก่อโรค เช่น ไข้หวัดนกและสารตกค้างที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค โดยจะตรวจระหว่างการเลี้ยงและก่อนจับ 2-3 วัน รวมทั้งต้องมีเจ้าหน้าที่สวัสดิภาพสัตว์ (Poultry Welfare Officer : PWO) คอยดูแลไก่ว่ามีความเป็นอยู่ที่สุขสบายไม่ทุกข์ทรมานด้วย ทางเจ้าของฟาร์มจึงจะขอใบอนุญาตขนย้ายสัตว์จากปศุสัตว์จังหวัดได้ เรียกว่าถ้าพบก็อดเคลื่อนย้ายสัตว์ไปเข้าโรงชำแหละขาดรายได้ไปโดยปริยายแถมยังผิดกฎระเบียบของราชการอีก


          มาตรการควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะ ไม่เพียงปรากฏชัดจากในฟาร์ม แต่เริ่มต้นตั้งแต่กระบวนการผลิตอาหารสัตว์ โดยจะมีสัตวแพทย์ควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะในอาหารสัตว์ จากการตรวจสอบอาหารสัตว์โดยห้องปฏิบัติการอาหารสัตว์ FEED LABORATORY ขณะที่ในขั้นตอนของฟาร์มพ่อแม่พันธุ์ และโรงฟักไข่นั้น หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อการรักษาโรค ยาดังกล่าวจะถูกกำหนดโดยสัตวแพทย์เช่นกัน เพื่อคัดเลือกและออกใบสั่งยา เมื่อถึงขั้นตอนของการนำไปใช้จะใช้ยาภายใต้การควบคุมของสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มเพื่อให้การใช้ยาเป็นไปอย่างถูกต้อง

          เมื่อมาถึงขั้นตอนของโรงงานชำแหละและแปรรูป จะมีสัตวแพทย์ที่ควบคุมมาตรฐานการผลิตด้านโรงงานทำการติดตามเฝ้าระวังสารตกค้าง ซึ่งจะมีการตรวจสอบเนื้อสัตว์ว่ามียาปฏิชีวนะตกค้างที่เป็นอันตรายในขั้นตอนนี้ด้วยหรือไม่ ควบคู่ไปกับการดูแลของสำนักประกันคุณภาพผลิตภัณฑ์ รวมทั้งยังมีเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์ของกรมปศุสัตว์ประจำโรงงานคอยตรวจสอบตลอดเวลา


          ถึงบรรทัดนี้คงมั่นใจกันได้แล้วว่า เนื้อไก่ไทยไม่มียาปฏิชีวนะตกค้าง เพราะไม่มีการใช้มาตลอดกระบวนการผลิต ดังนั้น ข้อมูลที่กล่าวหาอุตสาหกรรมไก่เนื้อแบบผิดๆ จึงไม่ควรได้รับการเผยแพร่หรือส่งต่อ เนื่องจากอาจกระทบถึงเกษตรกรคนเลี้ยงไก่ ไปจนถึงคนส่งออกไก่ ตลอดซัพพลายเชน นำไปสู่การสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจชาติได้

เพ็ญภัสสร์ วิจารณ์ทัศน์  Penphat2011@hotmail.com

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557  หน้า 7

AttachmentSize
4ก.พ.57_มติชน_ยาปฏิชีวนะในเนื้อไก่.pdf1.2 MB
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้