4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

จรรยาแพทย์..แพทย์ที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์

          เมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมาโรเบอร์ต้า คลาร์ค ผู้อำนวยการของ UN Women Asia and Pacific และผู้แทนประจำประเทศไทยขององค์กรแห่งนี้ ได้ออกถ้อยแถลงในนามขององค์กรตำหนิการใช้ถ้อยคำดูหมิ่นศักดิ์ศรีของเพศหญิงเพื่อการสร้างคะแนนนิยมทางการเมืองว่า "เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และไม่ควรได้รับการสนับสนุนอีกต่อไป" สะท้อนถึงจุดยืนขององค์กรระดับสากลที่มีต่อการใช้ "Hate Speech" ดังกล่าว คนที่กล่าววาทกรรมอันเป็น "Hate Speech" จำนวนหนึ่งเป็นแพทย์ แถมยังมีแพทย์อีกจำนวนไม่น้อยที่ชื่นชมต่อถ้อยคำหมิ่นแคลนศักดิ์ศรีของมนุษย์ที่ว่า มีการส่งต่อภาพและถ้อยคำในโซเชียลมีเดียแสดงความชื่นชมประหนึ่งว่าแพทย์ผู้ที่กล่าวถ้อยคำดังกล่าวคือวีรบุรุษ

          หลายปีมานี้วงการแพทย์ไทยได้มีการเคลื่อนไหวเรื่อง"การแพทย์ที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์" หรือ "Humanized Medicine" ซึ่งมีหลักการชัดเจนว่าทั้งแพทย์และผู้ป่วยต่างก็เป็น "คน" เป็น "มนุษย์" เหมือนกัน ดังนั้น แพทย์จึงต้องเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ป่วย ต้องปฏิบัติต่อผู้ป่วยเยี่ยงมนุษย์ที่มีความเท่าเทียม ต้องรับฟังความคิดเห็นและความเชื่อของผู้ป่วย รวมทั้งเคารพในศักยภาพในการดูแลตัวเองของผู้ป่วย

          สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข คือหน่วยงานหนึ่งที่เป็นหัวหอกในการเคลื่อนไหวเรื่องนี้ภายใต้หลักการที่ว่า "สุขภาวะหรือสุขภาพดีของทุกคนเป็นศีลธรรมของสังคม หัวใจของสุขภาวะคือการเคารพในคุณค่าศักดิ์ศรีและศักยภาพของความเป็นมนุษย์"

          โรงเรียนแพทย์ทุกแห่ง ได้มีการสอนวิชานี้กันอย่างจริงจังแล้ว
          ทั้งหมดสะท้อนว่า ความเป็นแพทย์นั้นมิใช่เพียงแค่การมีความรู้ทางการแพทย์แล้วก็จะสามารถเป็นแพทย์ได้ แต่จะต้องมี "ความเป็นมนุษย์" อยู่ในหัวใจด้วย ความเป็นแพทย์จึงจะสมบูรณ์

          แต่เหตุการณ์ "Hate Speech" ที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาทันทีว่า "เกิดอะไรขึ้นกับวงการแพทย์ไทย"?

          เพราะอะไร "หัวใจความ เป็นมนุษย์" ของ "แพทย์ไทยบางคน" จึงได้หล่นหายไป
          ในสถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังเป็นอยู่อาจทำให้แพทย์บางคนตัดสินใจ "เลือกข้าง" ซึ่งก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิดแต่อย่างใด มันเป็นสิทธิส่วนบุคคลซึ่งแพทย์ในฐานะประชาชนคนหนึ่งย่อมมีสิทธิอย่างสมบูรณ์ในการเลือกข้าง แต่การที่ "อิน" กับการเมืองเสียจนออกมาประ กาศ "Hate Speech" เหยียบย่ำศักดิ์ศรีของผู้อื่นนั้น
          อันนี้ไม่น่าจะใช่ โดยเฉพาะ คนเป็นแพทย์ที่ได้รับการปลูกฝังมาว่า "หัวใจความเป็นมนุษย์" คือสิ่งที่แพทย์ทุกคนต้องมี
          ในอดีตเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองได้ทำให้แพทย์บางคนละทิ้งความเป็นแพทย์ ละทิ้งหัวใจของความเป็นมนุษย์ ประกาศตัวไม่รักษาผู้ที่มีความคิดเห็นต่างทางการเมือง ผลก็คือแพทย์เหล่านั้นได้รับการต่อต้านและถูกโจมตีจากสังคมอย่างรุนแรง

          ผมเคยได้รับฟังประสบการณ์จากเพื่อนที่เป็นตำรวจไปหาหมอ แต่พอคุณหมอเห็นชื่อที่บัตรผู้ป่วยนอกมีคำว่า "พันตำรวจโท" นำหน้าชื่อเท่านั้น คุณหมอพูดเลยครับว่า "ขอโทษครับผมไม่รักษาตำรวจ" แม้เวลาผ่านไปแล้วหลายปีขณะที่เพื่อนผมคนนี้เล่าถึงเหตุการณ์ดังกล่าว ความโกรธ ความเกลียดชัง ยังปนอยู่ในน้ำเสียงของเขาอยู่เลย
          เราอยากจะให้เหตุการณ์เช่นนี้ดำรงอยู่ต่อไปอีกอย่างนั้นหรือ?
          แม้เราเป็นแพทย์ แต่เราก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมครับ ความสุขความสงบของเรา ครอบ ครัวญาติพี่น้องตลอดจนลูกหลาน ของเราล้วนขึ้นอยู่กับความสงบสุขของสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จะเกิดอะไรขึ้นถ้าสังคมเต็มไปด้วยความเกลียดชังเช่นนี้ อะไรจะเกิดขึ้นหากญาติพี่น้องของเราที่ไม่ได้เป็นแพทย์ต้องไปเจอกับแพทย์ที่ไร้ความเป็นมนุษย์เช่นนี้

          ผมใช้คำนำหน้าชื่อตัวเองว่า "นายแพทย์" มากว่า 30 ปี บอกตรงๆครับว่าคำว่า "นายแพทย์" ได้รับการยอมรับและให้เกียรติจากสังคมสูงมากพอรู้ว่าเราเป็นหมอใครๆก็มักจะให้เกียรติ ให้ความเกรงใจกันทั้งนั้น จะทำอะไร ติดต่ออะไร ดูราบรื่นได้รับความสะดวกไปหมด ขนาดขับรถเร็วตำรวจที่จับถามว่า "พี่ทำงานอะไร" พอบอกว่า "ผมเป็นหมอครับ" เท่านั้นแหละตำรวจปล่อยเลย

          แล้วเราควรจะทำลายความ นับถือ ทำลายเกียรติที่สังคมได้มอบให้กับเราอย่างนั้นหรือ?
          สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่า กระบวนการปลูกฝังเรื่องจรรยาแพทย์ กระบวนการปลูกฝังเรื่องความเป็นมนุษย์ หรือ "Humanized Medicine" ของเรานั้นอ่อนแอแน่นอน เรื่องนี้เป็นกันทั้งโลกแหละครับ ไม่ใช่เฉพาะบ้านเรา

          ถ้าใครติดตามงานเขียนของผมคงจำได้ว่าผมเคยเขียนถึง ดร.โจฮันน่า แชพไพโรแห่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เออร์ไวน์ ที่บอกว่า การเรียนแพทย์นั้นเน้นการสอนแนวคิดเชิงชีววิทยามากไปจนแนวคิดในเชิงจิตวิทยาสังคมนั้นอ่อนแอ แพทย์จึงมองคนเป็นเรื่องของความผิดปรกติเป็นหลัก ไม่ ได้มองคนแบบองค์รวมที่มีทั้งร่างกาย จิตใจ ความเชื่อ ค่านิยมรวมอยู่ด้วย ด้วยวิธีการเรียนแบบนี้จึงทำให้การปลูกฝังเรื่องจริยธรรมซึ่งมีมิติทางสังคมจิตวิทยาสูงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก การเรียนการสอนที่เน้นในมิติเหล่านี้ให้มากขึ้นจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง

          ก็คงเป็นเรื่องที่แพทย์ทุกๆ คนและทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องต้องใส่ใจกันให้มากกว่าที่เป็นอยู่แล้วล่ะครับ ไม่เช่นนั้นวงการแพทย์คงถูกโจมตีและเป็นที่คลางแคลงใจจากสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ ใครที่รู้ตัวว่าได้ทำอะไรที่ไม่เหมาะไม่ควรลงไปก็ปรับปรุงตัวเองซะ ส่วนใครที่ยังทำดีอยู่ก็จงมั่นใจในการทำดีของตัวเองและทำดีต่อๆไป
          ลูกหลานจะได้ภูมิใจ ลูกศิษย์ลูกหาจะได้มีตัวอย่างดีๆไว้ให้ได้ลอกเลียนแบบครับ

          "ความเป็นแพทย์มิใช่เพียงแค่มีความรู้ทางการแพทย์ แต่จะต้องมี "ความเป็นมนุษย์" อยู่ในหัวใจด้วยความเป็นแพทย์จึงจะสมบูรณ์ เพราะอะไร "หัวใจความเป็นมนุษย์" ของ "แพทย์ไทยบางคน" จึงหล่นหายไป"

นพ.อุดม เพชรสังหาร

ที่มา : หนังสือโลกวันนี้วันสุข ฉบับวันที่ 1- 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 หน้า 1

AttachmentSize
1-7ก.พ.57_โลกวันนี้วันสุข_จรรยาแพทย์ แพทย์หัวใจความเป็นมุษย์.pdf1.02 MB
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้