ข่าว/ความเคลื่อนไหว
เมื่อวันที่ 20-22 กรกฎาคม 2552 ที่ผ่านมา มีการประชุมแพทยศาสตร์ศึกษาแห่งชาติครั้งที่ 8 ขึ้น โดยการประชุมแพทยศาสตร์ศึกษาแห่งชาตินั้นจัดขึ้นทุกๆ 7 ปี เพื่อทบทวนและปรับปรุงระบบการศึกษาของแพทย์ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับ ความต้องการของสังคม ผมเข้าใจว่าการจัดทุกๆ 7 ปีนั้น เนื่องจากการศึกษาในหลักสูตรแพทย์ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 ปี หากมีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตร กว่าจะเห็นผลกับบัณฑิตแพทย์ใหม่ก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 ปีเช่นกัน
ในการประชุมแพทยศาสตร์ศึกษาแห่งชาติครั้งนี้ สวรส. ได้รับมอบหมายให้พัฒนาข้อเสนอความต้องการแพทย์ในอนาคตที่พัฒนาขึ้นโดยอิง แนวโน้มระบบริการสุขภาพในอนาคต ข้อเสนอส่วนใหญ่มีเนื้อหาเช่นเดียวกับข้อเสนอในการประชุมแพทยศาสตร์ศึกษา แห่งชาติครั้งที่ 7 คือ ควรเน้นการผลิตแพทย์เพื่อไปปฏิบัติงานที่สถานพยาบาลปฐมภูมิ โดยมีแพทย์ปฐมภูมิไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนแพทย์ทั้งหมด เพราะผ่านมา 7-8 ปี จำนวนแพทย์ปฐมภูมิไม่ได้มีจำนวนมากขึ้นตามที่คาดหวังไว้ ข้อเสนอครั้งนี้จึงยังเน้นเป้าหมายเดิม (เพราะยังไม่บรรลุเป้าหมาย) แต่เพิ่มเติมด้วยว่า ในจำนวนแพทย์ปฐมภูมิทั้งหมดจะต้องมีแพทย์เวชปฏิบัติครอบครัวไม่น้อยกว่า ร้อยละ 50 นอกจากนี้ก็มีประเด็นอื่นๆ เช่น ควรให้แพทย์สามารถให้บริการผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยในระยะสุดท้าย รวมทั้งการสนับสนุนงานสร้างเสริมสุขภาพมากขึ้น รวมทั้งมีการกล่าวถึงการให้บริการด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ (humanized healthcare) ซึ่งเป็นประเด็นยอดนิยมในปัจจุบันด้วย
การแลกเปลี่ยนในที่ประชุมหลังการนำเสนอข้อเสนอดังกล่าวแล้ว กลับน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะส่วนใหญ่ที่ประชุมจะให้ความสำคัญกับประเด็นค่าตอบแทนแพทย์ ที่กระทรวงสาธารณสุขเพิ่งประกาศใช้ไป (ซึ่งไม่อยู่ในข้อเสนอ สวรส.) โดยส่วนใหญ่วิจารณ์ว่า มาตรการดังกล่าวจะสร้างปัญหาภาระงบประมาณ และหน่วยงานอื่น (เช่น โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยต่างๆ) ไม่สามารถทำตามได้เพราะไม่มีงบประมาณเพียงพอ นอกจากนี้การจ่ายตามระยะเวลาปฏิบัติงาน ยังเป็นการจ่ายเงินที่ไม่สนับสนุนการเพิ่มผลิตภาพการทำงาน (productivity) ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขที่ร่วมชี้แจงด้วยตอบได้ค่อนข้างดีว่า เรื่องบางเรื่องจะทำให้ทั้งถูกต้องและถูกใจด้วยเป็นไปได้ยาก ผมสนับสนุนความเห็นดังกล่าว และยังได้เสนอความเห็นว่าเรื่องมาตรการทางการเงินนี้ ไม่ว่าจะใช้รูปแบบใด จะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย
ที่ประชุมวนเวียนอยู่กับประเด็นเรื่องค่าตอบแทนอยู่นานพอสมควร ผมจึงเสนอว่า พวกเราทั้งหมดให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากจนเกินไปหรือเปล่า อาจารย์หมอมงคล (นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข) เคยบอกว่า ระยะหลังนี้อะไรๆ เราก็ใช้เงินทำงาน รู้สึกว่าเราจะใช้เงินมากจนเกินไปแล้ว ผมค่อนข้างจะเห็นด้วยกับข้อสรุปนี้ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่หมายความว่าเราจะไม่ดูแลชีวิตและความเป็นอยู่ของแพทย์และ บุคลากรทางด้านสาธารณสุข แต่ทำอย่างไรจึงจะสร้างสมดุลระหว่างแรงจูงใจที่ไม่ใช่เงิน (non-financial incentive) กับแรงจูงใจที่เป็นเงิน (financial incentive) การใช้เงินเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนระบบบริการสุขภาพ จะสร้างผลกระทบที่สำคัญต่อเป้าหมาย “การให้บริการด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์” ด้วย เพราะหากเราทำงานด้วยคาดหวังกับผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินแล้ว เราก็จะให้ความสำคัญกับความเป็น “มนุษย์” ของผู้ที่เราดูแลลดลง เพราะเราจะสนใจเฉพาะสิ่งที่วัดและจับต้องได้ง่าย (การจ่ายเงินตามผลงานหรือ P4P มักจะให้ความสำคัญกับผลงานที่วัดได้) ลดคุณค่าของความสุขและความภาคภูมิใจของการได้มีการโอกาสช่วยเหลือเยียวยา ความทุกข์ของผู้อื่น ซึ่งเป็นอุดมการณ์ที่สำคัญของบุคลากรสาธารณสุข แต่เป็นสิ่งที่วัดและจับต้องได้ยากยิ่ง
โดยสรุป ที่ประชุมมีข้อเสนอให้พัฒนาแรงจูงใจที่ไม่ใช่ตัวเงิน (non-financial incentive) เพิ่มมากขึ้น แม้จะสวนกระแสสังคมปัจจุบันที่เน้นการบริโภคนิยม แต่ก็เป็นเรื่องท้าทายว่า เราจะสามารถทำให้ประสบความสำเร็จได้หรือไม่และด้วยวิธีการใด
นพ.พงษ์พิสุทธิ์
16 สค. 2552
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้