4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

นักวิชาการระบุ 29 ปัจจัย กระทบอนาคตระบบสุขภาพใน 10 ปีข้างหน้า

นักวิชาการระบุ 29 ปัจจัย กระทบอนาคตระบบสุขภาพใน 10 ปีข้างหน้า กระตุ้นทุกภาคส่วนเร่งเตรียมรับมือ

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ได้ร่วมกันจัดทำโครงการวิเคราะห์และจัดทำภาพอนาคตของระบบสุขภาพ (Foresight Research) อีก 10 ปีข้างหน้า  ซึ่งเป็นโครงการที่ได้นำกระบวนการทางวิชาการมาดำเนินอย่างเป็นระบบ ในการมองอนาคตที่ครอบคลุมทุกมิติที่มีผลกระทบต่อระบบสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ  และเป็นกระบวนการที่มีส่วนร่วมจากผู้ที่มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ (Stakeholders)  ในเรื่องที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เข้าใจถึงแรงผลักดันต่างๆ ทั้งที่เห็นชัดและที่ยังไม่เห็นชัด  ตลอดจนการร่วมกันวิเคราะห์และทำให้เห็นลู่ทางที่จะต้องทำในวันนี้และเตรียมรับมือในอนาคต  ซึ่งการจัดทำภาพอนาคตเป็นหลักการที่สามารถนำไปใช้ในการคาดการณ์อนาคตเรื่องอื่นๆ ได้เช่นกัน ไม่เฉพาะแค่เรื่องระบบสุขภาพเท่านั้น  ทั้งนี้ปัจจุบัน “การคาดการณ์อนาคต” ได้รับการยอมรับในหลายประเทศว่า เป็นวิธีการที่มุ่งเน้นความพยายามจะนำไปสู่การสร้างความมั่งคั่งและการยกระดับคุณภาพชีวิต  รวมถึงเทคโนโลยีและองค์ความรู้ใหม่ๆ อาจพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ สังคม และสภาวะแวดล้อมในระยะหลายทศวรรษที่จะมาถึงนี้ได้

ด้านผลการสำรวจความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ในปัจจัยที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเวลา 10 ปีข้างหน้า ระบุทั้งหมด 29 ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อระบบสุขภาพ  

1. การเปลี่ยนแปลงประชากรด้านโครงสร้าง
โครงสร้างประชากรจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ ประชากรวัยแรงงานและวัยเด็กลดลง ส่งผลต่อโครงสร้างรายได้และรายจ่ายของภาครัฐ หมายถึง รายได้ในการจัดเก็บภาษีของวัยแรงงานน้อยลง ขณะที่ภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพอันเนื่องจากโรคที่เกิดกับผู้สูงอายุมากขึ้น ซึ่งรวมถึงโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและปัญหาสุขภาพจิต

2. การขยายตัวของชุมชนเมืองในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น
การขยายตัวของชุมชนเมืองในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นประกอบกับปัญหาการวางแผนการพัฒนาเมือง ทำให้เกิดผลกระทบต่างๆ ตามมา เช่น ชุมชนแออัด ปัญหาการว่างงาน โรคที่เกิดจากการดำเนินชีวิตของคนในเมืองใหญ่ เช่น โรคกระเพาะอาหาร ความดันโลหิตสูง ปัญหาสุขภาพจิต

3. การเคลื่อนย้ายแรงงานจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในประเทศไทย
การย้ายถิ่นของชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในไทย โดยไม่มีหลักประกันสุขภาพติดตัวมาด้วย ทำให้ภาครัฐต้องสร้างหลักประกันสุขภาพที่เหมาะสมให้กับแรงงานเหล่านี้ รวมถึงการเฝ้าระวังส่งเสริมและป้องกันโรคที่อาจจะเกิดขึ้นจากแรงงานต่างชาติ และการดูแลสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานต่างชาติ


4. ทรัพยากรธรรมชาติมีจำกัด
น้ำและที่ดินสำหรับใช้ในการเกษตรกรรมมีจำกัด รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพที่ลดลงจะก่อให้เกิดการพึ่งพาเทคโนโลยีในการผลิตอาหารรูปแบบใหม่ๆ ทำให้เกษตรกรรายย่อยไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ที่ราคาสูงได้ ส่งผลให้เหลือแต่ผู้ผลิตอาหารรายใหญ่และอาหารมีราคาแพง

5. โรคอุบัติใหม่ในพืชและสัตว์
สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปของโลกทำให้มีโรคใหม่ๆ เกิดขึ้นกับทั้งพืชและสัตว์ นำไปสู่การพัฒนาและใช้ยาหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ กับพืชและสัตว์ที่นำมาเป็นอาหาร ซึ่งยาและเทคโนโลยีดังกล่าวอาจส่งผลกระทบด้านสุขภาพต่อผู้บริโภค


6. สังคมให้ความสำคัญในเรื่องความมั่นคงและความปลอดภัยของอาหารมากขึ้น
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกก่อให้เกิดผลผลิตจากการเกษตรเสียหาย ปริมาณอาหารลดลง สารเคมีตกค้างและปนเปื้อนในอาหารและสิ่งแวดล้อม ทำให้กระบวนการผลิตและระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (Food Traceability) ในห่วงโซ่อาหารมีความยากและซับซ้อนขึ้น ส่งผลให้อาหารมีราคาสูงและเข้าถึงได้ยากขึ้น จำเป็นต้องมีนโยบายอาหารที่ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่การผลิต


7. มีแนวโน้มปัญหาการจัดการน้ำเพื่อการบริโภคและการใช้
คาดว่าความต้องการน้ำสำหรับประเทศไทยจะเพิ่มเป็น ๒ เท่าในปี พ.ศ.๒๕๗๒ เมื่อเทียบกับปัจจุบัน ความต้องการน้ำในภาคการเกษตร อุตสาหกรรมและครัวเรือนมากขึ้น ในขณะที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้ง อุทกภัยรุนแรง แหล่งน้ำเสื่อมโทรม ทำให้เกิดการเจ็บป่วย อุบัติเหตุ โรคระบาด และมีภาวะเครียดเพิ่มขึ้น


8. ความหลากหลายทางชีวภาพจะลดลง
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การขยายตัวของเมืองและภาคอุตสาหกรรม พื้นที่ป่าชายเลนลดลง การกัดเซาะชายฝั่ง การทำป่าไม้เชิงพาณิชย์ จะทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง โดยประเทศไทยอาจสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพร้อยละ ๒๕ ในปี พ.ศ.๒๕๗๐ ส่งผลต่อการแสวงหาสมุนไพร การวิจัยพัฒนา และการใช้สมุนไพร

9. การใช้พลังงานของประเทศไทยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แหล่งพลังงานหลักของประเทศไทยยังคงเป็นก๊าซธรรมชาติ อาจเกิดวิกฤติพลังงานในอนาคต ต้องมีมาตรการต่างๆ มาสนับสนุน เช่น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การพัฒนาพลังงานทดแทน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตดีขึ้นด้วย


10. ภัยธรรมชาติจะรุนแรงขึ้นและมีความถี่สูงขึ้น
ภัยธรรมชาติ เช่น คลื่นความร้อน น้ำท่วม พายุ ภาวะแห้งแล้ง แผ่นดินไหว ไฟป่า ดินถล่ม สึนามิ อุกาบาตตก จะเกิดบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้น ทำให้ระบบสุขภาพต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือกับอุบัติภัยที่จะเกิดขึ้น


11. โรคติดเชื้ออุบัติซ้ำส่วนหนึ่งเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยาปฏิชีวนะ
การใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินความจำเป็นทำให้โรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยาปฏิชีวนะเป็นปัญหาสำคัญและมีความรุนแรงขึ้น ในขณะที่การค้นพบสารชนิดใหม่ที่มีคุณสมบัติเป็นยาปฏิชีวนะต้องใช้เวลานานขึ้นและการลงทุนมากขึ้น มีความกังวลว่าจะยังไม่มียาปฏิชีวนะชนิดใหม่ใช้ในระยะอันใกล้

12. การเคลื่อนย้ายของประชากรมีส่วนทำให้เกิดการระบาดของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำได้ง่าย
การคมนาคมขนส่งที่ทันสมัยและระบบเศรษฐกิจแบบเปิดทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของประชากรอย่างไร้พรมแดน ทำให้มีโอกาสที่โรคติดต่อ แพร่ระบาดไปยังส่วนต่างๆ ของโลกได้ง่าย กลุ่มแรงงานข้ามชาติจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดโรคต่างๆ ได้มากกว่ากว่าประชากรกลุ่มอื่น เนื่องจากไม่ได้รับบริการสาธารณสุขและสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างเพียงพอ ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคติดเชื้อ และขาดพฤติกรรมด้านสุขอนามัยที่ช่วยป้องกันโรค

13. โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (zoonosis) มีแนวโน้มซับซ้อน มีความรุนแรงและควบคุมได้ยากขึ้น
มีปัจจัยหลายอย่างที่สนับสนุนให้เกิดโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนง่ายขึ้น เช่น วิวัฒนาการของเชื้อก่อโรคที่มีความซับซ้อนมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ความไม่พร้อมของกลไกควบคุมโรค การปนเปื้อนของแหล่งน้ำ การอพยพย้ายถิ่น ปัญหาด้านสุขอนามัยส่วนบุคคล ทั้งนี้โรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คนบางโรคอาจมีความเกี่ยวข้องกับปัจจัยมากกว่า ๑ ชนิด

14. การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างไม่เหมาะสมจะมีมากขึ้น
เทคโนโลยีสารสนเทศที่ก้าวหน้าทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ทุกที่ทุกเวลา การใช้เทคโนโลยีแบบพกพา (mobile technology) มากขึ้นและอย่างไม่เหมาะสม ทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลน้อยลงและอาจก่อให้เกิดปัญหาด้านสังคมตามมา

15. ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์
คนไทยกลุ่มต่างๆ ยังคงมีความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์ เนื่องจากสิทธิในระบบประกันสุขภาพและฐานะทางด้านเศรษฐกิจของผู้ป่วยที่แตกต่างกัน รวมถึงการกระจายของเครื่องมือในสถานพยาบาลที่ไม่ทั่วถึง

16. แนวโน้มการรักษาผู้ป่วยที่พึ่งพาเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์จะมากขึ้น
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ เช่น การตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรคล่วงหน้า เซลล์ต้นกำเนิด การรักษาด้วยยีน จะทำให้มีการรักษาตามความต้องการเฉพาะรายมากขึ้น (personalized medicine) สิ่งที่จำเป็นต้องให้ความสำคัญคือจริยธรรมและการรักษาความลับของผู้ป่วย

17. จะมีบริการการแพทย์ทางไกล (telemedicine) และการดูแลผู้ป่วยทางไกล (telecare) เพิ่มขึ้น
การแพทย์ทางไกลและการดูแลผู้ป่วยทางไกลเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยลดความคับคั่งของการใช้บริการในสถานพยาบาล ช่วยให้ผู้ป่วยดูแลสุขภาพตนเองในเบื้องต้นได้ ช่วยลดความแออัดของผู้สูงอายุในสถานดูแลผู้สูงอายุ เนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์สามารถให้คำแนะนำและบริการบางประเภทโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ


18. การคมนาคมในพื้นที่ชนบทห่างไกลมีความสะดวกยิ่งขึ้น ทำให้การเข้าถึงบริการทางการแพทย์มีความสะดวกรวดเร็วขึ้น
มีการพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งโดยเฉพาะเส้นทางในพื้นที่ชนบทห่างไกลให้มีสภาพที่ดี  สามารถเดินทางได้สะดวกรวดเร็วและปลอดภัยขึ้น  ทำให้ชาวบ้านสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขได้มากขึ้น  การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินหรือผู้ป่วยหนักสามารถทำได้สะดวกขึ้น

19. การพัฒนาระบบการขนส่งและการเดินทางควรออกแบบเพื่อสนองตอบต่อความต้องการของคนทุกกลุ่ม (Universal design)
ปัญหาการจราจรทางถนนที่แออัด และแนวโน้มสังคมที่จะมีความหลากหลายมากขึ้น ทำให้การออกแบบเพื่อการเดินทางและการขนส่งจำเป็นต้องสนองตอบต่อความต้องการของคนทุกกลุ่ม ได้แก่ สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุและคนพิการ ลิฟต์โดยสาร  ทางลาดเอียง ทางเท้า และทางจักรยาน โดยให้มีการเชื่อมต่อกับระบบการขนส่งสาธารณะที่สะดวกยิ่งขึ้น


20. การคมนาคมระหว่างประเทศที่สะดวกมากขึ้น
การคมนาคมที่เชื่อมต่อถึงกันมากขึ้นระหว่างประเทศในภูมิภาคเดียวกันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการขนส่งและเดินทางไปสู่ระบบการขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศที่สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น


21. เศรษฐกิจโลกมีความผันผวน โดยไทยอาจเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อไปยังประเทศต่างๆ ในเอเชีย
ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกเป็นปัจจัยผลักดันให้ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจเคลื่อนย้ายมาสู่เอเชีย ประเทศไทยอาจจะเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อไปยังประเทศต่างๆ และอาจจะมีธุรกิจการค้ารวมถึงธุรกิจบริการสุขภาพเพิ่มขึ้น

22. เศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น แต่ความเหลื่อมล้ำยังดำรงอยู่
แม้เศรษฐกิจไทยโดยรวมจะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ปัญหาจากความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ยังดำรงอยู่ เนื่องจากไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและความขัดแย้งของคนในสังคม

23. การเจรจาการค้าระหว่างประเทศมีมากขึ้น
แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของการเจรจาการค้าเสรีระหว่างประเทศจะส่งผลทำให้ประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรักษาผลประโยชน์ของคนในประเทศให้มากที่สุด เพื่อลดผลกระทบทางสุขภาพที่อาจเกิดตามมา เช่น ผลกระทบต่อการเข้าถึงยาและการพึ่งพาตนเองได้ในเรื่องอุตสาหกรรมยาของคนไทย หรือการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ


24. การทุจริตจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น
วิธีการและรูปแบบการทุจริตคอรัปชั่นจะหลากหลาย จะตรวจสอบและเฝ้าระวังได้ยากขึ้น จึงต้องการ ระบบอภิบาล (governance) การตรวจสอบ และบทลงโทษทั้งทางสังคมและกฎหมายที่เข้มข้น รวมถึงระบบยุติธรรมที่โปร่งใสและทันการ


25. จะมีการปฏิรูปใหญ่ของโครงสร้างทางการเมืองและกฎหมาย
เหตุการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองจะนำไปสู่การปฏิรูปใหญ่ของโครงสร้างการเมืองและกฎหมาย ซึ่งจะส่งผลให้ฝ่ายการเมืองมีอิทธิพลสูงต่อการกำหนดนโยบายของประเทศ รวมถึงทิศทางระบบสุขภาพ

26. รัฐบาลจะมีการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มากขึ้น
อปท. จำเป็นต้องพัฒนาให้มีความพร้อมในการรองรับการกระจายอำนาจที่จะเกิดขึ้นตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อทำหน้าที่เป็นกลไกในการบริหารจัดการตามความต้องการของประชาชนอย่างเหมาะสม เนื่องจากชุมชนท้องถิ่นจะเรียกร้องการมีส่วนร่วมในการบริหาร การตัดสินใจ การตรวจสอบโครงการและนโยบายสาธารณะที่มีผลกระทบต่อพื้นที่มากขึ้น

27. การแพร่กระจายวัฒนธรรมข้ามพรมแดน
อิทธิพลจากกระแสโลกาภิวัตน์ส่งผลให้เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมดั้งเดิมของไทยเปลี่ยนแปลงไป กระตุ้นให้เกิดกระแสวัตถุนิยม บริโภคนิยมและความฟุ้งเฟ้อ นำไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต

28. ชุมชนตระหนักถึงสิทธิและการจัดการตนเองมากขึ้น
คนไทยมีแนวโน้มจะตระหนักเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิพลเมืองและสิทธิชุมชนมากขึ้น จะเรียกร้องการกระจายอำนาจเพื่อให้มีอำนาจในการปกครองตนเองมากขึ้น และมีบางกลุ่มจะพยายามเข้ามาทำหน้าที่ในการตรวจสอบดูแลและป้องกันการละเมิดสิทธิ์

29. สังคมไทยชื่นชมคนเก่งมากกว่าคนดี
คนไทยบางส่วนไม่มีระเบียบวินัย พูดแต่ไม่ลงมือทำและไม่มีจิตสาธารณะ เป็นผลให้สังคมโดยรวมมีจริยธรรมลดลง ขาดความศรัทธาในหลักศาสนา ในขณะที่ระบบการศึกษามุ่งเน้นการสร้างคนเก่งแต่ละเลยการสร้างคนดี

ดาวน์โหลดหนังสือภาพอนาคตระบบสุขภาพได้ที่  http://www.hsri.or.th/media/1279

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้