4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

บรรเทาหนาวด้วย 'สมุนไพร' 'ภูมิปัญญาไทย' เพิ่มความอบอุ่น

          สายลมเย็นอากาศหนาวของฤดูกาลนี้แม้บางพื้นที่จะเริ่มมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นบ้าง แต่สำหรับบนพื้นที่สูงอย่างยอดดอยความหนาวเย็นยังคงไม่ล่าถอย หลายพื้นที่สามารถสัมผัสได้ชัดเจนโดยเฉพาะพื้นที่ทุรกันดารห่างไกลซึ่งกำลังเผชิญกับภัยหนาว
          ทุกปีเมื่อฤดูหนาวมาถึงนอกจากสุขภาพที่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด อุบัติเหตุที่มักเกิดขึ้น ช่วงเวลานี้ยังมีอีกสิ่งสำคัญที่ต้องไม่มองข้ามโดยเฉพาะ...เพลิงไหม้!!
          ขณะที่อุณหภูมิลดต่ำ ไม่เพียงเฉพาะเครื่องนุ่งห่มที่มีความจำเป็นช่วยบรรเทาความหนาวเย็นเพิ่มความอบอุ่นให้แก่ร่างกายวิถีไทยภูมิปัญญาไทย มีวิธีการดูแลสุขภาพตนเองก่อนต้องเผชิญกับการเจ็บป่วยในช่วงฤดูหนาว โดย อาจารย์นิเวศน์ บวรกุลวัฒน์ แพทย์แผนไทยปฏิบัติการ กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ให้ความรู้ว่า คนโบราณมีวิธีดูแลรักษาสุขภาพในแต่ละฤดูกาลอย่างชาญฉลาด  อย่างช่วงปลายฝนต้นหนาวจะแนะนำให้กับคนในครอบครัวทานแกงส้มดอกแคซึ่งจะช่วยป้องกันไข้หัวลมได้ โดยการเจ็บป่วยดังกล่าวมักเป็นในช่วงรอยต่อของฤดูกาลร่างกายเจ็บป่วยได้ง่ายวิธีดังกล่าวนี้เป็น หนึ่งในภูมิปัญญาไทยของการดูแลสุขภาพ โดยเริ่มจากปรุงอาหารเป็นหลักเป็นการดูแลสุขภาพก่อนเกิดการเจ็บป่วยซึ่งอาศัยผักเป็นยาและอาหารเป็นยา

          ช่วงหน้าหนาวจึงต้องสร้างความอบอุ่นให้แก่ร่างกายอย่างเพียงพอ สวมใส่เสื้อผ้ารักษาความอุ่นไว้โดยไม่ให้ร่างกายสูญเสียความร้อนมากเกินไป นอกจากการสวมใส่เสื้อผ้าแล้วการทานอาหารในแต่ละมื้อก็มีความสำคัญ ทางแพทย์แผนไทยใช้รสชาตินำมาเป็นยา ปรับประยุกต์รสยาเป็นอาหาร วิธีการดูแลสุขภาพเพิ่มความอบอุ่นให้กับร่างกายคลายความหนาวเย็น นับแต่ช่วงเช้าให้ทานอาหารที่มีรสออกไปทางรสเปรี้ยว ให้รสเปรี้ยวนำรสชาติอื่น ๆ ก็จะช่วยละลาย เสมหะช่วยให้ชุ่มคอ ในช่วงเช้าของฤดูหนาวได้ โดยช่วงฤดูกาลนี้มักพบอาการไอ ระคายคอ แต่อย่างไรแล้วรสเปรี้ยวก็ไม่ควรทานเปรี้ยวเกินความพอดี อย่างการดื่มน้ำมะนาวล้วนจะทำให้เกิดการระคายคอมากกว่าจะช่วยให้ชุ่มคอ!!

          นอกจาก รสเปรี้ยว แล้ว รสร้อน ก็สามารถช่วยได้ พืชผักสมุนไพรที่มีรสร้อนจะช่วยให้ร่างกายอบอุ่น อย่างเช่น พริกไทย ซึ่งก็มีอยู่ในอาหาร  ช่วงหน้าหนาวอาจทานมากขึ้น อย่างเช่น  ในต้มเลือดหมูแม้จะมีอยู่แล้วแต่อาจใส่พริกไทยป่นโรยมากขึ้นก็จะช่วยเพิ่มความร้อนในร่างกายได้
          ขิง ก็เช่นเดียวกันไม่ว่าจะเป็นขิงอ่อน ขิงแก่ ให้ความอบอุ่นได้ แต่อย่างไรแล้วไม่ควรทานมากเกินไป อย่างช่วงกลางวันอุณหภูมิเพิ่มขึ้น อากาศอุ่นขึ้นก็ไม่ควรทาน เพราะจะทำให้ร่างกายร้อนเกินไปจะทำให้มีอาการร้อนในเป็นแผลในช่องปากได้ง่ายควรทานน้ำขิงในช่วงเช้าก็จะช่วยรักษาความอบอุ่นให้กับร่างกาย
          นอกจากนี้เมื่อมีอาการไอ มีเสมหะนำเหง้าแก่ของขิงฝนกับน้ำมะนาวหรือใช้เหง้าสดตำผสมน้ำสุกเล็กน้อยคั้นน้ำเติมเกลือนิดหน่อยใช้กวาดคอหรือจิบบ่อย ๆ และการรับประทานขิงไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด อย่างเช่นทุบพอแตกแช่ในน้ำร้อนนำมาดื่มก็จะช่วยให้ร่างกายอบอุ่น หรือนำปรุงอาหารก็ทำได้หลากหลายเมนู

          'สิ่งที่ควรต้องรู้คืออาหารประจำฤดู แต่ละฤดูพืชผัก ผลไม้จะมีแตกต่างกันปกติธรรมชาติให้อาหารและยามาตามฤดูกาล หากสังเกตจะพบว่า ช่วงหน้าหนาวมักเป็นไข้ ปวดศีรษะ ตัวร้อนได้ง่าย อีกทั้งยังมีอาการไอ มีเสมหะ เพราะอากาศเปลี่ยนแปลง  พืช ผักที่ให้ผลผลิตออกมา ผลไม้ที่เป็นยาที่มีตามฤดูอย่างเช่น เมื่อมีอาการไอมีเสมหะ มะขามป้อม สามารถรักษาอาการได้โดยใช้เนื้อผลแก่สดครั้งละประมาณ 2-3 ผล โขลกพอแหลก แทรกเกลือเล็กน้อย อมหรือเคี้ยวรับประทานสามารถบรรเทาลงได้ ทั้งนี้มะขามป้อมจะมีรสชาติเปรี้ยวฝาด  เวลาทานจิบน้ำตามทำให้หวานชุ่มคอ เป็นภูมิปัญญาโบราณที่ใช้มะขามป้อมรักษาโรคดูแลสุขภาพ"
          สมอไทย ช่วงเวลานี้ออกผลอยู่มาก นำมาล้างให้สะอาดเมื่อเคี้ยว ดื่มน้ำตามจะช่วยให้ชุ่มคอ มะนาว ทำให้ชุ่มคอ น้ำมะนาวที่เข้มข้นเมื่อใส่เกลือผสมน้ำผึ้งนิดหน่อยให้มีรสเปรี้ยวนำ ตามด้วยหวานและเค็มนิด ๆ ก็จะทำให้ชุ่มคอ ละลายเสมหะได้เช่นกัน ส้ม  ผลไม้อีกชนิดที่กำลังให้ผลผลิตมากช่วงเวลานี้ รสเปรี้ยวจะทำให้ร่างกายได้รับวิตามินซี  ช่วยให้มีภูมิต้านทานมากขึ้นซึ่งพืชผัก ผลไม้ที่มีสรรพคุณทางยาเหล่านี้จะเห็นว่ามีตามฤดูกาลและใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวันจึงไม่ควรมองข้าม


          นอกจากไอ เจ็บคอ อาการไข้ ตัวร้อนที่มักตามมาสำหรับพืชผักสมุนไพรที่มีสรรพคุณบรรเทาอาการไข้ก็มีอยู่ไม่น้อยที่โดดเด่นที่สุดของฤดูกาลได้แก่ สะเดา ซึ่งมีรสขม เย็น แต่ก็มีพึงระวังโดยช่วงหน้าหนาว อากาศเย็นอยู่แล้วการนำมาบรรเทาอาการ ไข้ เมื่ออาการดีขึ้นก็ไม่ควรทานต่อ เพราะร่างกายจะเย็นเกินไปและจะกระทบกระเทือนกับระบบอื่นของร่างกาย พืชสมุน ไพรดังกล่าวทานได้ทั้งส่วนยอดและดอกโดยนำมาลวกหรือต้ม ทานสดหรือรับประทานร่วมกับน้ำปลาหวานก็ช่วยให้เจริญอาหารและแก้ไข้ได้
          นอกจากนี้สมุนไพรเด่นในฤดูหนาวยังมี ขี้เหล็ก ใช้ดอกตูมและใบอ่อนปรุงเป็นอาหาร แต่ไม่ควรคั้นน้ำหลายครั้งเพราะทำให้รสขมหมดไป รสขมของขี้เหล็กช่วยแก้ไข้เจริญอาหาร ฟ้าทะลายโจร ทานได้ทั้งยาลูกกลอนและยาต้มแต่ไม่ควรเกิน 5 วัน บอระเพ็ด ใช้เถาหรือต้นสดครั้งละ 2 คืบตำคั้นน้ำดื่มหรือต้มกับน้ำทานเมื่อมีอาการไข้หรือเวลาเบื่ออาหารหรืออาจดองน้ำผึ้งหรือปั้นเป็นยาลูกกลอนทำให้ทานได้สะดวกขึ้น เป็นต้น


          ส่วนถ้ามีความจำเป็นต้องใช้ยารักษาอาการเจ็บป่วย  ถ้าเป็นยาตำรับควรพบแพทย์แผนไทยหรือแผนไทยประยุกต์ที่มีใบประกอบโรคศิลปะ ซึ่งจะวินิจฉัยอาการเจ็บป่วยสำคัญที่สุดไม่ควรซื้อยาทานเองหรือทานตามคนอื่น
          นอกจากนี้เครื่องปรุงในอาหารอย่าง กระเทียม นอกจากให้ความอบอุ่นกับร่างกายได้แล้วยังช่วยลดไขมันในเส้นเลือดได้อีกด้วยซึ่งก็สามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ ส่วนการทานอาหารใน มื้อกลางวัน มื้อเย็น ที่จะช่วยเพิ่มความอบอุ่น ดูแลตน เองในช่วงหน้าหนาว อาจารย์นิเวศน์กล่าวเพิ่มเติมว่า อาหารที่เลือกทานช่วงกลางวันควรให้มีรสออกไปทางรสขมเย็น ช่วงกลางวันอุณหภูมิสูงขึ้น อย่าง มะระผัดไข่  ต้มจืดมะระ สะเดาน้ำปลาหวาน ฯลฯ เลือกนำมาทานได้ ส่วนมื้อเย็นการเลือกทานอาหารควรมีรสร้อนซึ่งช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสดชื่น อบอุ่นขึ้นหากเป็นเครื่องดื่มก็จะมี น้ำตะไคร้ น้ำขิง น้ำมะตูม เป็นต้น

          ช่วงฤดูหนาวแต่ละพื้นที่อุณหภูมิลดลง สัมผัสความเย็นได้แตกต่างกัน การปฏิบัติตนเองที่ช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้กับร่างกายที่ไม่ควรมองข้ามคือ การออกกำลังกาย โดยเฉพาะในช่วงเวลาเช้าเป็นการคลายความหนาวเย็นลงได้และไม่ว่าจะเป็นการเดิน  วิ่ง หรือ แกว่งแขนก็จะช่วยให้เพิ่มความแข็งแรงป้องกันการเจ็บป่วยที่จะเกิดขึ้นในฤดูหนาว นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยยืดเส้น คลายกล้ามเนื้อไม่ให้หดเกร็ง ระบบการไหลเวียนโลหิตดีขึ้น  โดยเฉพาะ ผู้สูงอายุ  ลูกหลานควรพาท่านออกมารับอากาศบริสุทธิ์ เดินเล่นรับแสงแดดยามเช้า การนั่งผิงไฟ พูดคุยกันก็เป็นอีกวิธีบรรเทาความหนาวซึ่งนอกจากได้ประโยชน์ในด้านสุขภาพยังเป็นการสานความสัมพันธ์ในครอบครัวอีกด้วย
          วิธีเพิ่มความอบอุ่นให้กับร่างกายไม่ว่าจะเป็นส่วนศีรษะ เท้าหรืออวัยวะที่อยู่ส่วนปลายสุดของร่างกายอย่างนิ้วมือ นิ้วเท้า และหูซึ่งเป็นอวัยวะที่มีความบอบบางก็มีความสำคัญ เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้ร่างกายสูญเสียความร้อนไปได้ง่าย การรักษาความอบอุ่นโดยเฉพาะผู้สูงอายุจึงควรใส่ถุงเท้า เสื้อกางเกงขายาว สวมใส่หมวกเพิ่มความอบอุ่นให้กับส่วนศีรษะฯลฯ อีกทั้งการดื่มน้ำไม่ควรดื่มเย็นจัด ควรดื่มน้ำในอุณหภูมิห้องหรือดื่มเครื่องดื่มอุ่น ๆ

          นอกจากนี้ช่วงหน้าหนาวต้อง ดูแลสุขภาพผิว ร่วมด้วยโดยพืชสมุนไพรที่มีคุณสมบัติโดดเด่นมีทั้ง น้ำมันงา น้ำมันมะกอกและน้ำมันมะพร้าว รวมถึงโลชั่นที่มีส่วนผสมธรรมชาติต่าง ๆ ซึ่งสามารถรักษาความชุ่มชื้นและยังช่วยดูแลสุขภาพ ป้องกันการเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาวได้ร่วมด้วย

          สิ่งทอช่วยบรรเทาความหนาว
          รศ.สุจิระ ขอจิตต์เมตต์ ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งทอ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ให้ความรู้เล่าถึงสิ่งทอช่วยบรรเทาความหนาวว่า ภูมิปัญญาไทยทางด้านสิ่งทอที่นำมาคลายความหนาวเย็น เรามีเสื้อผ้าที่ถัก นอกจากนี้ยังมีผ้าที่เกิดจากการทอขึ้นเพื่อนำมาสวมใส่  การถักเป็นเสื้อหนาวสวมใส่ทับเสื้อที่ปกติ ผ้าพ้วยที่อัดขึ้นรูปเป็นผืนผ้า โดยผ้าชนิดนี้ไม่ได้เกิดจากการทอและการถักเป็นอีกผืนผ้าที่ให้ความอบอุ่น ด้วยความที่เส้นใยประสานกันเองด้วยโครง สร้างของเขาจึงไม่มีช่องว่างของเส้นใย มากนัก โอกาสที่อากาศไหลผ่านเกิดขึ้นได้ น้อยมาก
          ปัจจุบันจะเห็นว่าวิศวกรรมทางสิ่งทอเจริญขึ้น ซึ่งเดิมนั้นใช้แต่เส้นใยคอตตอน เส้นใยฝ้ายหรือใช้เส้นใยธรรมชาติยังมีเส้นใยที่มนุษย์คิดค้นสกัดจากน้ำมันดิบ โดยแนฟทาจากน้ำมันดิบนำมาฉีดเป็นเส้นใยซึ่งก็เป็นเส้นใยที่มีโครงสร้างไม่เหมือนเส้นใยธรรมชาติจะมีความวาบมันสูงในตัว มีความเหนียวสูงและมีค่าการยืดหยุ่นตัวสูง  เมื่อนำตัวเส้นใยชนิดนี้มาทอเป็นผืนผ้า จะมีความมันสูง ระบายความร้อนได้ยากซึ่งก็จะช่วยรักษาอุณหภูมิไว้ในร่างกายทำให้เสื้อผ้าที่ตัดเย็บด้วยเนื้อผ้าชนิดนี้มีความอบอุ่นตลอดเวลา

          เสื้อหนาวโดยทั่วไป ตัวเสื้อจะมีวิธีการตกแต่งโครงสร้างเสื้อกันหนาวด้วยการใส่ผ้าอัดลงไปในเสื้อหนาวเพื่อให้เกิดความอบอุ่นซึ่งถ้าจะเลือกเป็นเส้นใยคอตตอน โดยทั่วไปก็ใช้ได้แต่ก็จะมีการใส่วัสดุเสริมเข้าไปเพื่อช่วยเพิ่มความอบอุ่นยิ่งขึ้น
          การเลือกสิ่งทอเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและมีความคุ้มค่าในการนำมาใช้  โดยปกติบ้านเราจะมีความหนาวเป็นช่วงสั้น ๆ ถ้าแนะนำควรเลือกใช้ผ้าที่มีโครงสร้างที่สามารถใช้ในฤดูอื่นได้ด้วย โดยเลือกใช้เส้นใยประสมอย่างเช่น คอตตอนผสมโพลิ เอสเตอร์ มีส่วนที่เป็นผ้าอัด ผ้าไม่ทอซับอยู่ด้านในก็น่าจะเพียงพอ
          อีกทั้งการเลือกเสื้อหนาวอาจใช้วิธีง่าย ๆ ในการทดสอบว่ามีความอบอุ่นหรือไม่โดยอาจใช้วิธีการทาบไปที่ปากแล้วเป่าลม ถ้าเป่าแล้วลมผ่านไปได้ง่าย สัมผัสได้ก็อาจไม่เหมาะ กับการสร้างความอบอุ่นให้กับร่างกาย  เพราะอากาศไหลผ่าน ความละเอียดอ่อนของโครง สร้างผ้าน้อยมีช่องว่างอากาศ แต่ถ้าเป่าแล้วอากาศไม่ไหลผ่านก็จะช่วยรักษาอุณหภูมิร่างกายเราได้ เป็นต้น

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2556  หน้า 4
          ทีมวาไรตี้

AttachmentSize
16ธ.ค.56_เดลินิวส์_บรรเทาหนาวด้วยสมุนไพร.pdf2.11 MB
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้