4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

วิจัยสุขภาพมิติใหม่กับการต่อยอดเชิงพาณิชย์

          “งานวิจัยและพัฒนา” นับได้ว่าเป็นเบื้องหลังความสำเร็จของการพัฒนาในแทบทุกเรื่อง  รวมไปถึงอุตสาหกรรมการผลิตในเชิงพาณิชย์ของภาคธุรกิจด้วย  ซึ่งจำเป็นต้องมีการพัฒนาและควบคุมคุณภาพให้ได้มาตรฐานการผลิตตามหลักวิชาการ  ดังนั้นองค์กรภาควิชาการอย่างสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จึงมีแนวคิดที่จะเชื่อมโยงงานวิจัยและการพัฒนา โดยจับมือกับภาคธุรกิจต่อยอดงานวิชาการสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า และพัฒนาคุณภาพตามความต้องการของตลาด  ทั้งที่ใช้บริโภคในประเทศและเพื่อการส่งออก  ตลอดจนการเพิ่มขีดความสามารถของการแข่งขันในตลาดโลก เพื่อส่งผลต่อตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) ที่สูงขึ้น และหลุดพ้นจากการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางในที่สุด

          สวรส. จึงเปิดหน้างานใหม่ หวังเชื่อมงานวิจัยกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยเริ่มต้นจากการไปศึกษาดูงานกระบวนการเลี้ยงและผลิตไก่แบบครบวงจรของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ (CPF) ณ ฟาร์มและโรงงานแปรรูป จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา  ซึ่งการดูงานครั้งนี้ได้มีทีมนักวิจัยจากแผนงานวิจัยระบบยา ของ สวรส.ร่วมลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลเพื่อการต่อยอดประเด็นงานวิจัย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงไก่และรักษาไก่ที่ป่วย การให้วัคซีน การติดเชื้อ ฯลฯ

          โดยมี คุณณรงค์ เจียมใจบรรจง รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส และคณะผู้บริหารซีพีเอฟ ให้การต้อนและนำเยี่ยมชมฟาร์มเลี้ยงไก่ 2 ที่คือ ฟาร์มอวยชัย 1 (ฟาร์มของบริษัทฯ) และฟาร์มบุญธารทอง (ฟาร์มของเกษตรกรที่เป็น contact farming กับบริษัทฯ)  และได้นำเสนอให้เห็นถึงกระบวนการเลี้ยงไก่ด้วยระบบปิด (โรงเรือนเป็นแบบปิด)  และเน้นใช้พันธุ์ไก่ที่มาจากประเทศแถบอเมริกาและยุโรป เพราะเป็นสายพันธุ์ที่ดี  พร้อมมีสัตวแพทย์และสัตวบาลเป็นผู้ควบคุมการดูแลผ่านระบบคอมพิวเตอร์อยู่ภายนอก  ไม่ว่าจะเป็น การให้น้ำ ให้อาหาร การควบคุมอุณหภูมิ แรงดันอากาศ การติดตามน้ำหนักของไก่ การให้วัคซีน การทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ ภายในเล้า ฯลฯ โดยวงจรชีวิตของไก่เนื้อจะใช้เวลาประมาณ 45 วันถึงจะนำไปแปรรูปได้ 

          ด้าน contact farming ที่ทำสัญญากับบริษัทฯ ก็ต้องได้รับความรู้และการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของโรงเรือนร่วมกัน เพื่อให้การดำเนินงานในกระบวนการเลี้ยงไก่มีมาตรฐานเดียวกับ CPF  ดังตัวอย่างจากฟาร์มบุญธารทองของ คุณเดชประเสริฐ จุไรวรรณสุทธิ  ฟาร์มเลี้ยงไก่ขนาดใหญ่ที่มีโรงเรือนแบบระบบปิดจำนวน 24 หลัง  มีพื้นที่รวมทั้งฟาร์ม 43,200 ตารางเมตร  จำนวนไก่ที่เลี้ยงต่อรุ่นประมาณ 475,000 ตัว  ฟาร์มบุญธารทองเริ่มต้นดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 โดยไก่รุ่นที่เลี้ยงในปัจจุบันนับเป็นรุ่นที่ 41 แล้ว  มีคนงานทั้งหมด 17 คน ซึ่งการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทำให้ไม่ต้องใช้คนจำวนมากในการเลี้ยงไก่หลายแสนตัว  

          คุณเดชประเสริฐ จุไรวรรณสุทธิ เล่าเสริมว่า “ฟาร์มของเรามีการดำเนินงานที่ได้ตามมาตรฐานของ CPF  โดยเน้นเรื่องความสะอาดเป็นสำคัญ เพื่อป้องกันการติดเชื้อในไก่ที่เราเลี้ยงเป็นจำนวนมาก  รวมทั้งมีการควบคุมคุณภาพและให้คำปรึกษาโดยทีมงานจาก CPF เช่น การทำความสะอาดฟาร์มเพื่อเปลี่ยนรุ่นไก่ ต้องเว้นพักประมาณ 18-20 วัน หรือไม่น้อยกว่า 14 วัน ซึ่งเป็นจำนวนวันของการฟักตัวของวงจรโรคในสัตว์ปีก เป็นต้น

          ปัจจุบัน CPF มีเครือข่ายเกษตรกรกว่า 16 จังหวัดทั่วประเทศ รวมกว่า 130 ราย โดยบริษัทฯ จะศึกษาความต้องการในแต่ละพื้นที่ก่อน หากพื้นที่ไหนตลาดมีแนวโน้มดี มีความต้องการสูง ก็จะเข้าไปส่งเสริมในพื้นที่นั้นๆ พร้อมมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยการใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีในการจัดการการเลี้ยงสัตว์ที่คำนึงถึงสวัสดิภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของสัตว์  โดยการนำหลักปฏิบัติที่ดีด้านสวัสดิภาพสัตว์ตามหลักอิสระ 5 ประการมาประยุกต์ใช้ ซึ่งได้แก่ สัตว์ที่เลี้ยงจะต้องปราศจาก 1.ความหิวและกระหาย   2.ความไม่สะดวกสบาย  3.โรคภัยและบาดเจ็บ  4.ความกลัวและตื่นตกใจ  และ 5.มีอิสระที่จะแสดงพฤติกรรมธรรมชาติ  ซึ่ง CPF เป็นบริษัทแรกนอกสหภาพยุโรปที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ปีกสำหรับการผลิตอาหารแปรรูปตามมาตรฐาน (Assured Chicken Production หรือ ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Red Tractor Assurance ) จากประเทศอังกฤษ  

          การศึกษาดูงานครั้งนี้ เห็นได้ชัดว่า กระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร จำเป็นต้องมีความรู้ทางด้านวิชาการมากำกับตลอดสายพานการผลิตเพื่อให้เกิดผลปลายทาง อาทิ การผลิตอาหารที่เพียงพอกับความต้องการในการบริโภค  ความปลอดภัยของอาหาร  ความมีเสถียรภาพในการผลิต  การเข้าถึงอาหารของประชากร ฯลฯ  ดังนั้น สวรส.จึงเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนากรอบงานวิจัยร่วมกับภาคเอกชน  และพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เพื่อการนำผลงานวิจัยไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ที่ส่งผลต่อการพัฒนาในภาพรวมของประเทศในอนาคตต่อไป

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้