หากสมมติเราต้องการให้คนในชุมชนมีสุขภาพกายและจิตที่ดี การศึกษาสภาพปัญหาในสถานบริการเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ เพราะนอกเหนือจากบริการทางการแพทย์แล้ว ยังมีปัจจัยอื่นอีกมากที่เกื้อหนุน หรือ ชะลอการพัฒนาของชุมชน ไม่ว่าจะปัจจัยทางการเมือง การคลัง สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม พฤติกรรม
การพุ่งความสนใจไปที่สถานพยาบาล โดยไม่มองภาพใหญ่ของชุมชน ซึ่งประกอบด้วยบุคคลและองค์กรทั้งภายในและภายนอกระบบสาธารณสุข จะทำให้การพัฒนาชุมชนให้เป็นชุมชนที่น่าอยู่สำหรับคนในชุมชนเป็นจริงได้ยาก
การมองปัญหาอย่างเป็นองค์รวมเช่นนี้ คือ ลักษณะสำคัญของการวิจัยเชิงระบบ ซึ่งต้องอาศัยการทำงานและสื่อสารระหว่างผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา และอาศัยการดึงผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยเข้ามามีส่วนร่วม
งานวิจัยสุขภาพที่มองเชิงระบบจึงแตกต่างจากงานวิจัยสุขภาพอื่นๆ อาทิ งานวิจัยเพื่อค้นหายาและเทคโนโลยีทางการแพทย์ งานวิจัยเพื่อศึกษาประสิทธิภาพของการรักษา หรืองานวิจัยเพื่อสำรวจสุขภาวะระดับประชากร งานวิจัยดังกล่าวมักมีการทำแบบแยกส่วน แยกความชำนาญ กล่าวคือ นักวิจัยกลุ่มหนึ่งอาจคิดค้นตำรับยาสำหรับรักษาการติดเชื้อเอชไอวี นักวิจัยกลุ่มหนึ่งอาจคิดค้นกลยุทธ์ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี นักวิจัยกลุ่มหนึ่งอาจเปรียบเทียบประสิทธิภาพของมาตรการรักษาการติดเชื้อเอชไอวีรูปแบบต่างๆ
ขณะที่นักวิจัยที่มองปัญหาเชิงระบบจะพิจารณาปัญหาโดยนำองค์ความรู้ทุกประเด็นมาประมวล ร่วมกับการวิเคราะห์บริบททางการเงิน กำลังคน การอภิบาล ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้มั่นใจว่า นโยบายป้องกันและรักษาการติดเชื้อเอชไอวีด้วยมาตรการที่ผ่านการพิสูจน์ประสิทธิภาพแล้ว จะครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม เมื่อมีการนำออกมาใช้นั่นเอง
ตัวอย่างข้างต้นยังแสดงให้เห็นลักษณะสำคัญอีกประการของงานวิจัยเชิงระบบ นั่นคือ ความเกี่ยวโยงกับนโยบายสุขภาพ ไม่ว่าจะระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค ระดับชาติ ระดับโลก นักวิจัยที่ศึกษาปัญหาเชิงระบบจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องคลุกคลีกับผู้กำหนดนโยบาย ผู้บริหารสถานพยาบาล องค์กรอิสระ องค์กรเอกชน และชุมชน ตั้งแต่เริ่มจนสิ้นสุดกระบวนการวิจัย ทั้งนี้เพื่อให้เห็นสภาพปัญหาทุกแง่มุมโดยถ่องแท้ ต่างจากนักวิจัยสาขาอื่นที่ต้องพยายามรักษาระยะห่างจากผู้ใช้ประโยชน์หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อลดอคติในการทำวิจัย
งานวิจัยเชิงระบบยังต่างจากงานวิจัยทั่วไปตรงที่ไม่ยึดถือระเบียบวิจัยเคร่งครัด หลายครั้งข้อสรุปที่ได้จึงอาจไม่ชี้ชัดเด็ดขาดเท่างานวิจัยอื่น เพราะผ่านกระบวนการรวบรวม วิเคราะห์ และแปลข้อมูลที่ต่างกัน กระนั้นข้อสรุปที่ได้ก็มีความน่าเชื่อถือไม่ต่างจากงานวิจัยลักษณะอื่น เพราะได้จากการสืบค้นสาเหตุอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ข้อเสนอที่ได้จากงานวิจัยจึงอาจไม่สมบูรณ์ที่สุด แต่ก็ถือว่าเข้าทีที่สุดสำหรับสภาวการณ์ ณ ขณะนั้น ทั้งยังนำไปแก้ปัญหา ณ จุดอื่นที่มีบริบทคล้ายคลึงกันได้ อีกด้วย
กล่าวโดยสรุป การวิจัยระบบสุขภาพเป็นการศึกษาที่อาศัยการผสมผสานของศาสตร์หลายสาขา ได้แก่ แพทยศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ ระบาดวิทยา เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ เพื่อคลี่ปมปัญหาในประเด็นต่างๆ ของระบบสุขภาพ จนเห็นสายใยของการเชื่อมต่อที่สมบูรณ์ อันจะนำไปสู่การกำหนดนโยบายที่เหมาะสมสำหรับนำไปปฏิบัติต่อไป
คำอธิบายภาพประกอบ: การวิจัยประเด็นสุขภาพเชิงระบบ คือ การศึกษาประเด็นสุขภาพที่อยู่ในความสนใจ โดยพิจารณาประเด็นตามองค์ประกอบใน ระบบสุขภาพ ร่วมกับวิเคราะห์บริบททางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมทั้งภายในและภายนอกประเทศ งานวิจัยประเด็นสุขภาพเชิงระบบจึงต้องอาศัยศาสตร์หลายสาขา และเพราะมีจุดประสงค์ คือ ๑) ศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพเพื่อกำหนดเป็นนโยบาย และ/หรือ ๒) ประเมินผลสัมฤทธิ์ของนโยบายเพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น จึงมีความเชื่อมโยงกับนโยบายสุขภาพเป็นอย่างมาก
หมายเหตุ ภาพประกอบดัดแปลงจาก Gilson L. ed. Health policy and systems research: a methodology reader- the abridged version. Alliance for Health Policy and Systems Research. Geneva, WHO, 2012.
เอกสารอ่านเพิ่มเติม
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้