4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

Road Show ภูมิภาค เปิดตัว “ระบบขอทุนวิจัยจุดเดียวแบบเบ็ดเสร็จ” One Stop Service พร้อมส่งต่อข้อมูลรัฐ-เอกชน ขยายผล

          7 องค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ เดินสายเปิดตัว “ระบบขอทุนวิจัยจุดเดียวแบบเบ็ดเสร็จ” ตามภูมิภาค ประเดิมที่แรก จ.ขอนแก่น นักวิจัยกว่า 400 คน แห่ทดลองระบบฯ ก่อนใช้จริงต้นปี 57 พร้อมแนะนำฐานข้อมูลงานวิจัย เล็งรัฐ-เอกชนใช้ประโยชน์ต่อยอดสู่การพัฒนาประเทศ

          เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2556 ที่ผ่านมา เครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ หรือ คอบช. ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์เละเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้จัดการสัมมนา “ระบบการยื่นขอทุนวิจัยจุดเดียวแบบเบ็ดเสร็จ” (One Stop Service for National Research Management System) ณ โรงแรมพูลแมน ราชาออคิด จ.ขอนแก่น โดยมี นางสาวสุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการสัมมนา

          นางสาวสุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาการบริหารจัดการงานวิจัยของประเทศเป็นแบบแยกส่วนกันดำเนินงาน  แต่ละองค์กรก็บริหารจัดการงานวิจัยและทุนวิจัยที่แตกต่างกันไป ทำให้ไม่สามารถมีฐานข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์และวางแผนการพัฒนาระบบวิจัยของประเทศในภาพรวมได้  แต่ปัจจุบันองค์กรบริหารงานวิจัยของประเทศได้ปรับกลยุทธ์ใหม่  โดยร่วมกันบูรณาการเพื่อให้เกิดการบริหารงบประมาณด้านการวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความซ้ำซ้อน และมุ่งเน้นการนำไปใช้ประโยชน์ได้ตรงตามความต้องการของประเทศ  จึงนับเป็นก้าวสำคัญของการปฏิรูประบบวิจัยของประเทศ  ทั้งนี้การจัดสัมมนาเพื่อเผยแพร่และแนะนำระบบการยื่นของทุนวิจัยจุดเดียวแบบเบ็ดเสร็จ จะจัดขึ้นทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อแนะนำและทำความเข้าใจกับนักวิจัย พร้อมสาธิตการใช้งานระบบฯ เพื่อนักวิจัยจะสามารถใช้ยื่นข้อเสนอโครงการวิจัยมุ่งเป้าสาขาต่างๆ ได้อย่างเต็มรูปแบบในช่วงต้นปี 57 นอกจากนี้คาดว่าหลังจากระบบฐานข้อมูลต่างๆ ของงานวิจัยไทยมีข้อมูลจำนวนมากขึ้น องค์กรภาครัฐและเอกชนจะสามารถเข้ามาใช้ข้อมูลในระบบเพื่อนำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาประเทศได้อย่างแน่นอน  และเชื่อว่าความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องและจริงจังจะทำให้ฐานข้อมูลงานวิจัยของประเทศมีการบูรณาการอย่างเป็นระบบ และเกิดการใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ

          ในการสัมมนาครั้งนี้ นอกจากการแนะนำระบบการยื่นขอทุนวิจัยจุดเดียวแบบเบ็ดเสร็จ (Single Window) ที่จะช่วยให้นักวิจัยสะดวกมากขึ้น โดยการกรอกข้อมูลยื่นข้อเสนอโครงการวิจัยผ่านระบบขอทุนวิจัยจุดเดียวแบบเบ็ดเสร็จเพียงครั้งเดียวจะสามารถนำข้อมูลกลับมาใช้ได้ใหม่และใช้ได้ตลอดไป ตลอดจนการเชื่อมโยงงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์โดยกลุ่มต่างๆ เช่น นักธุรกิจ องค์กรภาครัฐ-เอกชน ฯลฯ แล้ว ยังมีการแนะนำฐานข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ ด้านวิยาศาสตร์และเทคโนโลยี  และระบบการลงทะเบียนงานวิจัยแบบทดลองทางคลินิกของประเทศไทย (Thai Clinical Trials Registry) ด้วย

          ฐานข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ ด้านวิยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นฐานข้อมูลที่รวบรวมข้อมูลศักยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไว้ในฐานข้อมูลเดียวกัน โดยให้บริการสืบค้นข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แบบ One Stop Service ผ่านเว็บไซต์ที่เข้าถึงได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้เกิดการใช้งานเครื่องมือ อุปกรณ์และห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์อย่างทั่วถึง คุ้มค่า และเต็มประสิทธิภาพ ปัจจุบันมีจำนวนข้อมูลในระบบ อาทิ ผลงานวิจัย 35,834 ผลงาน นักวิจัย 11,414 ราย ห้องปฏิบัติการ 184 ห้อง เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ 1,771 รายการ ซึ่งการจัดทำฐานข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐฯ เป้าหมายเพื่อ บ่มเพาะผู้ประกอบการฐานธุรกิจเทคโนโลยี วิจัย ส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยี พัฒนาบุคลากรด้านอุทยานวิทยาศาสตร์ พัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการเพื่อบริการแก่ภาคเอกชน ออกแบบนวัตกรรมและให้คำปรึกษาทางเทคโนโลยี ทั้งนี้ฐานข้อมูลดังกล่าวได้มีการเชื่อมโยงกับคลังข้อมูลงานวิจัยไทยของ คอบช.ด้วย

          ด้านระบบการลงทะเบียนงานวิจัยแบบทดลองทางคลินิกของประเทศไทย (Thai Clinical Trials Registry : TCTR) เป็นระบบลงทะเบียนงานวิจัยแบบทดลองทางคลินิกทุกประเภท ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากองค์การอนามัยโลก และได้รับการรับรองเป็น Primary Registry จากองค์การอนามัยโลกด้วย ซึ่งงานวิจัยแบบทดลองทางคลินิกที่ได้มาลงทะเบียน TCTR แล้ว จะสามารถตีพิมพ์ในวารสารในกลุ่ม International Committee of Medical Journal Editors (ICMJE) และกลุ่มอื่นๆ ที่ใช้ข้อบังคับเดียวกับ ICMJE ได้  รองรับการลงทะเบียนของนักวิจัยทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งต้องมีการลงทะเบียนงานวิจัยแบบทดลองทางคลินิกก่อนทำการวิจัยในอาสาสมัครรายแรก  โดยนักวิจัยทางด้านคลินิกสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.clinicaltrials.in.th


          สำหรับกิจกรรมสัญจร (Road Show) แนะนำระบบการยื่นขอทุนวิจัยจุดเดียวแบบเบ็ดเสร็จ ครั้งต่อไปจะจัดขึ้นในวันที่ 29 พ.ย. 2556 จ.สงขลา และ 12 ธ.ค. 2556 จ.เชียงใหม่ จึงขอเชิญชวนนักวิจัยและหน่วยงานวิจัยที่สนใจเข้าร่วมการสัมมนา โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ วช. โทร.0-2561-2445 ต่อ 468, 521 หรือ www.nrct.go.th

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้