4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

ปรับโฉม สธ. 'งานวิจัย' เคลื่อนแนวคิด 'เขตสุขภาพ'

          นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 เป็นต้นมา กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีการปรับเปลี่ยนบทบาทตามนโยบายการปฏิรูประบบสุขภาพของ น.พ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้เท่าทันต่อสถานการณ์ในสังคมที่เปลี่ยนไป
          การ "เปลี่ยนแปลง" ครั้งใหญ่นี้ นับเป็นความท้าทายผู้บริหารระดับสูงเป็นอย่างมาก ฉะนั้นผู้นำจะต้องมีความกล้าคิด ตัดสินใจ และโน้มน้าวให้บุคลากรทั้งระดับบริหารและระดับปฏิบัติการ โดยมีเป้าหมายคือ "สุขภาพที่ดีของประชาชน" และสิ่งสำคัญเช่นกันก็คือ งานวิจัย ซึ่งจะเป็นข้อมูลหรือหลักฐานเชิงประจักษ์บนฐานของความรู้อย่างรอบด้าน สำหรับนำมากำหนดแผนการปฏิบัติให้มีทิศทาง


          น.พ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุขครั้งนี้ส่วนหนึ่งมีแนวคิดมาจากผลการประชุมเชิงปฏิบัติการ "สังเคราะห์ข้อเสนอบทบาทกระทรวงสาธารณสุขในศตวรรษที่ 21" ที่เกิดเมื่อปี 2554 โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งใช้กระบวนการพัฒนาแบบ inside-out และ outside-in approach ที่ทุกภาคส่วนได้พิจารณาข้อเสนอการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ระบบสร้างเสริมสุขภาพ ระบบควบคุมป้องกันโรค และระบบการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงเป็นที่มาของ "บทบาท National Health Authority (NHA) ของกระทรวงสาธารณสุข"

          "ส่วนข้อเสนอเรื่องเขตสุขภาพนั้น เนื่องจาก สธ.ถูกมองว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน หากยังมีหน้าที่เป็นทั้งผู้ให้บริการและเป็นผู้ควบคุมหรือตั้งกฎ ดังนั้นจึงมีข้อเสนอเรื่องเขตสุขภาพเพื่อแยกบทบาทโดยให้เขตสุขภาพทั้ง 12 เขตทำหน้าที่ให้บริการ และส่วนกลางทำหน้าที่ควบคุมดูแล การมองไปข้างหน้าจึงเน้นการทำงานและลงทุนทรัพยากรร่วมกัน โดยให้ความสำคัญกับเรื่องเขตบริการสุขภาพ และการปรับบทบาทกระทรวงฯ 11 เรื่อง"

          ทั้งหมดนี้จะต้องทำแผนปฏิบัติการ เมื่อดำเนินการตามแผนนี้แล้ว จะมอบให้ สวรส.เป็นผู้ดำเนินการติดตามประเมินผลที่เกิดขึ้นต่อไป

          "เขตสุขภาพ" นับเป็นกลไกที่สำคัญจากการ "ปฏิรูป" ครั้งนี้ โดยในระดับกลุ่มจังหวัด 1 เขต จะมีประชากรราว 4-5 ล้านคน จัดบริการในรูปแบบเขตสุขภาพ 12 เขตสุขภาพ ไม่รวม กทม. มีผู้ตรวจราชการ สธ.เป็นผู้ดูแล มีอำนาจในการกระจายงบประมาณลงไปยังสถานบริการ การจัดซื้อ การจัดจ้าง และการจ้างบุคลากร รวมถึงการจัดบริการร่วมของแต่ละโรงพยาบาลในเขตสุขภาพ กลไกนี้จะเป็นกลไกหลักในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ระบบสร้างเสริมสุขภาพและควบคุมป้องกันโรค โดยวิธีหลักคือการจัดบริการ "ร่วม" ตามผังบริการ

          ความจำเป็นที่ต้องมี "เขตสุขภาพ" นั้น น.พ.ณรงค์ ยกตัวอย่างว่า เมื่อรวมตัวกันเป็นเขตสุขภาพแล้วโรงพยาบาลขนาดเล็กและขนาดใหญ่จะช่วยเหลือกันได้ เช่น หากโรงพยาบาลขนาดเล็กรักษาคนไข้ไม่ไหวก็จะส่งต่อให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่ และเมื่อรวมกลุ่มกันมากๆ แล้วจัดซื้อยารวมกัน แน่นอนว่าจะได้ราคาที่ถูกลง เมื่อแต่ละเขตสุขภาพวางยุทธศาสตร์ร่วมกันได้ โรงพยาบาลแต่ละแห่งก็จะผลักดันความเป็นเลิศที่แตกต่างกันออกไป ส่งผลให้ผู้ป่วยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญครบทุกสาขาในพื้นที่ใกล้เคียงกัน จากนี้จึงไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้ามารักษาตัวในกรุงเทพฯ

          หัวใจสำคัญของการปฏิรูปบทบาทกระทรวงสาธารณสุขครั้งนี้ ภายใต้แนวคิดเรื่องเขตสุขภาพ คือ การเปลี่ยนแปลงบนฐานความรู้มีส่วนสำคัญ ที่จะเป็นเครื่องมือในการการันตีเพื่อสนับสนุนและจัดการความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้ถูกนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการชี้นำที่ก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างมีทิศทาง และส่งผลให้เกิดการปฏิรูประบบสุขภาพ

          ที่ผ่านมา สวรส.ก็ได้ทำหน้าที่สร้างองค์ความรู้เพื่อสนับสนุนการปฏิรูป สธ.เรื่อยมา ดังจะเห็นได้จากข้อมูลงานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและเป็นฐานคิดให้เกิดการปฏิรูประบบสาธารณสุข เช่น บทบาทที่เหมาะสมของกระทรวงสาธารณสุขภายใต้การกระจายอำนาจด้านสาธารณสุข การพัฒนาข้อเสนอรูปแบบและโครงสร้างการบริหารเขตสุขภาพ การวิจัยและพัฒนาการบริหารจัดการระบบสาธารณสุขในระดับพื้นที่ ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การศึกษารูปแบบ แนวทาง ระบบบริหารจัดการเขตสุขภาพในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นต้น และยังมีข้อเสนอที่ได้จากโครงการศึกษาวิจัยที่อยู่ระหว่างการนำเสนอผลการศึกษา เช่น โครงการการจัดทำข้อเสนอและสนับสนุนการบริหารการเปลี่ยนแปลงกระทรวงสาธารณสุข : ระยะที่ 1


          ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ผอ.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า สวรส. มีหน้าที่ในการสร้างองค์ความรู้เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบต่างๆ เพื่อให้มีความพร้อมต่อการปรับตัว และมีความยืดหยุ่นต่อการรองรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากสถานการณ์ใหม่ๆ ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคลังทางด้านสุขภาพ เรื่องกำลังคน เรื่ององค์ความรู้ทางการแพทย์ เรื่องกฎหมายที่ต้องปรับตัว รวมไปถึงเรื่องบทบาทและความร่วมมือของภาคีทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพทั้งหมด เพื่อเสริมสร้างระบบสุขภาพทั้ง 3 ระบบ คือระบบบริการ ระบบหลักประกันสุขภาพ และระบบอภิบาลให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน

          "สวรส.มุ่งหวังให้การตัดสินใจทุกการตัดสินใจของผู้บริหารหรือผู้กำหนดนโยบายอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง เพราะการเปลี่ยนแปลงทุกครั้งจะต้องอาศัยองค์ความรู้เป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนา ซึ่งเราจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการจัดการสร้างองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อนำเสนอแก่ผู้บริหารระดับสูงในการตัดสินใจเดินหน้าพัฒนาระบบสุขภาพ ซึ่ง สวรส.และฝ่ายบริหารจะร่วมเดินไปด้วยกันเพื่อถมช่องว่างต่างๆ ในระบบสุขภาพด้วยงานวิจัย" ผอ.สวรส. กล่าว ด้าน น.พ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องเขตสุขภาพจำเป็นต้องอาศัยงานวิชาการเป็นตัวนำเพื่อให้การเปลี่ยนแปลงหรือการเดินไปข้างหน้าอย่างมีทิศทาง ซึ่งผลการศึกษาวิจัยนี้มีประโยชน์อย่างยิ่ง แต่ทั้งนี้เพื่อให้การขับเคลื่อนเรื่องนี้มีความสอดคล้องกับบริบทต่างๆ มากขึ้น ภายใต้หลักและกระบวนการสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา คือ การนำความรู้ที่ได้จากงานวิจัยไปผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมที่กว้างขวางขึ้น ทั้งจากภาคประชาชนผู้รับบริการ จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่กว้างขวางขึ้น ตลอดจนการตัดสินหรือให้ความคิดเห็นของฝ่ายนโยบาย ซึ่งจะทำให้แนวทางการพัฒนาเขตสุขภาพมีความสมบูรณ์ขึ้น ภายใต้สถานการณ์สำคัญของการเปลี่ยนผ่านอีกครั้งของกระทรวงสาธารณสุข

ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง ฉบับวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 หน้า 6

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้