4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

'เด็กไทย'ได้อะไร?? จากการ'ชุมนุม'

          บรรยากาศบ้านเมืองในเวลานี้ ประเด็นฮ็อตคงหนีไม่พ้นเรื่องการคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่แทบทุกภาคส่วนของสังคมให้ความสนใจ จนปฏิเสธไม่ได้ว่าเด็กๆ ลูกหลานของเราต้องได้รับรู้เรื่องราวดังกล่าวบ้างไม่มากก็น้อย คำถามคือ ท่ามกลางประเด็นความขัดแย้งอันร้อนแรงระหว่างคนในชาติกับรัฐบาลเช่นนี้ เราในฐานะพ่อแม่ผู้ปกครอง หลงลืมไปหรือเปล่าว่ายังมีเจ้าตัวน้อยตาแป๋ว มองดูการกระทำของเราอยู่ทุกขณะ ลูกหลานของเราได้เรียนรู้อะไรบ้างในช่วงเวลานี้ เราสอนอะไรพวกเขาได้บ้างและมีสิ่งใดบ้างที่พ่อแม่ควรระวัง มาคำตอบไปพร้อมๆ กันคะ

          เผื่อทางเลือกให้ผ้าขาว
          ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา หลายคนอาจเห็นภาพเจ้าตัวน้อยถือป้ายสีดำมีข้อความคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมกันผ่านตาทางโซเชียล เน็ตเวิร์ค หรือภาพเด็กนักเรียนยืนทำมือเป็นรูปกากบาท ส่งสัญญาณว่าไม่เอา ผ่านตากันมาบ้าง แน่นอนว่าเด็กๆ เหล่านี้ อาจเด็กเกินไปที่จะเข้าใจว่าพวกเขากำลังทำอะไร ผู้ใหญ่บอกให้ทำ เด็กน้อยเห็นเป็นเรื่องสนุกก็ทำตาม  พญ.ปราณี เมืองน้อย จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี(รพ.เด็ก) กรมการแพทย์ ให้ความเห็นว่า “ในความเป็นจริงแล้ว เจ้าตัวน้อยยังไร้เดียงสาเกินกว่าจะรู้ว่าสิ่งที่เขาทำมีความหมายว่าอย่างไร ไม่ผิดหากคุณพ่อคุณแม่มีความเชื่อทางการเมืองแบบหนึ่ง และต้องการให้ลูกมีความเชื่อแบบเดียวกัน แต่การนำความคิดความเชื่อของผู้ใหญ่ใส่มือเด็ก โดยที่พวกยังไม่สามารถคิดวิเคราะห์ได้เพียงพอ ก็เหมือนเป็นการระบายสีที่คุณชอบลงบนผ้าสีขาว โดยไม่เปิดทางเลือกให้เจ้าตัวน้อยได้ผ่านกระบวนการเติบโต เรียนรู้และค้นพบความเป็นตัวของตัวเอง เด็กๆ ควรมีโอกาสได้อ่านหนังสือ หาความรู้จากสื่อต่างๆ เพื่อค้นพบว่าเขามีรสนิยมทางการเมืองแบบไหน (เสรีนิยม สังคมนิยม อำนาจนิยม อนุรักษนิยม ชาตินิยม โลกาภิวัฒน์นิยมฯลฯ) โดยมีผู้ใหญ่เป็นผู้ให้คำแนะนำด้วยเหตุผล ซึ่งจะทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้มากกว่าการชี้นิ้วบอกทาง

          สังคมที่ดี พ่อแม่สร้างได้
       พญ.ปราณี เมืองน้อย ยังให้กล่าวต่ออีกว่า  ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ คงไม่มีใครคัดค้านว่ามาจากการที่คนในสังคม ไม่ทำตาม “หน้าที่ของตัวเองและกฏเกณฑ์ทางสังคมอย่างถูกต้อง” ทำให้ต้องมีการคัดค้านมากมาย สำหรับพ่อแม่แล้ว หน้าที่ที่ดีที่สุดที่คุณทำได้ก็คือ การเลี้ยงดูเจ้าตัวน้อยให้เติบโตมาอย่างมีเหตุผล รู้จักคิดวิเคราะห์ รู้หน้าที่ แยกแยะผิดถูกได้ตามเหตุผล(ไม่ใช่อารมณ์) เพื่อที่ว่าสังคมของเราต่อไปในอนาคตจะได้ไม่ต้องเผชิญกับปัญหาเช่นนี้อีก หากพ่อแม่ทุกคนในสังคมนี้ร่วมมือกัน ความเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดขึ้นได้ด้วยสองมือของคุณเอง

          พลิกวิกฤต เป็นโอกาส
          อย่าลืมว่า เด็กๆ เรียนรู้จากการเลียนแบบพฤติกรรม มากกว่าคำสอนของคุณพ่อคุณแม่ ดังนั้น ทุกๆ การกระทำ ทุกๆ คำพูดของคุณต่อหน้าเจ้าตัวน้อย เด็กๆ จะซึบซับและจดจำ แม้บางครั้งอาจไม่เข้าใจความหมายของสิ่งที่คุณกำลังพูด แต่เด็กๆ ก็จับอารมณ์และน้ำเสียงได้ โดยเฉพาะในการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองที่มีความเป็นไปได้ว่าอารมณ์ของคุณจะคุกรุ่นขึ้นเรื่อยๆ ทุกครั้งที่พูด การควบคุมอารมณ์และระวังคำพูดต่อหน้าเจ้าตัวน้อยจึงเป็นสิ่งสำคัญ  โดยเฉพาะเด็กวัยต่ำกว่า 12 ปี ที่พัฒนาการด้านอารมณ์และความคิดยังพัฒนาไม่เต็มที่ หากได้ยินได้ฟังการวิพากษ์วิจารณ์ที่เต็มไปด้วยอารมณ์ หรือเห็นภาพการชุมนุม การปราศัยที่ดุดันผ่านสื่อ เด็กจะไม่สามารถแยกแยะหรือจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองได้อย่างเหมาะสม ทำให้เด็กได้รับผลกระทบจากความตึงเครียดนี้จนอาจส่งผลให้เด็ก ๆ มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป งอแงมากขึ้น เบื่ออาหาร   นอนไม่หลับ ขาดสมาธิในการเรียนหรือทำกิจกรรม  จนไปถึงการเลียนแบบความรุนแรงทางวาจาหรือทางอารมณ์ของผู้ใหญ่

          สำหรับเด็กโต พ่อแม่ควรใช้โอกาสนี้เป็นตัวอย่างที่ดี โดยการศึกษาหาข้อมูลให้กระจ่าง เพื่อทำการแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นเหตุเป็นผล เพื่อให้ลูกเรียนรู้ว่าระบอบประชาธิปไตยการแสดงความคิดเห็นเป็นสิ่งที่กระทำได้ แต่เหนือสิ่งอื่นได้ ก็ต้องกระทำอย่างเป็นเหตุเป็นผลด้วย

          พญ.ปราณี กล่าวสรุป สุดท้ายนี้ไม่ว่าสังคมของเราจะเดินไปในทิศทางไหน แต่บทบาทหน้าที่ของคนเป็นพ่อแม่ คือการเลี้ยงดูและปลูกฝัง ให้เจ้าตัวน้อยมีความรับผิดชอบต่อความคิด คำพูด และการกระทำของตนเอง จนเติบโตขึ้นมาเป็นคนดีและมีความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งต้องค่อยๆ ทำให้เหมาะสมตามวัย และแม้ว่าบางสิ่งอาจยากเกินจะแก้ไข  แต่ด้วยความเป็นพ่อแม่ คุณสามารถ “สร้าง” สิ่งดีๆ ให้เข้ามาแทนที่สิ่งที่ไม่ดีไม่งามในสังคมได้ เริ่มง่ายๆ จากเจ้าตัวน้อยตาแป๋วในบ้านของเราเอง ช่วยกันนะคะ

ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556  หน้า 11

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้