4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

รู้ทัน 3 ภัยร้าย ในโรงพยาบาล

          การเข้า-ออกโรงพยาบาลดูเหมือนจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับคนวัยหนุ่ม-สาว (เหลือน้อย) เหตุที่ทำให้โรงพยาบาลกลายเป็นบ้านหลังที่ 2 ของคนวัยนี้ นอกจากเพื่อรักษาอาการ เจ็บป่วยแล้ว หลายคนยังไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจสุขภาพ รวมถึงขอรับบริการด้านสุขภาพอื่นๆ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงและป้องกันโรคภัยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต แต่ถึงอย่างไรโรงพยาบาลก็ไม่ใช่สถานที่ที่ปลอดภัยเสมอไป โดยจะเห็นว่าในปัจจุบันมีภัยร้ายมากมายเกิดขึ้นที่นั่น ทั้งในรูปของอาชญากรรมรวมถึงความผิดพลาดทางการแพทย์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรรู้และหาวิธีรับมือ เพื่อป้องกันผลร้ายที่อาจตามมา
          1.การมอมยาปลดทรัพย์
          กำลังเป็นประเด็นที่ถูกกล่าวถึงอย่างหนาหู ในช่วงนี้สำหรับ 'แก๊งมอมยาเพื่อปลดทรัพย์' โดยมิจฉาชีพจะเข้ามาแฝงตัวแล้วมอมยาผู้ป่วยจนหมดสติ จากนั้นจึงล้วงกระเป๋าและขโมยทรัพย์สินมีค่าต่างๆ เช่น กระเป๋าสตางค์ โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งในโรงพยาบาลที่มีผู้คนพลุกพล่านหรือมีผู้รอรับบริการเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ ล่าสุดได้เกิดเหตุในลักษณะเดียวกันขึ้นที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจสอบและทราบภายหลังว่า สารเคมีที่แก๊งมิจฉาชีพใช้มอมยาคือ 'สารไซลาซีน' (Xylazine) โดยวิธีการผสมกับน้ำแล้วนำมาให้ผู้รอรับบริการดื่ม ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยหมดสติและอาจเสียชีวิตได้
          'ไซลาซีน' เป็นสารที่ไม่มีรส กลิ่น สี และดูดซึมได้เร็วทางกระเพาะอาหาร สารดังกล่าวเป็นยาอันตรายตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข มีฤทธิ์เพื่อสงบประสาทส่วนกลาง ส่วนมากใช้ในการเคลื่อนย้ายสัตว์ขนาดใหญ่ เช่น ช้าง เพื่อทำให้สัตว์อยู่ในความสงบ อย่างไรก็ตามมีข้อมูลทางวิชาการระบุว่าหากนำสารดังกล่าวมาใช้กับคนจะทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นช้า หัวใจเต้นผิดจังหวะ ปัสสาวะมาก ความดันต่ำ น้ำตาลในเลือดสูง ปากแห้ง ทั้งยังส่งผลต่อระบบ ทางเดินหายใจและระบบเลือด
          สำหรับพฤติกรรมของมิจฉาชีพส่วนใหญ่จะมุ่งเป้าไปที่เหยื่อผู้สูงอายุและมีร่างกายไม่แข็งแรง โดยคนร้ายจะแต่งกายสุภาพ น่าเชื่อถือ บ้างก็แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล และอาจสวมหน้ากากอนามัยเพื่ออำพราง จากนั้นจะทำทีเข้ามาพูดคุย ตีสนิทหรือให้ความช่วยเหลือก่อน จะชักชวนให้ดื่มน้ำที่ตนเตรียมมาให้ เมื่อเหยื่อหมดสติจึงฉวยโอกาสขโมยทรัพย์สินมีค่าและรีบหลบหนีไป เพื่อป้องกันอันตรายดังกล่าว ทุกครั้งที่ไปโรงพยาบาลจึงควรตรวจสอบของมีค่าอยู่เป็นระยะ หลีกเลี่ยงการกินอาหารและเครื่องดื่มจากคนแปลกหน้า ไม่วางอาหารหรือเครื่องดื่มทิ้งไว้โดยไม่มีคนเฝ้า ทั้งยังต้องสังเกตบัตรพนักงาน อย่างละเอียดในกรณีที่มีผู้แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่

          2.ผลตรวจแล็บไม่ตรงตามจริง !
          กระบวนการตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการเพื่อค้นหาความผิดปกติของร่างกายถือเป็นกระบวนการที่ ซับซ้อนและอาจเกิดข้อผิดพลาดขึ้นได้ โดยในวันนี้เราจะพูด ถึงความผิดพลาดในการทดสอบหาการติดเชื้อ HIV ที่นอกจากจะเกิดจากชุดทดสอบมีปัญหาหรือไม่เหมาะสมกับสภาพเชื้อแล้ว ยังอาจเกิดจากสภาพร่างกายของผู้ถูกตรวจ รวมถึงกระบวนการทำงานที่ผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ เช่น การสลับตัวอย่างตรวจ ซึ่งมีโอกาสพบได้ในสถานบริการที่มีผู้เข้ารับการตรวจเป็นจำนวนมาก โดยผลจากความผิดพลาดดังกล่าวสามารถจำแนกออกเป็น 2 รูปแบบหลักคือ
          False Negative (ติดเชื้อ แต่ผลตรวจเป็นลบ) ตรวจผิดว่าไม่เป็นแต่ความจริงแล้วเป็น การเกิด False negative ส่วนใหญ่มักจะเกิดในช่วง Window period คือผู้ทดสอบมีการติดเชื้อแต่ร่างกายสร้างแอนติบอดีในระดับที่ไม่มากพอที่ชุดทดสอบ ณ เวลานั้นจะตรวจสอบได้ โดยทั่วไปคนที่ติดเชื้อจะเริ่มสร้างแอนติบอดีขึ้นมาในช่วง 21-45 วัน องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงแนะนำให้มีการตรวจหลังจากเกิดความเสี่ยงไปแล้ว 90 วัน หรือ 3 เดือนขึ้นไป เพื่อลดโอกาสการเกิด False negative
          False Positive (ไม่ติดเชื้อ แต่ผลตรวจออกมาเป็นบวก) ตรวจผิดว่าเป็นแต่ความจริงแล้วไม่เป็น False Positive มักเกิดจากการทดสอบการติดเชื้อ HIV เพียงวิธีเดียว แต่หากปฏิบัติตามมาตรฐาน WHO ซึ่งกำหนดให้มีการตรวจอย่างน้อย 3 วิธีคือ การตรวจคัดกรอง ข้างต้น 2 วิธี และการตรวจยืนยันอีก 1 วิธี ก็จะช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าวได้
          การเตรียมตัวเพื่อลดโอกาสความผิดพลาดให้เหลือน้อยที่สุดคือการศึกษาข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจในเบื้องต้น ก่อนเลือกรับบริการในสถานพยาบาลที่มีมาตรฐาน ทั้งยังควรสังเกตกระบวนการทำงานของ เจ้าหน้าที่อย่างละเอียดและซักถามทันทีที่เกิดความสงสัย นอกจากนี้หากยังคงไม่แน่ใจในผลตรวจให้รีบปรึกษาแพทย์หรือตรวจซ้ำอีกครั้งในสถานพยาบาลแห่งอื่น

          3.การจ่ายยาผิด
          ถือเป็นภัยที่เกิดจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่โดยตรง มีต้นเหตุสำคัญมาจาก แพกเกจยาที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ป้ายกำกับชื่อยาใกล้เคียงกัน รวมถึงการที่แพทย์สั่งจ่ายยาผิดพลาด ฯลฯ เป็นผลให้เกิดความเสียหายต่อผู้ป่วยทั้งในลักษณะของการได้รับยาผิดความแรงไม่เหมาะสมกับอาการ หรือการได้รับยาที่ไม่ตรงกับแผนการรักษา ซึ่งนอกจากจะไม่ช่วยให้หายเจ็บป่วยแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้อีกด้วย วิธีป้องกันภัยร้ายดังกล่าวสามารถทำได้โดยการนำชื่อยาที่ได้รับมาตรวจสอบคุณสมบัติและผลข้างเคียงจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถืออีกครั้ง หรือในกรณีที่มีความคุ้นเคยกับยาชนิดนั้นๆ ดีอยู่แล้ว ให้ผู้ป่วยสังเกตลักษณะของยา สี ขนาด รวมถึงชื่อกำกับว่าแตกต่างจากที่เคยได้รับหรือไม่ หากสงสัยให้สอบถามเภสัชกร หรือแพทย์ทันที นอกจากนี้หากมีอาการข้างเคียงหลังรับประทานยา ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยทันที ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพื่อลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากความ ผิดพลาดดังกล่าว


          รู้อย่างนี้แล้ว ก็เตรียมรับมือกันให้ดี สำหรับ 3 ภัยร้ายในโรงพยาบาลที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม !

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556  หน้า 8

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้