4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

ท้องไม่พร้อม = ผู้ป่วย !

           โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ หรือ HITAP สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดเผยผลการศึกษาโครงการ อนาคตไทย เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะเด็กอายุ 6-25 ปี ว่า ประเทศไทยมีแม่วัย 10-19 ปี คลอดบุตรราว 125,000 ราย และทำแท้ง 100,000 ราย ขณะที่ กรมอนามัย ระบุว่า มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ทำแท้งด้วยตนเองโดยวิธีที่ไม่ปลอดภัย เช่น การบีบหน้าท้อง และการใส่ของแข็งหรือฉีดสารต่างๆ ทางช่องคลอด ส่งผลให้มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ตกเลือด ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งแห่งปัจจัยที่สำคัญนำมาสู่การทำแท้งอาจเกิดขึ้นเพราะ "การตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม"

          นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) บอกว่า สธ.มีนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องการสนับสนุนการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย เป็นทางเลือกหนึ่งให้แก่ผู้ที่ตรั้งครรภ์ไม่พร้อม แต่ไม่ได้หมายความว่าจะสนับสนุนให้ทำแท้ง แต่ต้องยอมรับว่าผู้ที่ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมควรได้รับทางเลือกที่ปลอดภัย เพราะหากปล่อยให้มีการทำแท้งอย่างไม่ปลอดภัยจะส่งผลต่อประเทศชาติต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาหากเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือสูญเสียแรงงานหากเสียชีวิต ซึ่งการใช้ยาในการยุติการตั้งครรภ์เป็นวิธีหนึ่งที่ปลอดภัย

          วิธีการในการยุติการตั้งครรภ์ที่ได้รับการรับรองในหลายประเทศที่พัฒนาแล้วว่ามีความปลอดภัยและองค์การอนามัยโลกหรือฮูรับรองเป็นยาจำเป็นของฮูในปี 2005 คือ การใช้ยาคู่ไมเฟพริสโตน+ ยาไมโซพรอสทอล ซึ่งปัจจุบันไมเฟพริสโตน อยู่ระหว่างการพิจารณาขึ้นทะเบียนของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ส่วนไมโซพรอสทอลมีการขึ้นทะเบียนแล้วในประเทศไทยเป็นยารักษาโรคกระเพาะ จัดเป็นยาควบคุมพิเศษสั่งใช้ได้เฉพาะในโรงพยาบาลโดยแพทย์เท่านั้น

          "อยากให้มองว่าผู้ที่ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมคือ ผู้ป่วย เมื่อคนไข้มาหาหมอ สิ่งแรกที่คนไข้ต้องการ อยากได้หมอที่นั่งฟังความทุกข์ของเขาซึ่งจากประสบการณ์การดูแลคนไข้ พบว่า เมื่อถามคนไข้จะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ท้องไม่ได้แต่หากหมอใช้เวลา 10-15 นาที ในการพูดคุยจะทำให้แสงสว่างเริ่มเกิดขึ้นกับคนไข้ จะรู้ว่าคนไข้มีทางเลือก เช่น แม่ของคนไข้พร้อมที่จะช่วยเลี้ยงลูกได้หรือไม่ เป็นต้น แต่สุดท้ายคนไข้จะเป็นคนเลือกแนวทางด้วยตนเอง" ผศ.นพ.ธนพันธ์ ชูบุญ อาจารย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ให้ความเห็น

          ผศ.นพ.ธนพันธ์ กล่าวว่า เมื่อสุดท้ายแล้วคนไข้เลือกที่จะยุติการตั้งครรภ์ก็ควรได้รับการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ซึ่งการยุติการตั้งครรภ์ที่ดำเนินการโดยแพทย์ในกรณีที่เกิดการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม ถือเป็นบริการทางการแพทย์ โดยการใช้ยาโดยแพทย์ที่ทำในโรงพยาบาลเป็นวิธีการที่ปลอดภัย การใช้ยาคู่ตามคำรับรองของฮูมีอัตราแท้งสูงถึง 95-97% และทำให้การตายและบาดเจ็บลดลงภาวะแทรกซ้อนน้อยลงจากการทำแท้ง ทั้งนี้ ยาไมเฟพริสโตน จะไม่ทำให้เกิดการแท้ง แต่ทำให้การตั้งครรภ์หยุด การตั้งครรภ์เสื่อมรกหยุดการเจริญเติบโต ส่วนยาไมโซพรอสทอล จะบีบมดลูกทำให้เกิดการแท้งออกมา แต่ที่สำคัญ ต้องดำเนินการภายใต้การควบคุมของแพทย์และทำในโรงพยาบาลเท่านั้น ผู้ป่วยไม่ควรซื้อมาใช้ด้วยตนเอง


          "หากคนไข้ลักลอบใช้ยาด้วยตนเอง จะมีการใช้ผิดช่องทาง ไม่แท้งและมีผลข้างเคียงไข้ขึ้น ตัวร้อน หนาวสั่น เลือดออก และถ้าใช้ในช่วงอายุครรภ์ที่ไม่เหมาะสมเสี่ยงมดลูกแตก ความสามารถในการมีลูกจะกลายเป็นศูนย์ เพราะต้องตัดมดลูก หรือบางครั้งมีการเก็บมดลูกไว้ได้ แต่แพทย์จะแนะนำว่าไม่ควรตั้งครรภ์ ขณะที่หากผู้ที่ตั้งครรภ์ไปทำแท้งเถื่อนจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ต้องตัดมดลูก ตัดขา หรือถึงแต่ชีวิต" ผศ.นพ.ธนพันธ์เตือน
          ผศ.นพ.ธนพันธ์ กล่าวด้วยว่า ปัญหาส่วนหนึ่งในการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยให้แก่คนไข้ที่เลือกแนวทางนี้อยู่ที่แพทย์และทีมบุคลากรสาธารณสุขไม่ยอมดำเนินการให้ผู้ป่วยเนื่องจากมีข้อ จำกัดโดยใช้ความรู้สึกส่วนตัวว่า เป็นการนำตัวเองสู่บาปและบ่วงกรรม แต่ลืมนึกว่าผู้ที่ท้องโดยไม่พร้อมก็มีชีวิตมีเกียรติ ศักดิ์ศรีและการใช้ชีวิตเช่นกัน

          สุดท้าย ผศ.นพ.ธนพันธ์ แนะนำว่า ผู้ที่ตั้งครรภ์ โดยไม่พร้อมควรหาที่พึ่งทางใจอาจจะเป็นสามี พ่อแม่ พี่น้อง และแพทย์เป็นทางเลือกสุดท้าย เพื่อเล่าข้อกังวลจะได้ร่วมกันหาทางออกที่เหมาะสม ส่วนพ่อแม่ที่ลูกเกิดการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม ขอให้ตระหนึกเสมอว่าเด็กช่วงวัยรุ่นลูกทุกคนสามารถทำผิดพลาดได้ ครอบครัวพร้อมที่จะให้อภัยความผิดพลาดที่เกิดขึ้นหรือไม่ และมีการวางแผนจะอยู่กับลูกอย่างไรในอนาคต จะทำอย่างไรกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น การทำแท้งเป็นทางออกหนึ่งเช่นเดียวกับการตั้งครรภ์ต่อก็เป็นทางออกหนึ่ง

          สำหรับผู้ที่มีปัญหาท้องไม่พร้อมสามารถโทรเพื่อขอรับคำปรึกษาได้จาก 1663 สายด่วน ปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม

เรื่องโดย...พวงชมพู ประเสริฐ

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2556  หน้า 17
  

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้