4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

วอนผู้ค้าคิดถึงเด็ก ขายขนมปังไม่บูด จับ5พันชิ้นไม่มีอย.

          กุมารแพทย์วอนผู้ผลิต-คนขายคิดถึงหัวอกเด็ก สธ.เตือนขนมขยะทำเด็กไตพัง นครพนมจับ 5,000 ชิ้นไม่มี อย.

          หลังจาก "คม ชัด ลึก" รายงานข่าวเกี่ยวกับขนมผสมสารเคมีพิษร้ายแรง ซึ่งเป็นอันตรายต่อเด็กและผู้บริโภคทั่วไปนั้น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดนครพนม ยอมรับการจับกุมหรือเฝ้าระวังขนมเถื่อนไม่ได้เป็นตัวดัชนีชี้วัดของกระทรวงสาธารณสุข เสนอให้ประกาศเป็นวาระแห่งชาติ
          ภก.ณรงค์ชัย จันทร์พร หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า เกือบทุกหมู่บ้านในภาคอีสานจะมีการวางขายขนมหลอกเด็กที่ใส่สารกันบูดและสีสังเคราะห์จำนวนมาก ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขอนามัย เช่น "กรดเบนโซอิก" สารกันบูดที่กฎหมายระบุใส่ได้ไม่เกิน 5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัวต่อวันนั้น ถ้าได้รับเกินจำนวนจะเป็นอันตรายต่อตับและไตโดยตรง ส่วนเด็กที่กินขนมอันตรายเหล่านี้เข้าไปมากๆ จะทำให้เกิดความระคายเคืองในกระเพาะอาหาร ยิ่งไปกว่านั้นแหล่งผลิตขนมหลอกเด็กมักไม่สะอาด เมื่อสถานที่สกปรกก็มีเชื้อโรคเข้าไปเจือปนในขนมระหว่างผลิตได้ง่าย

          สำหรับขนม 5 กลุ่มอันตรายซึ่งประกอบด้วย 1.ขนมปัง-โดนัท 2.เยลลี่สีสันฉูดฉาด 3.ผลไม้ดอง มะยม กิมจ๊อ บ๊วยหวาน 4.ข้าวเกรียบกุ้ง และ 5.ช็อกโกแลตเทียมนั้น ภก.ณรงค์ชัย กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่ากลุ่มขนมปังหรือเบเกอรี่มีวางขายมากที่สุด เนื่องจากเด็กๆ ชอบซื้อกิน นอกจากนี้อยากให้เฝ้าระวังเรื่องช็อกโกแลตราคาถูกเป็นพิเศษ เพราะเคยตรวจจับช็อกโกแลตเทียมผสมเมลามีน (Melamine)จากเมืองจีนมาลักลอบวางขาย ซึ่งเมลามีนเป็นสารเคมีอินทรีย์ราคาถูก คล้ายพลาสติกเหลวเอามาใส่แทนน้ำนมดิบทำให้ประหยัดต้นทุนการผลิตช็อกโกแลต หากสารเมลามีนตกค้างในร่างกายทำให้เป็นนิ่วในไต มีรายงานเด็กจีนป่วยและตายจากการกินเมลามีนไปแล้วหลายคน เหมือนมีพลาสติกตกค้างในไต ร่างกายกำจัดออกไม่ได้ ต้องระวังไม่ให้เด็กกินช็อกโกเลตที่ไม่มีมาตรฐานรับรอง
          "ตอนนี้กำลังปราบปรามเรื่องนี้อย่างจริงจัง เคยเข้าไปตรวจโรงงานเถื่อนเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะสกปรกไม่สนใจระมัดระวังเรื่องเชื้อโรคเข้าไปปนเปื้อนในขนม ก็ต้องสั่งปิด แต่ผ่านไม่กี่วันก็แอบไปเปิดผลิตที่อื่นต่อไป เลยหันมาจับร้านค้าส่งขนมแทน เมื่อหลายเดือนก่อนจับไป 3 ร้านได้ขนมกล่องใหญ่ๆ มา 20 กว่าลัง มีทั้งโดนัท ปลาเส้น ปลาหวาน ช็อกโกแลตเทียม ฯลฯ ขนมพวกนี้ไม่มีเลข อย. หรือไม่มีฉลากที่ถูกต้อง พวกนี้ไม่กลัวโทษทางกฎหมาย เพราะไม่รุนแรง สั่งปรับแค่ร้านละ 3,000 บาท แต่ถ้าเรายึดสินค้ามาด้วยจะทำให้พวกเขาขาดทุนพอสมควร ผมว่าต้องจับแบบนี้บ่อยๆ สุดท้ายเขาก็ไม่กล้าสั่งมาขายอีก"


          หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคข้างต้น อธิบายว่า ขบวนการค้าขนมพิษมี 3 ขั้นตอน คือ 1. "ผู้ผลิต" ที่รู้อยู่แล้วใส่สารเคมีพิษในขนมจำนวนมากเพื่อให้เก็บได้นานกว่าเดิมหรือให้สีน่ากินเพิ่มขึ้น 2. "กลุ่มร้านค้าส่ง" ที่อยากได้กำไรจากการขายขนมราคาถูกจำนวนมากๆ 3. "เจ้าของร้านชำทั่วไป" ที่นิยมซื้อไปขายเพราะราคาถูก แต่ไม่มีความรู้ว่าเป็นขนมผิดกฎหมาย นโยบายของสาธารณสุขแต่ละจังหวัดไม่เหมือนกัน สำหรับ จ.นครพนมนั้น ให้ความสำคัญกับปัญหาขนมอันตราย เพราะส่งผลร้ายถึงเด็กที่กินเข้าไปโดยตรง รวมถึงผู้บริโภคทั่วไปด้วย
          ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานตรวจสอบร้านขายของชำที่มีการขายขนมใน จ.นครพนม 2,055 แห่ง ตรวจสอบขนม 33,489 ตัวอย่าง พบว่า มีฉลากถูกต้อง หรือมีการแสดงเลขสารบบอาหาร อย., ที่อยู่ผู้ผลิต, วันผลิต, วันหมดอายุ ฯลฯ 28,319 ตัวอย่าง ส่วนขนมเถื่อนที่มีสลากไม่ถูกต้องนั้นมีทั้งหมด 5,170 ชิ้น หรือประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2556 ได้ออกตรวจจับร้านขายส่งขนมขนาดใหญ่ ซึ่งวางขายขนมไม่ได้ขออนุญาต อย. 3 แห่ง พบขนมเถื่อนจำนวนมากถึง 69 รายการ บรรจุในกล่องขนาดใหญ่กว่า 20 กล่อง


          "เฉพาะในนครพนม มีร้านขายขนมทั้งหมดประมาณ 2,000 กว่าร้าน ผมสั่งให้เจ้าหน้าที่ตรวจเข้มเรื่องขนมไม่ได้มาตรฐานมาตลอด ถ้าไม่มีเลข อย.ไม่ให้วางขาย ร้านไหนเคยโดนจับแล้วทำผิดซ้ำจะปรับเพิ่มขึ้นเป็นโทษปรับสูงสุด ตรวจจับไปสักพักเห็นได้ชัดว่า ขนมพวกนี้เริ่มมีขายน้อยลงมาก ถ้าอยากปราบขนมพิษให้ได้ผล ต้องกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ทุกจังหวัดจัดระเบียบปราบปราม พร้อมๆ กัน"
          ข้อมูลจากการสำรวจสุขภาพของประชาชนไทยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข เมื่อปี พ.ศ.2551-2552 โดยเก็บตัวอย่างจากเด็ก 3 หมื่นคนทั่วประเทศ พบว่าจากการศึกษาพฤติกรรมการกินและอาหารเด็กไทยอายุ 2-14 ปีนั้น ร้อยละ 20-30 กินขนมกรุบกรอบทุกวัน ร้อยละ 40 กว่ากินเป็นบางวัน และร้อยละ 10-20 กินขนมปัง น้ำอัดลม ไอศกรีม ลูกอมทุกวัน


          นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสุขอนามัยเด็ก หนึ่งในอนุกรรมาธิการสำนักงานแผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน วุฒิสภา กล่าวเตือนว่า ขนมถุงทั่วไปถือเป็นอาหารขยะไม่มีประโยชน์ นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสุขอนามัยเด็ก หนึ่งในอนุกรรมาธิการสำนักงานแผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน วุฒิสภา กล่าวเตือนว่า ขนมถุงทั่วไปถือเป็นอาหารขยะไม่มีประโยชน์ ต่อร่างกาย ยิ่งขนมที่ผลิตไม่ได้มาตรฐานก็ยิ่งมีอันตรายเพิ่มไปอีก เพราะไม่มีใครรู้ว่าส่วนผสมข้างในมีสารเคมีอะไร เมื่อกินเข้าไปแล้วมีสารตกค้างในร่างกายมากน้อยแค่ไหน ปัญหาขณะนี้ คือ เด็กอ่านฉลากไม่รู้เรื่อง พ่อแม่ชาวบ้านไม่สนใจ ไม่รู้ว่ามีสารพิษอะไรในขนมที่ลูกซื้อกิน ในบางประเทศจะมีกฎหมายพิเศษควบคุมการผลิตขนมที่เด็กชอบกิน เช่น ไม่ให้ใส่สีหรือวัตถุเจือปนบางชนิด แต่เมืองไทยทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะผู้ผลิตอ้างว่าขนมที่ทำนั้นให้ผู้ใหญ่หรือคนทั่วไปกินด้วย ไม่ได้มีเป้าหมายผลิตให้เด็กกินโดยเฉพาะ
          นพ.สุริยเดว กล่าวทิ้งท้ายว่า วิธีที่ดีที่สุดในการกำจัดขนมขยะพวกนี้คือ ต้องขอความเห็นใจให้ผู้ใหญ่ทุกคนใช้จิตสำนึกคิดถึงหัวอกของเด็กบ้าง ทั้งคนผลิต คนขาย ครู โรงเรียน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อย. ฯลฯ อยากให้ทุกคนคิดและตั้งคำถามว่ากำลังทำอะไรกับลูกหลานของเรา

ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2556 หน้า 1

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้