ข่าว/ความเคลื่อนไหว
มาอีกแล้วครับสำหรับ Mega project หรือโครงการลงทุนขนาดใหญ่ คราวนี้เป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ด้านสุขภาพที่รัฐบาลเป็นฝ่ายริเริ่ม และให้ข่าวกับสื่อมวลชนเมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2551 โดยในข่าวระบุว่ารัฐจะลงทุนกว่า 8 หมื่นล้านบาท ในระยะ เวลา 4 ปี โดยมีการลงทุนด้านโครงสร้างระบบบริการทุกระดับ การเพิ่มจำนวนบุคลากรพร้อมปรับระบบค่าตอบแทน และการลงทุนด้านระบบสารสนเทศ
ในเอกสารข้อเสนอแผนการลงทุนระบบบริการสาธารณสุข พ.ศ.2552-2555 มีการวิเคราะห์สภาพปัญหาระบบบริการเพื่อเป็นเหตุผลแสดงความจำเป็นต้องมีการ ลงทุนเพิ่มเติมดังนี้ครับ
1. รายจ่ายภาครัฐด้านการรักษาพยาบาลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยอ้างอิงข้อมูลงบประมาณที่รัฐต้องจ่ายให้กับระบบประกันสุขภาพต่างๆ (ยกเว้นข้อมูลประกันสังคมเป็นค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลแก่ผู้ประกันตน และข้อมูลสวัสดิการรักษาพยาบาลเป็นงบประมาณที่ตั้งไว้ แต่รายจ่ายจริงมากกว่างบประมาณที่ตั้งไว้ทุกปี) แต่งบลงทุนมีแนวโน้มลดลง
2. ปัญหาการขาดแคลนและการกระจายบุคลากร รวมทั้งเครื่องมือแพทย์
3. ปัญหาระบบข้อมูลสุขภาพภาครัฐที่ขาดเอกภาพและประสิทธิภาพ
4. ปัญหาสุขภาพเปลี่ยนไปโดยผลกระทบจากพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น
โดยเอกสารเน้นปัญหาที่มีความสำคัญคือ ปัญหาการเข้าถึงบริการโดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบส่งต่อ (ระบุว่าสาเหตุคือการมีรถพยาบาลไม่เพียงพอ รพ.ที่รับส่งต่ออยู่ไกล) ปัญหาคุณภาพบริการที่ได้รับผลกระทบจากการลาออกของแพทย์ และปัญหาความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการ (โดยยกกรณีอัตราการผ่าตัดโรคหัวใจของผู้มีสิทธิระบบประกันสุขภาพแตกต่างกัน ไม่แน่ใจว่ามีการปรับโครงสร้างอายุของผู้มีสิทธิหรือไม่)
จากการวิเคราะห์ปัญหาทั้งหมดนำไปสู่ข้อเสนอดังนี้ครับ
1. การพัฒนาระบบบริการ
- จัดตั้งศูนย์แพทย์ชุมชน 560 แห่ง มีงบลงทุนโครงสร้างจำนวน 3,227 ล้านบาท และงบผลิตบุคลากรจำนวน 1,455 ล้านบาท
- ยกระดับโรงพยาบาลชุมชนเป็นโรงพยาบาลตติยภูมิจำนวน 149 แห่ง วงเงิน 8,729 ล้านบาท (งบก่อสร้างและครุภัณฑ์)
- พัฒนาโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป 94 แห่ง วงเงิน 22,930 ล้านบาท (งบก่อสร้างและครุภัณฑ์)
- จัดตั้ง excellent center ด้านหัวใจ มะเร็ง และอุบัติเหตุ จำนวน 155 แห่ง วงเงิน 12,917 ล้านบาท (งบก่อสร้าง ครุภัณฑ์ และงบดำเนินการ)
2. การพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ ในสถานพยาบาลรัฐทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 2,855 ล้านบาท
3. การผลิตและพัฒนากำลังคนด้านสาธารณสุข โดยมีการผลิตบุคลากรเพิ่ม 5 สาขาวิชาชีพ (แพทย์ พยาบาล ทันตสาธารณสุข นักวิชาการสาธารณสุข และผู้ช่วยพยาบาล) วงเงิน 647 ล้านบาท และงบพัฒนาบุคลากรอีก 1,722 ล้านบาท
อย่างที่เกริ่นเบื้องต้น นี่เป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ด้านสุขภาพ จะเห็นได้ว่าทั้งหมดเน้นการลงทุนด้านโครงสร้างและการลงทุนด้านกำลังคนในระบบ บริการสุขภาพ มีการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อข้อเสนอนี้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วหลายเวที ขออนุญาตต่อคราวหน้าครับว่า ผู้คนมีความเห็นอย่างไรกันบ้างต่อ Mega project ด้านสุขภาพนี้
(รูปภาพประกอบจาก http://gotoknow.org/blog/lwipoo/44606)
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้