ข่าว/ความเคลื่อนไหว
เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.) พ.ต.อ.ทรงพล วัธนะชัย รองผู้บังคับการตำรวจ นครบาล 1 (รอง ผบก.น.1) เผยภายหลังการประชุมความคืบหน้ากรณีที่คนร้ายก่อเหตุมอมยารูดทรัพย์ผู้ป่วย ระหว่างรอการตรวจรักษาในโรงพยาบาลรามาธิบดีโดยใช้วิธีหลอกให้ดื่มน้ำที่ผสมสารไซลาซีนจนหมดสติ ก่อนจะฉกฉวยปลดทรัพย์สินของมีค่า ที่ติดตัวและเงินในกระเป๋า ว่าได้เรียกประชุม เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนศูนย์สืบสวนสอบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล ชุดสืบสวน บก.น.1 และชุดสืบสวน สน.พญาไท สน.บางซื่อ และสน.นพวงศ์ได้ข้อมูลยืนยันว่าเป็นคนร้ายกลุ่มเดียวกัน ทั้งภาพคนร้ายที่ได้จากกล้องวงจรปิด เมื่อ นำมาเปรียบเทียบแล้ว พบเป็นคนร้ายกลุ่มเดิมที่เคยก่อเหตุ โดยจะก่อเหตุภายในพื้นที่ กทม.และอาจมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่โรงพยาบาล สงฆ์ จะใช้พฤติกรรมเข้าตีสนิทกับพระสงฆ์ ที่มารับการรักษาโดยการถวายอาหาร น้ำดื่มต่างๆ ก่อนจะทำการรูดทรัพย์ภายหลัง ที่เหยื่อหมดสติซึ่งคนร้ายกลุ่มนี้เป็นผู้ชายประมาณ 2-3 คน แก๊งนี้เริ่มตั้งแต่ปี 2555 ขณะนี้มีผู้เสียหายเข้าแจ้งความ 6-7 ราย แต่ละคดีมีลักษณะการลงมือก่อเหตุคล้ายๆกัน คาดว่าภายใน 7 วัน น่าจะสามารถจับกุมตัวคนร้ายได้
เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้หาหลักฐานและสอบปากคำผู้เสียหายอย่างละเอียดแล้วพร้อมรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมด ขออนุมัติหมายจับตามภาพคนร้ายที่กล้อง วงจรปิดจับได้จากศาลอาญาที่ 2033/2556 ลงเมื่อวันที่ 12 ต.ค. ข้อหาชิงทรัพย์ผู้อื่น ส่วนที่มา สารไซลาซีน เจ้าหน้าที่กำลัง สืบหาต้นตอที่มาอยู่ จากข้อมูลแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสารไซลาซีนทำให้ทราบว่า สารตัวนี้มีอันตรายถึงชีวิตหากใช้มาก เกินไป หรือไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำแพทย์ ดังนั้น หากจับกุมผู้ต้องหาได้ เตรียมแจ้งข้อหาเพิ่มอีก 2 ข้อหา คือ ปลอมปนสารในอาหารให้ผู้อื่นเป็นอันตราย และพยายามฆ่าผู้อื่น
ด้าน นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการ คณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวว่า วันที่ 15 ตุลาคมนี้ สำนักงานคณะกรรมการ อาหารและยา(อย.)ได้เรียกประชุมหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมปศุสัตว์ สัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เพื่อหารือถึงการควบคุมสารสารไซลาซีน(Xylazine)ที่กลุ่มมิจฉาชีพนำไปผสมกับน้ำมอมคนไข้ญาติคนไข้ปลดทรัพย์ในโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งปัจจุบันถูกจัดเป็นยาอันตรายที่จำหน่ายได้โดยเภสัชกร เมื่อเกิดปัญหาขึ้น จำเป็นต้องยกระดับจากยาอันตราย เป็นยาควบคุมพิเศษ จึงต้องสอบถามผู้ที่เกี่ยวข้องก่อน หากดำเนินการได้จริง จากนี้ไป จะจำหน่ายได้ เฉพาะโรงพยาบาลสัตวแพทย์ หรือคลินิกสัตวแพทย์เท่านั้น
ขณะที่ นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)กล่าวว่า ได้ประชุมร่วมผู้บริหาร โรงพยาบาล สังกัดกรมการแพทย์ ว่าโดยกำชับให้ทุกโรงพยาบาลในสังกัดมีมาตรการเข้มเฝ้าระวัง และดูแลคนไข้และญาติคนไข้ที่มาใช้บริการตลอด 24 ชั่วโมง โดยมี 3 มาตรการหลัก คือ 1.กำชับคนไข้ ญาติคนไข้ทุกคน ไม่ดื่มน้ำหรือรับของรับประทานจากคนแปลกหน้าหรือเจ้าหน้าที่ที่อาจปลอมมา 2.ให้เจ้าหน้าที่ตึกของทุกแผนกคอยตรวจตรา สอดส่องหากพบคน แปลกหน้า ถ้ามีท่าทีพิรุธ พบการกระทำผิด ให้รีบเข้าช่วยเหลือและดำเนินการทางคดีทันที และ 3.ให้ทุกโรงพยาบาลไปตรวจตราว่ากล้องวงจรปิดทุกกล้องและต้องตรวจกล้องอย่างต่อเนื่อง
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2556 หน้า 1
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้