4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

ออกหมายจับมอมยาเหยื่อในรพ.รามาฯ

          โจรมอมยาเหยื่อ รพ. รามาฯ ถูกศาลออกหมายจับแล้ว ฐานชิงทรัพย์ ตร.คาดเป็นกลุ่มเดียวกับมอมยาพระ รพ.สงฆ์ ลั่นต้องจับให้ได้ภายใน 7 วัน พร้อมแจ้งเพิ่มอีก 2 ข้อหา ปลอมปนสารในอาหารให้ผู้อื่นเป็นอันตราย และพยายามฆ่าผู้อื่น กรมปศุสัตว์หนุน อย.ยกระดับ "ไซลาซีน" เป็นยาควบคุมพิเศษ ด้าน "หมอบุญชัย" ขอฟังความเห็นผู้เกี่ยวข้องก่อน เผย 14 ต.ค. ได้ข้อมูลบริษัทขายยา 9 ตำรับส่งไปที่ใด ในขณะที่กรมควบคุมโรคคาดเป็นยาลักลอบนำเข้าผ่านชายแดน

          กรณี รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี มีหนังสือเวียนถึงหน่วยงานภายใน ว่าให้เจ้าหน้าที่รวมทั้งผู้ป่วย และญาติผู้ป่วย ระวังมิจฉาชีพแฝงตัวเข้ามาในโรงพยาบาลวางยาผู้ป่วยสูงอายุ โดยใช้สารไซลาซีนผสมน้ำให้ดื่มจนหมดสติแล้วปลดทรัพย์ อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งกล้องวงจรปิดจับภาพผู้ต้องสงสัยไว้ได้ชัดเจน ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

          ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 13 ต.ค. พล.ต.ต.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ รอง ผบช.น. รับผิดชอบงานด้านสืบสวน กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีคนร้ายก่อเหตุมอมยาและชิงทรัพย์ผู้เสียหายที่โรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลสงฆ์ ว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนทั้งจาก สน.นพวงศ์ สน.บางซื่อ และสน. พญาไท กำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล ทั้งจากที่โรงพยาบาลทั้งสองแห่ง สถานีขนส่งหมอชิต และสถานีรถไฟหัวลำโพง รวมทั้งสถานที่อื่น ๆ ที่คนร้ายเคยก่อเหตุ และสอบปากคำผู้เสียหายอย่างละเอียดอีกครั้ง เพื่อนำข้อมูลต่าง ๆ เชื่อมโยงกันหาความชัดเจนในแผนประทุษกรรมของคนร้าย

          พล.ต.ต.ฐิติราช กล่าวต่อว่า จากการสืบสวนเบื้องต้นพบว่ารูปพรรณสัณฐานของคนร้ายที่ก่อเหตุในโรงพยาบาลรามาธิบดีและโรงพยาบาลสงฆ์มีความคล้ายคลึงกัน โดยใช้วิธีเข้าไปตีสนิททำความรู้จักกับผู้เสียหาย แกล้งทำตัวเป็นคนดี นำน้ำดื่มและอาหารมาให้ประชาชนและถวายแด่พระสงฆ์จนผู้เสียหายหลงเชื่อ เมื่อกินอาหารและน้ำเข้าไปก็จะถูกมอมยา แล้วชิงทรัพย์สินหลบหนีไป คาดว่าคนร้ายน่าจะเป็นกลุ่มเดียวกัน ทีมเดียวกัน หรือบางคดีคนร้ายอาจจะเป็นคนเดียวกันด้วยซ้ำ และเคยก่อเหตุมาแล้วหลายครั้ง นอกจากนี้ยังให้ฝ่ายสืบสวนไปสืบหาแหล่งของตัวยาไซลาซีนดังกล่าวว่าหาซื้อได้จากที่ใดบ้าง และใช้เพื่อวัตถุประสงค์อะไร ซึ่งเจ้าหน้าที่ตั้งใจว่าจะจับกุมคนร้ายให้ได้ภายใน 7 วัน

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดศาลอาญาได้อนุมัติหมายจับคนร้ายที่ก่อเหตุมอมยารูดทรัพย์ในโรงพยาบาลรามาธิบดีแล้ว ตามหมายจับของศาลอาญาเลขที่ 2033/2556 ลงวันที่ 12 ต.ค.2556 โดยออกหมายจับตามภาพถ่าย เป็นชายไทยไม่ทราบชื่อ สูงประมาณ 175 เซนติเมตร น้ำหนัก 75 กิโลกรัม รูปร่างสูง ผิวสีดำแดง รูปหน้าทรงกลม ทรงผมลักษณะเสย สวมเสื้อเชิ้ตแขนสั้นสีน้ำเงิน กางเกงขายาวสีเทา สวมรองเท้าผ้าใบ และสวมหน้ากากอนามัยปิดปาก ตามที่ปรากฏในภาพจากกล้องวงจรปิดของโรงพยาบาล ในข้อหาชิงทรัพย์

          พ.ต.ต.วิทยากร สุวรรณเรืองศรี พงส.ผนก.สน.พญาไท เจ้าของคดี เผยว่า ได้ดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐาน และขออำนาจศาลออกหมายจับผู้ต้องหาชายที่ปรากฏในภาพวงจรปิด หลังก่อเหตุใช้สารหรือยาไซลาซีน มอมยาหญิงชราวัย 69 ปี ขณะรอรับการรักษาที่ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ รพ. รามาฯ ก่อนรูดทรัพย์สินมูลค่ารวมกว่า 14,000 บาท หมายจับเลขที่ 2033/2556 ลงวันที่ 12 ต.ค. ข้อหา ชิงทรัพย์ผู้อื่น นอกจากนี้ได้สอบปากคำแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสารไซลาซีน ทราบว่ามีอันตรายถึงชีวิตหากใช้มากเกินหรือไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ โดยหากจับกุมผู้ต้องหาได้ จะแจ้งข้อหาเพิ่มอีก 2 ข้อหา คือ ข้อหาปลอมปนสารในอาหารให้ผู้อื่นเป็นอันตราย และข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่น

          ด้าน นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า คาดว่าในวันจันทร์ที่ 14 ต.ค. จะทราบผลการตรวจสอบยาไซลาซีนซึ่งเป็นยาฉีดให้สัตว์สลบแต่มีการนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์มอมคนว่า ยาทั้งหมด 9 ตำรับที่มีการขึ้นทะเบียนกับ อย.นั้น บริษัทส่งไปขายที่ไหน อย่างไร ทั้งนี้ในเวลา 09.00-12.00 น. วันอังคารที่ 15 ต.ค. จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการยาสัตว์ คงมีการเชิญผู้เกี่ยวข้องมาหารือ นอกจากนี้จะประสานขอข้อมูลไปยัง รพ.สงฆ์ด้วย

          สัตวแพทย์(หญิง)อภิรมย์ พวงหัตถ์ หัวหน้ากลุ่มโรคติดต่อจากสัตว์และคน กรมควบคุมโรค สธ.กล่าวว่า กรณีนี้มิจฉาชีพที่นำไปใช้คาดว่าคงไม่ได้ซื้อยาไซลาซีนถูกต้อง อาจเป็นยาลักลอบนำเข้ามาก็ได้ การนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ก็เพิ่งทราบจากข่าว เพราะปกติยานี้เป็นยาฉีด ไม่รู้ว่าจะนำไปผสมเครื่องดื่มมอมเหยื่อได้ "ยานี้ใช้มานานแล้ว มีฤทธิ์ทำให้ซึม ยานี้ถ้าให้มาก ๆ จะกดระบบหายใจ กรณีนี้ถ้าจับได้ต้องขยายผลว่านำยาดังกล่าวมาจากไหน คิดว่าน่าจะมีการลักลอบนำเข้าจากประเทศอื่นตามชายแดน เพราะมียาจำนวนมากที่ลักลอบนำเข้า ปกติยานี้มีการควบคุมเรื่องการใช้อยู่แล้ว แต่คิดว่าที่มิจฉาชีพนำไปใช้ อาจจะไม่ได้นำยาจากที่มีอยู่ในระบบก็ได้"

          ด้านนายสัตวแพทย์ทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เพิ่งทราบการนำยาไซลาซีนไปใช้ผิดวัตถุประสงค์จากข่าวเช่นกัน เพราะว่ายานี้ใช้เฉพาะในสัตว์และสัตวแพทย์เป็นผู้ใช้เท่านั้น ส่วนที่คนอื่นนำไปใช้ไม่ทราบ ต้องไปดูว่าได้ยามาจากแหล่งใด ต่อข้อถามว่า เห็นด้วยหรือไม่หากจะมีการยกระดับยาไซลาซีนจากยาอันตรายเป็นยาควบคุมพิเศษ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า คิดว่าผู้สั่งจ่ายยาน่าจะเป็นนายสัตวแพทย์เช่นเดียวกับยาที่ใช้ในคนที่ต้องให้แพทย์สั่ง ไม่ใช่ว่าใครก็ซื้อมาใช้ได้ เพราะปกติยานี้ไม่ได้ประกาศควบคุมพิเศษ ดังนั้นหาก อย.จะประกาศยานี้เป็นยาควบคุมพิเศษก็เห็นด้วย

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์  ฉบับวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2556  หน้า 1

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้