4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

กรมสุขภาพจิตเผยอีก 7 ปีข้างหน้าผู้ป่วยสมองเสื่อมมีสูงถึง 4.5 แสน แนะวางระบบดูแลสุขภาพจิตผู้สูงอายุ

           นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า วันที่ 10 ตุลาคมของทุกปีองค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็นวันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day) เพื่อให้สาธารณชนตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพจิตและปัญหาการเจ็บป่วยทางจิต  และช่วยกันป้องกันไม่ให้ปัญหาดังกล่าวลุกลาม สำหรับปีนี้ ได้ให้ความสำคัญต่อสุขภาพจิตกับผู้สูงอายุ  "Mental health and older adults"  ซึ่งพบว่า ทั่วโลกประชากรผู้สูงอายุนั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีการคาดการณ์ ว่า จะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 1,963 ล้านคน หรือ ร้อยละ 22 ในอีก 37 ปีข้างหน้า หรือปี พ.ศ. 2593 ขณะที่จำนวนผู้สูงอายุในประเทศไทยปัจจุบันมีสูงถึง 9,517,000 คน หรือ 1 ใน6 ของประชากรทั้งประเทศ โดย ในปี พ.ศ.2593 คาดการณ์ว่า ผู้สูงอายุจะล้นเมือง มีจำนวนมากถึงร้อยละ 27 ของประชากรทั้งประเทศ ดังนั้น เรื่องของสุขภาพจิตและอารมณ์ที่ดีจึงมีความสำคัญยิ่งกับผู้สูงอายุ

          อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า  ผู้สูงอายุมากกว่า  20% ต้องทนทุกข์ทรมานอยู่กับปัญหาสุขภาพจิตหรือปัญหาทางระบบประสาท โดยเฉพาะภาวะสมองเสื่อม ทั้งนี้ ภาวะสมองเสื่อม เป็นความผิดปกติในการทำงานของสมอง ที่ได้รับผลกระทบจากโรค หรือความผิดปกติบางอย่าง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการความจำเสื่อม มีความถดถอยของพฤติกรรมและบุคลิกภาพ เกิดอาการสับสน และอาการผิดปกติด้านการพูดและความเข้าใจ อาการเหล่านี้จะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทบกระเทือนกับการใช้ชีวิตประจำวัน และการเข้าสังคมของผู้ป่วย โดยมีการคาดการณ์ว่า ทั่วโลกมีผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมประมาณ 35.6 ล้านคน ทุก 20 ปี จะมีปริมาณผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า และภายในปี ค.ศ. 2050 จะมียอดผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมรวมกว่า 115.4 ล้านคน ทั้งนี้ พบว่า โรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุด พบประมาณร้อยละ 60-80 ของภาวะสมองเสื่อมทั้งหมด รองลงมาคือ ภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือด สำหรับในประเทศไทยมีรายงานอัตราความชุกของภาวะสมองเสื่อมที่แตกต่างกันไปในแต่ละการศึกษาขึ้นกับกลุ่มประชากรและพื้นที่ที่สำรวจ ในปี ค.ศ. 2005  กระทรวงสาธารณสุขได้เคยคาดการณ์จำนวนผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมในประเทศไทยไว้ว่า มีจำนวนประมาณ229,000 คน และมีแนวโน้มสูงขึ้น 450,000 คนและ 1,200,000 คนในปี ค.ศ. 2020 และ 2050 ทั้งนี้ เป็นโรคอัลไซเมอร์ ประมาณร้อยละ 40-70 ของภาวะสมองเสื่อมทั้งหมด

          สำหรับการรักษาภาวะสมองเสื่อม นั้นอธิบดีกรมสุขภาพจิต บอกว่า บางกลุ่มอาการรักษาไม่ได้ แต่ก็มีบางกลุ่มอาการที่สามารถรักษาได้ถ้าค้นพบสาเหตุได้ชัดเจน การวินิจฉัยโรคที่รวดเร็วและแม่นยำจึงสำคัญยิ่ง ทั้งนี้ สามารถป้องกันได้ โดย บริหารสมอง บริโภคอาหาร รักษาร่างกาย ผ่อนคลายความเครียด
          บริหารสมอง โดยการฝึกให้ทักษะการใช้มือ เท้า และประสาทสัมผัสทั้ง 5 ให้สามารถรับรู้และเคลื่อนไหวในรูปแบบต่างๆ ให้ระบบกล้ามเนื้อระบบประสาทและสมองส่วนต่างๆ ทำงานประสานสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบ เช่น เต้นรำ เล่นหมากรุก หมากล้อม โยคะ รำมวยจีน ต่อจิ๊กซอว์ อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ ทำงานบ้านหรืองานอดิเรกที่ชอบ เป็นต้น

          บริโภคอาหาร โดยรับประทานอาหารครบหมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและโคเลสเตอรอลสูง รักษาน้ำหนักตัวไม่ให้เกินเกณฑ์ หลีกเลี่ยงยาหรือสารที่จะทำให้เกิดอันตรายแก่สมองเช่น การดื่มเหล้าจัดหรือการรับประทานยาโดยไม่จำเป็น เลือกรับประทานอาหารที่บำรุงสมอง เช่นธัญพืชหรือถั่ว ผักใบเขียวทุกชนิด ถั่วเหลืองอัลมอนด์ เมล็ดฟักทอง ผลไม้รสเปรี้ยว ปลาทะเลน้ำลึก ปลาทูน่า เป็นต้น
          รักษาร่างกาย โดยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ตรวจสุขภาพประจำปี หรือถ้ามีโรคประจำตัวอยู่เดิมก็ต้องติดตามการรักษาเป็นระยะหากมีอาการเจ็บป่วยควรปรึกษาแพทย์แต่เนิ่น โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ เพื่อลดโอกาสเกิดอาการสับสนเฉียบพลัน ที่สำคัญ ระมัดระวังเรื่องอุบัติเหตุต่อสมอง ระวังการหกล้ม เป็นต้น
          ผ่อนคลายความเครียด โดยการหารูปแบบที่เหมาะสมกับตนเองให้มากที่สุดและสามารถนำมาใช้ได้กับชีวิตจริง เช่น การฝึกหายใจเข้าออกลึกๆช้าๆ การฝึกสมาธิ การพูดคุย หรือพบปะผู้อื่นบ่อยๆ เช่น ไปวัด ไปงานเลี้ยงต่างๆ หรือเข้าชมรมผู้สูงอายุ เป็นต้น


          ทั้งนี้ เพื่อรองรับปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ กรมสุขภาพจิตได้เตรียมความพร้อมในการให้บริการคลินิกสุขภาพจิตกับผู้สูงอายุในโรงพยาบาลในสังกัดกรมสุขภาพจิต ซึ่งปัจจุบันนี้รพ.จิตเวชสังกัดกรมสุขภาพจิตบางแห่งมีแผนกผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน เฉพาะทางจิตเวชผู้สูงอายุอยู่แล้ว อาทิ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยาและ รพ.สวนสราญรมย์ ฯลฯนอกจากนี้ ได้ดำเนินการตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุขในการดูแลผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มมีปัญหา โดย ในกลุ่มเสี่ยง จัดให้มีการคัดกรองผู้สูงอายุ ติดบ้าน/ติดเตียงที่มีภาวะซึมเศร้าและให้คำแนะนำในการจัดการตนเองเมื่อเกิดโรคซึมเศร้าเชื่อมโยงกับระบบช่วยเหลือในโรงพยาบาล และจัดโปรแกรมดูแลสุขภาพจิตในกลุ่มผู้สูงอายุ ขณะที่กลุ่มมีปัญหา จะมีบริการคัดกรองภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคไต โรคเบาหวานโรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น และให้บริการดูแลรักษาโรคซึมเศร้าต่อเนื่องที่ได้มาตรฐาน ตลอดจนในปี 2557 มีแผนการดำเนินงานดูแลสังคม จิตใจกลุ่มผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม อีกด้วย อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

ที่มา : หนัสือพิมพ์พิมพ์ไทย  ฉบับวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2556  หน้า 14

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้