ข่าว/ความเคลื่อนไหว
กินน้ำเกินพิกัดหมอเตือนเสียชีวิตทำให้ร่างกายไม่สมดุล อย่าดื่มครั้งเดียว1ลิตร เสี่ยงภาวะน้ำเป็นพิษ ดื่มเกินพิกัด 6-7 ลิตรต่อวัน สธ.เตือน ส่งผลระดับเกลือโซเดียมต่ำ สมดุลน้ำในร่างกายเสีย ระบุน้ำจะเข้าไปคั่งในเซลล์ทั่วร่างกายมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อาจกระตุกหรือชัก จากสมองบวม ปอดบวม และเสียชีวิตได้ ชี้ปริมาณพอเหมาะ 1.2 ลิตรหรือ 6-8 แก้วต่อวัน เตือนนักกีฬาที่เสียเหงื่อมาก อย่าดื่มน้ำมากเกิน 1 ลิตรในคราวเดียว อาจทำเกิดภาวะเสี่ยงได้เช่นกัน
จากกรณีข่าวเด็กชายฝาแฝดอายุ 16 ปี เข้าร่วมพิธีกินเจที่บ้านญาติ ใน อ.สะเดา จ.สงขลา และดื่มน้ำวันละ 18 ลิตร เพื่อขับไล่ภูตผีปิศาจออกจากร่าง จนเกิดอาการชักเกร็ง หมดสติ โดยแฝดน้องเสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยผลชันสูตรของแพทย์นิติเวช รพ.สงขลานครินทร์ พบว่าสาเหตุการเสียชีวิตมาจากน้ำท่วมปอด หัวใจล้มเหลว และสมองบวม ส่วนแฝดพี่รักษาตัวในโรงพยาบาลตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 9 ต.ค. นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ถือเป็นอุทาหรณ์เตือนใจเกี่ยวกับความเชื่อความศรัทธาของแต่ละบุคคล อย่างไรก็ตาม ขอให้คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ ซึ่งมีความเสี่ยงด้านสุขภาพอยู่แล้ว อาจได้รับอันตรายจากการทำพิธีกรรม บางอย่างได้ สำหรับน้ำดื่มนั้น ถือเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเป็นส่วนประกอบ 2 ใน 3 ของร่างกาย โดยน้ำจะอยู่ภายใน และนอกเซลล์ต่าง ๆ เช่น เลือด อยู่ตามช่องว่างระหว่างเซลล์ รวมทั้งอยู่ภายในอวัยวะต่าง ๆ ทั้งในดวงตา น้ำย่อยอาหาร น้ำไขสันหลัง
อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวต่อว่า ปกติร่างกายจะสูญเสียน้ำวันละประมาณ 2.5 ลิตรทางเหงื่อ ลมหายใจ และการขับถ่าย โดยร่างกายได้น้ำจากการรับประทานอาหาร ผัก ผลไม้ต่าง ๆ และการดื่มน้ำ ต่อวันควรดื่มน้ำสะอาดให้ได้ประมาณ 1.2 ลิตรหรือ 6-8 แก้ว เพื่อให้ร่างกายได้รับน้ำอย่างเหมาะสม หาก ดื่มน้ำน้อยเกินไป อาจเกิดภาวะขาดน้ำถึงขั้น เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ส่วนการ ดื่มน้ำที่มากไปคือเกินวันละ 6-7 ลิตร จะทำ ให้ร่างกายได้รับน้ำปริมาณมากเกินไปในเวลารวดเร็ว ทำให้เกิดภาวะน้ำเกินหรือน้ำเป็นพิษ เนื่องจากน้ำจะเจือจางทำให้ความเข้มข้นของแร่ธาตุโซเดียมลดลง ซึ่งเป็นแร่ธาตุสำคัญในร่างกาย มีหน้าที่รักษาสมดุลน้ำระหว่างนอกเซลล์และภายในเซลล์ เมื่อถูกเจือจางลงจะทำให้น้ำภายนอกเซลล์ซึมเข้าไปภายในเซลล์ ทำให้เซลล์บวมน้ำ หรือคั่งน้ำเกิดภาวะที่ทางการแพทย์เรียกว่า ภาวะโซเดียมในเลือดต่ำหรือไฮโปแนทรีเมีย จะมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อาจกระตุกหรือชัก จากสมองบวม ปอดบวม และเสียชีวิตได้
ด้าน พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ กล่าวว่า กลุ่มที่ต้องระมัดระวังในการดื่มน้ำให้เหมาะสม ได้แก่ ผู้ที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคไต โรคหัวใจ จะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ซึ่งที่ผ่านมาประชาชนบางกลุ่มยัง มีความเชื่อว่า การดื่มน้ำมาก ๆ จะช่วยทำให้ผอมลง หรือกินน้ำบ่อย ๆ ให้อิ่มเพื่อลด น้ำหนัก ทำให้ร่างกายไม่อยากอาหาร วิธีการ เช่นนี้จะทำให้ร่างกายสูญเสียเกลือโซเดียม มากยิ่งขึ้น การดื่มน้ำมากเกินไปอาจทำให้นอนไม่พอ เนื่องจากต้องลุกขึ้นมาเข้าห้องน้ำกลางดึก อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มนักกีฬาหรือผู้ออกกำลังกายที่เสียเหงื่อมากขณะออกกำลังกาย อยู่แล้ว ก็ไม่ควรดื่มน้ำเกิน 1 ลิตรในเวลาอันรวดเร็ว เนื่องจากร่างกายสูญเสียเกลือโซเดียมไปพร้อมกับเหงื่อ หากดื่มน้ำมากเกินไป น้ำจะไปเจือจางเกลือโซเดียมที่เหลืออยู่ ทำให้เกิดภาวะไฮโปแนทรีเมียได้เช่นกัน
ส่วนความคืบหน้าทางคดีวันเดียวกัน นายณรงค์ บุญนคร อายุ 51 ปี พ่อของพี่น้องฝาแฝดได้นำหลักฐานซึ่งเป็นผลการตรวจศพของ รพ.สะเดา จ.สงขลา ก่อนที่แฝดน้องจะเสียชีวิตไปมอบให้กับ ร.ต.ท.ปวิช ฤทธิ์ธรรมนาก พนักงานสอบสวน สภ.สะเดา เจ้าของคดีหลังจากที่ได้เข้าแจ้งความไว้แล้วเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา เพื่อใช้เป็นหลักฐานเอาผิดกับ นางกาญจนา ทรรมวงศ์ศา อายุ 36 ปี ร่างทรง ประกอบพิธี ในข้อหาฐานฆ่าคนตาย แต่ทางพนักงานสอบสวนยังไม่ได้แจ้งข้อหากับ นางกาญจนา เนื่องจากต้องรอหลักฐานผลการผ่าชันสูตรศพของแพทย์นิติเวช รพ.สงขลานครินทร์ มาเป็นหลักฐานประกอบการดำเนินคดี
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2556 หน้า 1
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้