ข่าว/ความเคลื่อนไหว
"สังคมรู้ดี รับทราบปัญหา แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่จัดการ รัฐมีท่าทีรีรอและไม่รู้ว่ามีผลประโยชน์ใด แต่ละปีมีคนตายจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 26,000 คน มีนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้นปีละ 250,000 คน แล้วทำไมไม่จริงจังกับการแก้ปัญหา ถึงเวลาแล้วหรือยัง"
แม้จะเป็นที่ชัดเจนอย่างไม่มีข้อสงสัยใดๆ แล้ว สำหรับปัญหาร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบมหาวิทยาลัย ที่มีการละเมิดกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ทั้งผิดกรณีแสดงป้ายบิลบอร์ดขนาดใหญ่ของบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ป้ายหน้าร้านค้า ป้ายตู้ไฟ ที่เข้าข่ายผิดกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการขาย รวมถึงหลายร้านเหล้ารอบมหาวิทยาลัยมีจัดโปรโมชั่นลดแลกแจกแถมเพื่อกวาดต้อนเหล่านักศึกษา ซึ่งผิดเต็มประตู แต่ถึงกระนั้นก็ดีการละเมิดกฎหมายเพื่อขายเหล้า-เบียร์ให้นักศึกษาและดึงดูดนักดื่มหน้าใหม่ก็ยังคงดำเนินไป
เมื่อวันที่ 24 กันยายน เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่และนักศึกษาจากหลายสถาบัน เข้ากระทรวงศึกษาธิการเพื่อร้องเรียนปัญหาร้านเหล้ารอบมหาวิทยาลัย พร้อมนำหลักฐานการทำผิด พ.ร.บ.คุมน้ำเมา และผลสำรวจความหนาแน่นของร้านเหล้ารอบมหาวิทยาลัยมอบให้ด้วย ในอีก 7 วันต่อมาเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่เข้าพบอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อยื่นหนังสือติดตามความคืบหน้า มาตรการป้องกันและแก้ปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้เครือข่ายก็ยังยื่นข้อมูลผลสำรวจร้านเหล้าและการทำผิดกฎหมายของร้านเหล้า ผับบาร์ ที่เป็นหลักฐานชัดเจนซ้ำด้วย
เครือข่ายเยาวชนฯ ยังคงยืนหยัดที่จะเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งผลักดันกฎหมายโซนนิ่งร้านเหล้ารอบสถานศึกษา เพื่อปกป้องเยาวชนอนาคตของชาติโดยไม่ยอมแพ้ เลือกที่จะสู้ๆ ทั้งๆ ที่เคลื่อนไหวมาตรการจัดโซนนิ่งมาตลอด 5 ปี เนื่องจากเห็นตรงกันว่าร้านเหล้ารอบมหาวิทยาลัยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางการศึกษาและการเรียนของนิสิตนักศึกษา ที่ยังอยู่ในวัยอยากทดลองและมีพฤติกรรมเลียนแบบ หรือค่านิยมไม่ถูกต้องเกี่ยวกับเหล้า-เบียร์ เช่น ดื่มเพื่อมิตรภาพ สังสรรค์เพื่อความสนุกสนาน
ธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ กล่าวว่า แม้จะมีกฎหมายควบคุมน้ำเมา แต่โดยข้อเท็จจริงก็คือ สถานการณ์ปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังไม่ดีขึ้น กลายเป็นปัญหาเรื้อรัง โดยเฉพาะร้านเหล้ารอบสถานศึกษา ซึ่งกลุ่มเป้าหมายมุ่งที่เยาวชนและผู้กำลังศึกษา ตั้งแต่ 5 ปีที่แล้วพวกเราเรียกร้องมาตรการโซนนิ่ง แต่ยังไม่มีการตอบรับ พวกเราก็ไม่นิ่งเฉย เร่งสำรวจข้อมูลร้านเหล้ารอบมหาวิทยาลัย และล่าสุดต้องหวั่นวิตกกับข้อมูล พบร้านเหล้า 28 ร้านในรัศมี 300 เมตรต่อ 1 มหาวิทยาลัย จำนวนร้านถือว่าเยอะมาก ไม่ใช่ธรรมดาแล้ว ต้องเร่งแก้ไข โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อย่างย่านรามคำแหงและรัชดาภิเษก นอกจากนี้ยังมีผลสำรวจของศูนย์วิจัยปัญหาสุรา พบว่า 1 ตารางกิโลเมตรพบร้านเหล้า 57 ร้าน นี่เป็นสาเหตุหลักของการเข้าถึงเหล้าได้ง่าย ซื้อมาดื่มได้ง่ายๆ ทำให้จำนวนนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้น 250,000 คนต่อปี เห็นว่าการปฏิรูปการศึกษาของ ศธ. ต้องตระหนักถึงปัญหาร้านเหล้ารอบมหาวิทยาลัยด้วย นี่เป็นปัจจัยหนึ่งส่งผลต่อคุณภาพการศึกษา
ประเด็นที่เครือข่ายเรียกร้องมี 4 ประเด็น ประเด็นแรก ขอให้ผลักดันออกกฎหมายลูกภายใต้ พ.ร.บ.คุมน้ำเมาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรัศมี 300 เมตรรอบมหาวิทยาลัย กำหนดให้ร้านเดิมสามารถขายได้เพียง 5 ปี และช่วงเวลาดังกล่าวห้ามมีการออกใบอนุญาตให้กับผู้ขายใหม่ เพื่อคุมไม่ให้ร้านเหล้าใหม่เพิ่มขึ้น ข้อสอง ขอให้มีการลงพื้นที่ตรวจร้านเหล้า ผับบาร์ รอบมหาวิทยาลัยเพื่อบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และไม่ให้ละเมิด พ.ร.บ.คุมน้ำเมา โดยหยิบยกข้อมูลทำผิดของโฆษณาในป้ายบิลบอร์ดของบริษัทเหล้าที่เกิดขึ้นจำนวนมาก ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่จริงจังหรือละเลยปฏิบัติหน้าที่ อีกจุดยืนเครือข่ายขอให้ติดตามการใช้กลยุทธ์การตลาดผ่านกีฬาและดนตรีของบริษัท เหล้า เพราะพบการละเมิดกฎหมายหลายๆ มาตรา
นอกจากนี้ ร้องขอให้พิจารณาออกมาตรการห้ามบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใช้ศิลปิน ดารา นักกีฬา โฆษณา ประชาสัมพันธ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ธีรภัทร์กล่าวว่า เป็นการลดแรงจูงใจ เราไม่ต้องการให้ธุรกิจน้ำเมาใช้ช่องทางคนดังหรือนักกีฬายอดนิยมมาทำกิจกรรมของบริษัท เพราะจากผลสำรวจเยาวชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 1,600 กว่าคน พบว่าเหล่าศิลปิน นักกีฬาชื่อดัง มีผลสร้างแรงจูงใจร่วมทำกิจกรรมของบริษัทเหล้า อาจออกเป็นกฎหมายลูกอีกที
"สังคมรู้ดี รับทราบปัญหา แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่จัดการ รัฐมีท่าทีรีรอและไม่รู้ว่ามีผลประโยชน์ใด แต่ละปีมีคนตายจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 26,000 คน มีนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้นปีละ 250,000 คน แล้วทำไมไม่จริงจังกับการแก้ปัญหา ถึงเวลาแล้วหรือยัง" ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนฯ ถาม
อย่างไรก็ตาม นอกจากวอนให้เร่งจัดโซนนิ่งร้านเหล้าในรัศมี 300 เมตร พร้อมออกมาตรการต่างๆ มาควบคุมลดแรงจูงใจให้เมาเละเทะแล้ว ธีรภัทร์ได้แสดงความวิตกปัญหาขายเหล้าใต้หอพักนักศึกษา จากการสำรวจพบว่าสถานการณ์น่าเป็นห่วง 1 ใน 3 ของร้านใต้หอพักมีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งผิดกฎหมายอย่างชัดเจน โดยเป็นหน้าที่ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ต้องเข้ามาตรวจสอบดูแลจริงจัง
ในขณะเดียวกันกรมสรรพสามิตขยับกับปัญหาขายใต้หอพักแล้ว โดยสั่งเพิกถอนใบอนุญาตร้านเหล่านี้ คงต้องยอมรับมีช่องโหว่ทางกฎหมาย แต่ทุกฝ่ายไม่ควรละเลย เพราะหอพักเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของเยาวชน หากปล่อยให้เต็มไปด้วยร้านรวงขายของมึนเมาจะมีผลกระทบตามมามากมาย ทั้งอาชญากรรม ทะเลาะวิวาท รุนแรงทางเพศ จนถึงขั้นบาดเจ็บเสียชีวิต ไม่ใช่เรื่องดีเช่นกันกับร้านเหล้ารอบสถานศึกษาที่ต้องเร่งจัดการ มีหลายร้านที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2556 หน้า 14
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้