ข่าว/ความเคลื่อนไหว
ภายหลังจากที่ประเทศไทยได้ดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพเพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศเข้าถึงบริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนและสัดส่วนผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และอุบัติการณ์การเกิดโรคใหม่ รวมถึงการขยายตัวของสถานพยาบาลเอกชน บวกกับความคาดหวังด้านบริการทางการแพทย์ของประชาชนที่ต้องการความเฉพาะมากขึ้น ล้วนแต่เป็นปัจจัยส่งผลให้ความต้องการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพิ่มมาก ส่งผลให้เกิดความไม่สมดุลกับจำนวนแพทย์เฉพาะทางที่มีอยู่และในอนาคตมีแนวโน้มว่าปัญหาขาดแคลนนี้จะเพิ่มมากขึ้น
จากรายงานการศึกษา "ความต้องการแพทย์เฉพาะทางของระบบการให้บริการสุขภาพระดับทุติยภูมิ และตติยภูมิในประเทศไทย" โดย นางสาวพุดตาน พันธุเณร อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับ ศ.นพ.ศุภสิทธิ์ พรรณารุโณทัย คณบดีคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร สนับสนุนโดยคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งได้คาดการณ์ความต้องการของแพทย์เฉพาะทางในสาขาต่างๆ โดยพบว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีความขาดแคลนแพทย์เฉพาะทางเพิ่มมากขึ้น
นอกจากการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุ ผู้ป่วย และความต้องการบริการการแพทย์เฉพาะทางมากขึ้น ตลอดจนการขยายตัวของโรงพยาบาลเอกชนแล้ว การกระจายแพทย์และผลิตแพทย์เฉพาะทางยังมีปัญหาที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของระบบบริการด้วยเช่นกัน เพราะขณะที่กระทรวงสาธารณสุขจัดสรรทุนโควตาแพทย์ประจำบ้านเพื่อเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แต่บางสาขากลับมีแพทย์สมัครเข้ารับทุนต่ำกว่าครึ่ง ได้แก่ ศัลยแพทย์ทั่วไป สมัครเพียงร้อยละ 34 ของทุน สูตินรีแพทย์ ร้อยละ 38 ของทุน และมีหลายสาขาที่รับทุนประมาณครึ่งหนึ่ง ได้แก่ ประสาทศัลยแพทย์ ร้อยละ 47 ของทุน วิสัญญีแพทย์ ร้อยละ 57 ของทุน แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ร้อยละ 58 ของทุน และจิตแพทย์ ร้อยละ 59
ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลแพทยสภาที่พบว่า แพทย์เข้าศึกษาเฉพาะทางระหว่างปี 2552-2554 มีประมาณครึ่งหนึ่งของโควตาแพทย์ประจำบ้านในสาขาต่อไปนี้ ศัลยแพทย์ทั่วไป ร้อยละ 53 ของโควตา สูตินรีแพทย์ ร้อยละ54 ของโควตา ประสาทศัลยแพทย์ ร้อยละ 56 ของโควตา และวิสัญญีแพทย์ ร้อยละ 69 ของโควตา แต่ในขณะเดียวกันพบว่า มีแพทย์ทั่วไปได้ย้ายออกจากระบบบริการสุขภาพในชนบทเป็นจำนวนมาก โดยในปี 2551- 2553 มีแพทย์ลาออกจากกระทรวงสาธารณสุข 600-782 คนต่อปี และส่วนใหญ่มีเป้าประสงค์เพื่อการศึกษาต่อเฉพาะทาง ในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งเลือกที่จะอยู่ในโควตาอิสระเพื่อจะได้ไม่ต้องมีภาระชดใช้ทุนเมื่อสำเร็จเป็นแพทย์เฉพาะทาง
ขณะเดียวกันเมื่อได้ศึกษาความต้องการแพทย์ทั่วไปและแพทย์เฉพาะทาง โดยพิจารณาภาระงานจากฐานข้อมูลผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมและน้ำหนักสัมพัทธ์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ปี 2552 พบว่า ปัจจุบันยังมีแพทย์ไม่เพียงพอต่อความต้องการในทุกสาขาที่ได้วิเคราะห์ โดยสาขาขาดแคลนมากที่สุดคือ อายุรแพทย์ขาด 3,409 คน รองลงมา ศัลยแพทย์ 1,761 คน และวิสัญญีแพทย์ 1,562 คน ส่วนแพทย์ในสาขาอื่นๆ ได้แก่ กุมารแพทย์ ขาดประมาณ 758 คน แพทย์ออโธปิดิกส์ขาด 694 คน สูตินรีแพทย์ขาด 654 คน โสต ศอ นาสิกแพทย์ขาด 346 คน ประสาทศัลยแพทย์ขาด 402 คน และสาขาที่ขาดน้อยที่สุดคือจักษุแพทย์ ขาดเพียง 184 คนเท่านั้น ขณะที่แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ถ้าตั้งสมมุติฐานว่าควรจะมีครึ่งหนึ่งของจำนวนแพทย์เฉพาะทาง คือประมาณ 12,000 คน หมายถึงประเทศไทยขาดแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวจำนวนมากถึง 5,600 คน
จากการคาดการณ์ความต้องการแพทย์ทั่วไปและแพทย์เฉพาะทางในปี 2562 โดยคำนึงถึงโครงสร้างของประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป ประเทศไทยจะมีความต้องการแพทย์สาขาต่างๆเพิ่มขึ้น ยกเว้นสาขา สูตินรีแพทย์ โสต ศอ นาสิก แพทย์ และกุมารแพทย์ โดยเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนแพทย์ที่คาดว่าจะผลิตได้ในอีก 10 ปีข้างหน้า พบว่า ทุกสาขายกเว้นสาขา โสต ศอ นาสิก แพทย์ กุมารแพทย์ จะผลิตได้ไม่พอกับความต้องการของประชนในอนาคต อาทิ สาขาอายุรแพทย์มีรองรับ 6,643 คน ขณะที่ความต้องการอยู่ที่ 10,687 คน, ศัลยแพทย์มีรองรับ 2,863 คน ความต้องการอยู่ที่ 4,718 คน, วิสัญญีแพทย์มี
ด้าน น.อ.(พิเศษ) นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า จำนวนแพทย์ที่ขาดแคลนในรายงานการศึกษาข้างต้นไม่ตรงกับทางแพทยสภา ปัจจุบันมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 80 สาขา ต่อยอดเรียนในระดับปริญญาโทและเอก แพทย์บางคนเรียนหลายสาขาจึงต้องใช้ข้อมูลเหล่านี้ประกอบด้วย อย่างไรก็ตามยอมรับว่าปัจจุบันมีปัญหาขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาเหตุไม่ได้เกิดจากจำนวน แต่มาจากความขาดแคลนที่มาจากความต้องการของประชาชนที่ต้องการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง ซึ่งเรียกว่าความขาดแคลนเทียม เพราะจำนวนแพทย์นั้นมีเพียงพอ แต่มาจากความต้องการเฉพาะที่เพิ่มมากขึ้น และเกิดจากไม่มีตำแหน่งบรรจุแพทย์ทำงานในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ดังนั้นหากแพทยสภาผลิตอายุรแพทย์ได้ปีละ 200 คน แต่กระทรวงไม่สามารถบรรจุให้ได้ทั้งหมด ทำให้แพทย์ที่ผลิตได้ไหลไปสู่ระบบอื่น
นอกจากนี้ยังมีปัญหาการให้ทุนเพื่อเรียนต่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ปัจจุบันแพทย์สภาสามารถผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ปีละ 1,500 คน แต่กระทรวงสาธารณสุขให้ทุนเรียนเพียงแค่ 600 ทุนต่อปี ดังนั้นแพทย์ทั่วไปที่เหลืออีก 800-900 คนจึงเรียนต่อด้วยทุนที่อื่นและไหลออก ดังนั้นปัญหาขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในอนาคตนั้นมาจากการกระจายแพทย์ที่ไม่สมบูรณ์หรือที่เรียกว่า "การกระจายพร่อง" มากกว่า
"วันนี้การผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแพทยสภาได้ผลิตเต็มกำลัง แต่แพทย์จำนวนหนึ่งไม่ได้เรียนด้วยทุนของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อจบจึงมีสิทธิ์เลือกจะทำงานที่ไหน ขณะนี้จึงขึ้นอยู่กับกระทรวงสาธารณสุขต้องดูว่าต้องการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่าไหร่ แล้วจึงหารือกับทางแพทยสภาเพื่อร่วมแก้ไข" รองเลขาธิการแพทยสภา กล่าวและว่า นอกจากนี้สิ่งที่เป็นห่วง คือแต่ละปีมีแพทย์จบใหม่ 2,800 คน แต่กลับสอนระดับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ปีละ 1,500 คน นั่นหมายความว่า ครึ่งหนึ่งจะไม่ได้เข้าเรียนต่อและจะมีจำนวนสะสมมากขึ้น
ขณะที่ นพ.วัชรพงศ์ พุทธิสวัสดิ์ ประธานราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สาขาศัลยแพทย์ทั่วไปเป็นสาขาที่ขาดแคลนแพทย์อย่างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด เรียกได้ว่าการขาดแคลนศัลยแพทย์นี้ เป็นการขาดที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งบางจังหวัดอยู่ในระดับวิกฤต อย่างที่ จ.บึงกาฬที่มีประชากร 5 แสนคน แต่กลับมีศัลยแพทย์เพียงแค่ 2 คนเท่านั้น ขณะที่บางจังหวัดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่มีศัลยแพทย์ประจำอยู่เลย ในการผ่าตัดทั่วไปต้องให้หมอกระดูกทำแทน เป็นต้น และเมื่อเปรียบเทียบแพทย์ต่อจำนวนประชากรยังพบว่า ระหว่าง กทม.กับต่างจังหวัดมีความแตกต่างกันถึง 10 เท่า สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการกระจายตัวของศัลยแพทย์ บางจังหวัดมีศัลยแพทย์เหลือเฟือ แต่บางจังหวัดไม่มีเลย
"ปัญหาขาดแคลนศัลยแพทย์นับเป็นปัญหาวิกฤตของประเทศ ปัจจุบันทั่วประเทศมีศัลยแพทย์ทั่วไปประมาณ 2,000 คน ในจำนวนนี้ บางคนสูงอายุไม่ทำการผ่าตัดแล้ว ซึ่งไม่เพียงพอ จึงต้องเพิ่มการผลิต ทั้งนี้นอกจากปัญหาปริมาณแล้ว ยังมีปัญหาการกระจายแพทย์ที่ต้องแก้ไขโดยสร้างแรงจูงใจให้ทำงานในพื้นที่" นพ.วัชรพงศ์ กล่าว และว่า ทั้งนี้ยังพบว่า ระยะหลังมีการเน้นอบรมแพทย์ผ่าตัดเฉพาะทางมากเกินไป ทำให้จากเดิมที่ศัลยแพทย์ที่ผ่าตัดได้หลายอย่าง ไม่กล้าผ่าตัดในส่วนอื่นๆ
ส่วนกรณีที่มีแพทย์จบใหม่สมัครเรียนศัลยแพทย์น้อย โดยมีผู้ขอรับทุนเพียงแต่ร้อยละ 34 ของทุนที่กระทรวงสาธารณสุขจัดไว้นั้น ที่ผ่านมาทางราชวิทยาลัยเอง พยายามกระตุ้นให้เรียนมากขึ้น แต่ยอมรับว่าในระยะหลังๆ แพทย์จบใหม่เลือกเรียนศัลยแพทย์น้อยมากและลดลงต่อเนื่อง จากเดิมที่เคยเป็นสาขาอันดับต้นๆ ที่เลือกเรียน อย่างไรก็ตามปัญหาการขาดแคลนศัลยแพทย์นี้ อยู่ระหว่างหารือกับส่วนที่เกี่ยว ทั้งโรงเรียนแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และแพทยสภาว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร
ดวงกมล สจิรวัฒนากุล
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2556 หน้า 16
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้