ข่าว/ความเคลื่อนไหว
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) โดยสำนักความร่วมมือโรคติดเชื้ออุบัติใหม่อุบัติซ้ำประจำภูมิภาคเอเชีย (APEIR) ร่วมกับ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดประชุมวิชาการ “โรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 : FACTS AND FUTURE” ขึ้น เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา ณ อาคารสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข โดยระดมผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ มาตรการ การจัดการการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 ของประเทศจีน พร้อมนำบทเรียนจากประเทศจีนมาประยุกต์ใช้ในการปรับแผนยุทธศาสตร์การควบคุมป้องกันโรค ตลอดจนการพัฒนาระบบการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคติดต่ออุบัติใหม่อุบัติซ้ำของประเทศไทย
ทั้งนี้ การระบาดล่าสุดของไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ H7N9 แสดงให้เห็นถึงความสำคัญในการนำบทเรียนของการศึกษาวิจัยของนักวิจัยจาก APEIR ที่ศึกษาไข้หวัดนก H5N1 มาประยุกต์ใช้ และ APEIR ได้พัฒนาข้อเสนอสำหรับผู้กำหนดนโยบายที่สอดคล้องกับการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ H7N9 ในปัจจุบันนี้
การศึกษาทางเศรษฐศาสตร์
การศึกษาแสดงให้เห็นว่าเกษตรกรรายย่อยได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคไข้หวัดนกเป็นอย่างมาก ศาสตราจารย์ Liu Wenjin จาก Chinese Academy of Sciences Institute of Microbiology กล่าวว่า เกษตรกรที่มีฐานะยากจนในชนบทซึ่งมีรายได้หลักที่ขึ้นอยู่กับการขายไก่นั้นต้องสูญเสียรายได้เพราะเมื่อเกิดการระบาด ความต้องการไก่ของตลาดลดลงอย่างมาก รวมทั้งจำเป็นต้องสั่งปิดตลาดค้าสัตว์ปีกที่พบการติดเชื้อไข้หวัดนก เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับประชาชน ทำให้ส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อผู้เลี้ยงไก่และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับการผลิตสัตว์ปีก จึงจำเป็นต้องร่วมกันหาวิธีการอื่นๆ ในการสนับสนุนผู้ผลิตกลุ่มนี้
ผลการวิจัยทางเศรษฐศาสตร์มีข้อแนะนำว่า รัฐบาลควรสนับสนุนการสร้างโรงเชือดสัตว์และตู้แช่แข็งเพื่อที่จะช่วยเก็บรักษาซากสัตว์ปีกเพื่อรองรับความผันผวนของราคาในท้องตลาด ซึ่งจากการระบาดของโรคไข้หวัดนก เกษตรกรจำนวนมากไม่สามารถขายสัตว์ปีกได้ จึงจำเป็นต้องหาวิธีสนับสนุนเกษตรกรเหล่านี้เมื่อเกิดภาวะวิกฤตการณ์ทางตลาดในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ H7N9 ซึ่งในปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่เขต Jiangsu, Zhejiang Anhui และพื้นที่อื่นๆ ไกลออกไป รวมทั้งควรมีมาตรการสนับสนุนการสร้างอาชีพอื่นๆ ให้เป็นทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการเลี้ยงสัตว์ปีกให้สามารถชดเชยรายได้ที่หายไปและรักษาระดับคุณภาพชีวิตไว้ได้ ทั้งนี้ ผลการศึกษาการดำเนินการของรัฐบาลต่อโรคไข้หวัดนก H5N1 แสดงให้เห็นว่า แม้นโยบายของรัฐบาลนั้นจะเน้นให้การสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในการผลิตสัตว์ปีก แต่ อุตสาหกรรมการผลิตขนาดเล็กก็ยังคงต้องการการสนับสนุนเช่นกัน เนื่องจากเป็นแหล่งรายได้สำคัญสำหรับผู้หญิงและคนยากจนในชนบท
การศึกษาเกี่ยวกับการควบคุมและการป้องกัน
คณะนักวิจัยได้ศึกษาถึงประสิทธิผลของมาตรการการควบคุมป้องกันโรคไข้หวัดนก H5N1 พบว่า การดำเนินการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพในฟาร์มที่ทำการศึกษาส่วนมากยังคงมีข้อบกพร่องร้ายแรง เนื่องจากมาตรการรักษาความปลอดภัยยังไม่เพียงพอที่จะป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 เข้ามาในฟาร์มได้ รวมทั้งไม่สามารถป้องกันไม่ให้สัตว์ปีกติดเชื้อ ซึ่งไม่เพียงแต่ฟาร์มขนาดเล็กเท่านั้น แม้แต่ฟาร์มขนาดใหญ่ก็ยังไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพเช่นกัน
สำหรับพื้นที่ซึ่งในปัจจุบันยังไม่พบการระบาดของเชื้อไวรัส จำเป็นจะต้องมีการปรับปรุงมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพในฟาร์มให้สอดคล้องตามข้อปฏิบัติขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) หากแต่มาตรการที่เสนอและนำมาใช้จะต้องมีราคาไม่แพงจนเกินไป และต้องสอดคล้องกับระบบการผลิตที่มีอยู่เดิม
นอกจากนี้ การศึกษาต่างๆ ยังพบอีกว่า การควบคุมเชื้อไข้หวัดนก H5N1 โดยการกำจัดสัตว์ปีกเป็นบริเวณกว้างรอบพื้นที่ที่มีการติดเชื้อนั้น ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงมากต่อการดำรงชีวิตของเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรที่มีรายได้น้อยในชนบท เนื่องจากทำให้เกิดการหยุดชะงักของการผลิตสัตว์ปีก ทั้งที่ยังไม่มีหลักฐานว่าการคัดทิ้งในวงกว้างจะมีประสิทธิภาพดีกว่าการคัดทิ้งในวงจำกัดที่ทำควบคู่กับการเฝ้าระวังโรคเพื่อตรวจพบการติดเชื้อในฝูง สำหรับการจ่ายค่าชดเชยในการทำลายสัตว์ปีกนั้นจะครอบคลุมความเสียหายเพียงแค่บางส่วน แต่ไม่ครอบคลุมการสูญเสียของธุรกิจหรือเงินกู้ยืมของเกษตรกรหากไม่สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้เป็นระยะเวลานานๆ
ด้านผู้กำหนดนโยบายของประเทศจีนอาจต้องเผชิญกับการตัดสินใจอีกครั้ง ว่าจะใช้วัคซีนในสัตว์ปีกเพื่อควบคุมโรครวมถึงลดโอกาสของการสัมผัสไวรัส H7N9 จากมนุษย์หรือไม่ การศึกษาของ APEIR เกี่ยวกับการพัฒนานโยบายในการควบคุมโรค แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการมีหลักฐานที่ชัดเจนในการพิจารณาความเหมาะสมและข้อเสียของการใช้วัคซีน ทำให้สามารถใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์นี้ประกอบการพิจารณาตัดสินใจโดยไร้การแทรกแซงจากภายนอก แม้ว่าจะยังคงไม่มีหลักฐานชี้ให้เห็นว่าไวรัส H7N9 ส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดใหญ่ในมนุษย์ แต่การระบาดครั้งนี้ เป็นการกระตุ้นเตือนให้ทุกประเทศเห็นความสำคัญของการมียาต้านไวรัสจำนวนเหมาะสมในคลังเวชภัณฑ์
การศึกษาวิจัยในนกที่อยู่ในธรรมชาติ
APEIR ยังได้ร่วมศึกษาวิจัยไข้หวัดนกในนกที่อยู่ในธรรมชาติ โดยผลวิจัยแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในนกที่อยู่ในธรรมชาติ และจากข้อมูลการศึกษาทางพันธุกรรมของเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ H7N9 ในปัจจุบัน ชี้แนวโน้มให้เห็นว่า ส่วนประกอบของ H และ N ของเชื้อไวรัสนั้นน่าจะมาจากนกที่อยู่ในธรรมชาติ สิ่งที่แน่ชัดจากการศึกษาทางพันธุกรรมอีกประการหนึ่งคือ ระบบการเฝ้าระวังที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ยังไม่สามารถตรวจพบแหล่งของไวรัสดั้งเดิมในสัตว์ได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการเสริมสร้างความเข้มแข็งในส่วนนี้
นอกจากนั้น การศึกษาของ APEIR ยังพบสายพันธุ์ไข้หวัดอื่นๆ นอกเหนือไปจาก H5N1 อีกด้วย ซึ่งข้อมูลนี้ช่วยเพิ่มความเข้าใจถึงความสามารถในการเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์อื่นๆ ของนกในธรรมชาติได้อีกด้วย พร้อมนี้ APEIR ได้เสนอว่า ควรมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลลำดับพันธุกรรมของไวรัสไข้หวัดใหญ่ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์จีนได้ทำให้ดูเป็นตัวอย่างแล้ว จากกรณีไวรัส H7N9 ที่ปัจจุบันนักวิจัยของ APEIR ได้แก่ Dr. Lei Fumin จาก Chinese Academy of Sciences กำลังสอบสวนถึงความเป็นไปได้ที่นกในธรรมชาติจะมีบทบาทในการแพร่เชื้อไข้หวัดนก H7N9
Dr. Lei Fumin กล่าวว่า “ข้อมูลเบื้องต้นของเรานั้นชี้ให้เห็นแล้วว่าไวรัสนี้อาจมีการแพร่เชื้อในวงกว้างในหมู่นกอพยพและฟาร์มไก่ จึงมีความสำคัญที่จะประเมินโอกาสความเป็นไปได้นี้ด้วยงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในนกธรรมชาติขณะที่อพยพจากทางเหนือของจีนสู่พื้นที่ขยายพันธุ์ในฤดูร้อน”
ข้อมูลจากการศึกษาถึงนโยบายต่อโรคไข้หวัดนกครั้งนี้ยังพบอีกว่า นโยบายในส่วนของภาคปศุสัตว์ควรสอดคล้องกับนโยบายของภาคสาธารณสุข โดยมีเป้าหมายเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสในมนุษย์
นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และประธานคณะกรรมการบริหาร APEIR กล่าวว่า APEIR เป็นเครือข่ายการวิจัยโรคติดต่ออุบัติใหม่อุบัติซ้ำเพียงแห่งเดียวในเอเชีย ซึ่งประกอบด้วยกว่า
30 สถาบัน จาก 6 ประเทศ (กัมพูชา จีน อินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ไทยและเวียดนาม) เครือข่ายความร่วมมือนี้ดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือระดับโลก ระดับภูมิภาคและระดับประเทศ นอกจากนี้ ผลการศึกษาวิจัยภายใต้การดำเนินงานของ APEIR ทำให้เกิดองค์ความรู้มากมาย จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะนำผลการวิจัยมาใช้ประโยชน์เพื่อลดผลกระทบและป้องกันการเกิดโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ H7N9 และที่สำคัญ APEIR มีความพร้อมที่จะแสดงบทบาทในการสอบสวนโรคและสู้กับไวรัส H7N9
“การประชุมในครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักวิจัยเครือข่าย APEIR จากประเทศจีน ซึ่งพบว่ามีการระบาดของโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ H7N9 งานวิจัยระบุว่า H7N9 เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีการแพร่พันธุ์จากสัตว์ปีกในจีน จำพวกเป็ดและนกที่ไม่ได้มีสายพันธุ์อยู่ในประเทศไทย ซึ่งแม้ว่ายังไม่มีการระบาดเข้ามาในไทยในความร่วมมือระหว่างประเทศจำเป็นต้องมีการเฝ้าระวังในด้านการค้าขายเนื้อสัตว์ การซื้อขายสัตว์ตามชายแดนที่อาจทำให้เกิดการแพร่เชื้อจนนำไปสู่การระบาดของโรคได้”
นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าวด้วยว่า ในด้านของการวิจัยจำเป็นต้องมีการศึกษาอย่างละเอียดต่อเนื่อง เพราะเชื้อไวรัสในปัจจุบันมีความหลากหลายและเป็นต้นเหตุของการเกิดโรคที่แตกต่างกัน อีกทั้งมนุษย์กับสัตว์ต้องอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างปฏิเสธไม่ได้ โดยเฉพาะคนเราต้องบริโภคเนื้อสัตว์เป็นอาหาร อย่างไรก็ตามประเด็นที่เราต้องให้ความสำคัญคือ ไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ที่พบเดิมทีเมื่อสัตว์ได้รับเชื้อแล้วจะตาย แต่ H7N9 เมื่อสัตว์ได้รับเชื้อมาแล้วพบว่าไม่มีอาการของโรค จึงเป็นเรื่องยากในการป้องกัน ฉะนั้นความร่วมมือในระหว่างประเทศทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูล การศึกษาวิจัย รวมถึงแนวทางการป้องกัน ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง”
สำหรับท่านที่สนใจสามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ APEIR และโครงการที่เกี่ยวกับไข้หวัดนกทั้ง 5 โครงการ ได้ที่สำนักความร่วมมือโรคติดเชื้ออุบัติใหม่อุบัติซ้ำประจำภูมิภาคเอเชีย (APEIR Coordinating Office) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส) อีเมล์ pornpit@health.moph.go.th และ wichukorn3@gmail.com หรือดูข้อมูลจากเว็บไซต์ APEIR ที่ www.apeiresearch.net
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้