4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

ระบบวิจัยสุขภาพในทศวรรษหน้า

Teaser: 
ถ้าเปรียบสมองคือ อวัยวะสำคัญของมนุษย์ เป็นกลไกที่ทำให้มนุษย์ดำเนินชีวิตไปข้างหน้าได้... “ระบบวิจัย” ก็คือ “สมอง”

ถ้าเปรียบสมองคือ อวัยวะสำคัญของมนุษย์ เป็นกลไกที่ทำให้มนุษย์ดำเนินชีวิตไปข้างหน้าได้...
          “ระบบวิจัย” ก็คือ “สมอง” ซึ่งเป็นองคาพยพที่สำคัญของประเทศ ฉะนั้นหากต้องการให้สังคมเดินไปในแบบไหน หรือต้องการพัฒนาประเทศไปในทิศทางใด งานวิจัยจะเป็นตัวกำหนดทำให้ทางเดินนั้นชัดเจนมั่นคงยิ่งขึ้น บนภารกิจของการชี้นำสังคมด้วยข้อมูลทางวิชาการ บนฐานของการสร้างสมดุลของการพัฒนาทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และความสุขของประชาชน จำเป็นต้องออกแบบระบบวิจัยให้เหมาะสมเพื่อทำหน้าที่ของมันได้อย่างสมบูรณ์ โดยสิ่งสำคัญคือการนำความรู้ที่ได้จากงานวิจัยนี้ไปสู่การปฏิบัติให้ได้มากที่สุด

         ในภาพรวมของระบบวิจัย ผมอยากเห็นระบบที่เน้นการ “สร้างคน” เพราะทรัพยากรบุคคลเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการพัฒนา เป้าหมายไม่ควรจำกัดแค่การเพิ่มจำนวนและพัฒนาศักยภาพ “นักวิจัย” เท่านั้น แต่ผมอยากเห็นระบบที่ขยาย “การวิจัย” และ “การจัดการความรู้” ให้ครอบคลุมกว้างขวางไปถึงการส่งเสริมประชาชนให้เกิด “วัฒนธรรมการสร้างและใช้ความรู้” รวมถึงปฏิรูประบบ “การศึกษา” ให้เป็นระบบเน้น “การเรียนรู้” และสร้างแรงจูงใจในการใฝ่เรียนรู้ มากกว่าระบบการ “ท่องจำ” 

         ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า “ระบบสุขภาพ” เป็นเรื่องเกี่ยวกับสาธารณะเป็นส่วนใหญ่ นัยยะทางเศรษฐศาสตร์ “สุขภาพและบริการสุขภาพ” จึงไม่ใช่ “สินค้า” ปรกติ ที่สามารถใช้กลไกตลาดมาเชื่อมโยงให้เกิดความเป็นธรรมและประสิทธิภาพสูงสุดได้ จึงเป็นที่มาของคำตอบจากคำถามที่ว่า ทำไมรัฐบาลจึงควรเข้ามาดูแล 3 กองทุนสุขภาพด้วยตนเอง นั่นเพราะบริการสุขภาพเป็นบริการสาธารณะที่มุ่งหวัง เน้นความเป็นธรรม เท่าเทียมกันถ้วนหน้า

         ดังนั้น การวิจัยสุขภาพ จึงต้องเน้นประโยชน์สาธารณะมากกว่าประโยชน์ของปัจเจกชน นอกจากจำเป็นต้องลงทุนแล้ว ผู้ลงทุนหรืองบประมาณควรมาจากภาครัฐเป็นหลัก แต่การลงทุนพัฒนาและวิจัย (R&D) จากภาคเอกชนก็เป็นส่วนเสริม เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีซึ่งต้องรักษาสมดุลให้ได้ เช่น มีการควบคุมกำไรจากนวัตกรรมต่างๆ อย่างเหมาะสม รวมทั้งภาครัฐอาจอุดหนุนการวิจัยของภาคเอกชนเพื่อจูงใจให้ดำเนินการและส่งเสริมการทำกิจกรรมเพื่อสังคม (social entrepreneur)

         โดยทั่วไป งบวิจัยทุกสาขาของประเทศควรอยู่ที่ 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ที่ 0.2% ของ GDP อนาคตในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 จะตั้งงบไว้ 1% ถ้าคิดเป็นสัดส่วน ว่าภาครัฐลงทุน 50% เอกชน 50% ก็เท่ากับเรามีงบวิจัยเพิ่มขึ้นกว่าปัจจุบันเกือบเท่าตัวแล้ว แต่การเพิ่มทุนวิจัยนี้ ถ้าเพิ่มทันทีก็จะไม่สอดคล้องกับกำลังคน ปัญหาเฉพาะหน้าคือ การสร้างนักวิจัย ซึ่งวิธีที่เราใช้ คือ คัดเลือกคนที่สนใจเป็นนักวิจัยมาทำงานวิจัยก่อน เมื่อพร้อมแล้วจึงส่งไปเรียน อย่างนี้อัตราการคงตัวของนักวิจัยสูง ซึ่งผมอยากแนะนำองค์กรวิจัยทั้งหลายให้ปฏิบัติในแนวนี้

         หากจุดมุ่งหมายของการวิจัย คือ เพื่อสนับสนุนการพัฒนา จำเป็นต้องสร้างระบบการจัดการงานวิจัยหรือการจัดการความรู้ที่คล่องตัวมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้การพัฒนา รวมทั้งพัฒนา “ผู้จัดการงานวิจัย (RM)” และ “ผู้จัดการความรู้ (KM)” ให้เกิดขึ้นในทุกๆ องค์กร

         ผมคิดว่า ระบบสุขภาพก็ต้องสร้างคน สร้างงานวิจัย และมีกรอบหรือทิศทางของการวิจัยในเรื่องความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ ที่ควรส่งเสริมให้มีการวิจัยอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยไม่ใช่มุ่งอยู่ที่แง่ของการเข้าถึงบริการเท่านั้น ยังมีแง่มุมเรื่องสังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ และที่สำคัญ ต้องขยายแนวคิดการวิจัยจากงานประจำ (R2R) ให้กว้างขวางออกไป โดยทำให้นักวิจัยสนใจมากยิ่งขึ้น และการสนับสนุนต่อเนื่องให้เกิดนักวิจัยอาชีพ

         เราต้องยอมรับและเลี่ยงไม่ได้ที่จะพูดว่า ระบบการเมืองขาดความเป็นธรรมและจริยธรรมที่นำมาซึ่งปัญหาต่างๆ ดังนั้นอีกหนึ่งประเด็นใหญ่ที่ต้องใส่ใจ คือ การมองทั้งระบบ โดยต้องพิจารณาไปถึงว่าเราจะมีการอภิบาลระบบให้เกิดความโปร่งใส และตรวจสอบได้ได้อย่างไร เพื่อนำไปสู่ระบบที่เป็นธรรมและยั่งยืน โดยต้องเป็นระบบที่มีการเชื่อมโยง และการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ซึ่งเป็นประเด็นที่ควรให้ความสำคัญตั้งแต่วันนี้

         สวรส. เป็นกลไกวิชาการที่ยึดหลักสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา มีการดึงภาคประชาชน การเมืองมาร่วมด้วยเสมอ ยกเว้นบางเรื่องที่เป็นวิชาการ ที่เน้นทักษะ ความชำนาญขั้นสูงก็จะจำกัดวงตั้งแต่กลุ่มภาคประชาชนลงไป แต่เมื่อทำวิจัยเสร็จได้ผลแล้ว ทุกครั้งก็จะนำเสนอต่อสาธารณะ ซึ่งเป็นส่วนของการเชื่อมโยงงานวิจัยไปสู่การนำไปใช้ สวรส. พยายามเชื่อมโยงปัญหาและตอบสนองต่อสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น ล่าสุดมีการจัดเวทีสาธารณะแลกเปลี่ยนเรื่อง P4P ในเชิงสร้างสรรค์ ว่าควรเป็นอย่างไร มีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง เพื่อนำความรู้ที่ได้จากงานวิจัยไปใช้พัฒนาเพื่อการบรรลุเป้าหมายต่อไป

         ระบบวิจัยสุขภาพในทศวรรษหน้าจะเป็นสมองที่มีประสิทธิภาพ...พร้อมเชื่อมโยงกับร่างกาย อันหมายถึง การนำความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาหรือการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างเท่าทันสถานการณ์...
    

นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้