4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

สพฉ. จับมือ สวรส. และภาคีเครือข่าย เร่งพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินทางทะเล ชูประเด็น “ส่งต่อผู้ป่วยทางอากาศยานยามค่ำคืน” หลังพบสถิติ-กรณีศึกษาชี้ชัดความจำเป็นเร่งด่วน เดินหน้าต่อยอดงานวิจัยฯ สู่ Phase 3

18 กรกฎาคม 2568 สวรส. โดย ผศ.ดร.จรวยพร  ศรีศศลักษณ์  รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ได้เข้าร่วมประชุมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.), โรงพยาบาลสมุย และภาคีเครือข่าย ณ โรงพยาบาลสมุย โดย สพฉ.จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการและหารือ 2 วาระสำคัญ เพื่อยกระดับขีดความสามารถของระบบการแพทย์ฉุกเฉินไทย โดยมุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพการส่งต่อผู้ป่วยทางอากาศยานในเวลากลางคืน และการพัฒนาระบบความปลอดภัยในพื้นที่ท่องเที่ยวทางทะเลอย่างยั่งยืน หลังพบข้อมูลผู้ป่วยที่ต้องการการส่งต่อจำนวนมากและกรณีศึกษาที่น่าสลดใจซึ่งชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วน

การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อรับฟังข้อมูลและปัญหาจากผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ก่อนนำไปสู่การพัฒนานโยบายที่ตอบสนองต่อบริบทของพื้นที่อย่างแท้จริง โดยเฉพาะพื้นที่ทางทะเลซึ่งมีความซับซ้อน 3 บริบท ได้แก่ พื้นที่ชายฝั่ง, พื้นที่เกาะ (ซึ่งประเทศไทยมีมากกว่า 900 เกาะ) และพื้นที่ผิวน้ำ เช่น เรือประมง หรือแท่นขุดเจาะพลังงาน

ด้าน น.อ.(พิเศษ) พิสิทธิ์ เจริญยิ่ง รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวในที่ประชุมว่า "สพฉ. มีภารกิจในการจัดระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ยังไม่มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน การแก้ปัญหาทางทะเลไม่สามารถพึ่งพาระบบการลำเลียงเพียงทางเลือกเดียวได้ เช่น การใช้เรืออาจมีข้อจำกัดเรื่องสภาพอากาศ โดยเฉพาะในเวลากลางคืน ทางอากาศจึงเป็นอีกทางเลือกที่สำคัญ ซึ่งเป็นที่มาของการพูดคุยในวันนี้"

"แม้ว่าการบินในเวลากลางคืนเพื่อการแพทย์ฉุกเฉินจะมีความท้าทายสูงเรื่องความปลอดภัย แต่เราต้องหาทางทำให้เกิดขึ้นให้ได้ โดยเริ่มจากการกำหนดเหตุผลความจำเป็นที่ชัดเจน ว่าผู้ป่วยกรณีใดที่มีน้ำหนักมากพอเมื่อเทียบกับความเสี่ยงของทีมผู้ปฏิบัติงาน, การยอมรับและหาทางแก้ไขข้อจำกัดทั้งหมด เช่น การกำหนดจุดลงจอดที่ปลอดภัยล่วงหน้า และการประสานงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างกระบวนการที่รัดกุมและปลอดภัยที่สุด เราต้องเริ่มจากจุดที่คาดการณ์ได้และปลอดภัยก่อน แล้วจึงขยายผลต่อไป" 

ในที่ประชุม ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์  ได้สอบถามถึงข้อมูลสถิติของเคสวิกฤตในพื้นที่ โดย นายแพทย์มรรษยุว์ บุญมี แพทย์เวชศาสตร์ทางทะเล จากโรงพยาบาลสมุย ได้ให้ข้อมูลว่า ในปี พ.ศ. 2566 มีสถิติการส่งต่อผู้ป่วยมากถึงประมาณ 500 ราย และในปี พ.ศ. 2567 (ถึงปัจจุบัน) มีประมาณ 200-300 ราย ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการบริการการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ แพทย์หญิงพัชรณิภา สุขสมบูรณ์ แพทย์เวชศาสตร์ทางทะเล โรงพยาบาลสมุย ได้ยกกรณีศึกษาของผู้ป่วยภาวะเส้นเลือดแดงใหญ่ในช่องท้องโป่งพองแตก (Ruptured Aortic Aneurysm) ที่ต้องส่งต่อจากเกาะสมุยไปยังโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีในเวลากลางคืน โดยทีมแพทย์ต้องใช้เรือเร็ว (Speed Boat) ลำเลียงผู้ป่วยในช่วงเวลาประมาณ 02.00 น. ซึ่งการเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบาก และเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นในผู้ป่วยระหว่างทางถึง 2 ครั้ง แม้ทีมจะพยายามอย่างสุดความสามารถ แต่ท้ายที่สุดผู้ป่วยก็เสียชีวิตเนื่องจากไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ทันท่วงที

"เคสนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า หากเกิดขึ้นในเวลากลางวัน เราคงเลือกใช้เฮลิคอปเตอร์ซึ่งจะรวดเร็วกว่ามาก" พญ.พัชรณิภา กล่าว "คาดว่าในแต่ละปีมีเคสลักษณะนี้ที่ควรต้องใช้เฮลิคอปเตอร์ในเวลากลางคืนประมาณ 20 เคส การเดินทางด้วยเรือเร็วในคืนนั้น ทีมแพทย์ใช้เวลากว่า 8 ชั่วโมงในการเดินทางไป-กลับ ซึ่งเป็นเวลาที่มีค่าอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยวิกฤต"

ที่ประชุมได้มีการเสนอแนวทางและสะท้อนข้อกังวลจากหลายภาคส่วน โดย อ.ประสิทธิ์ ได้เสนอแนวคิดในการดึงสายการบินภาคเอกชนเข้ามาร่วมมือในการบินเวลากลางคืนเพื่อเพิ่มทางเลือกและความปลอดภัย ขณะที่ นพ.ดุลย์ ดำรงศักดิ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร รพ.วัฒนแพทย์สมุย ได้ให้ความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า ข้อจำกัดด้านกฎการบินเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องศึกษาเพิ่มเติม เพื่อให้การดำเนินการถูกต้องและปลอดภัยสูงสุด เนื่องจากมีความเสี่ยงสูง และภาคการบินเอกชนก็มีระเบียบในการบินเวลากลางคืนทั้งนี้เพื่อความปลอดภัย

อ.ประสิทธิ์ ยังได้เสนอเพิ่มเติมในเชิงระบบว่า ควรมีการจัดทำประกันความเสี่ยงให้ครอบคลุมทั้งบุคลากรและอากาศยาน และที่สำคัญที่สุดคือ กลไกการเบิกจ่ายค่าปฏิบัติการทางอากาศยานจากกองทุนที่เกี่ยวข้อง จะต้องมีความชัดเจนและครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด เพื่อสร้างแรงจูงใจให้โรงพยาบาลตัดสินใจเลือกใช้อากาศยานในการส่งต่อผู้ป่วยได้มากขึ้น

น.อ.(พิเศษ) พิสิทธิ์ ได้สรุปแนวทางการดำเนินงานขั้นต่อไปว่า "สพฉ. ขอให้โรงพยาบาลสมุยและเครือข่ายในพื้นที่ รวบรวมข้อมูลและจัดทำกลไกการตัดสินใจทางการแพทย์ให้แล้วเสร็จ จากนั้น สพฉ. จะทำหน้าที่เป็นคนกลางในการเชิญเจ้าของทรัพยากร ทั้ง 4 เหล่าทัพ, กระทรวงสาธารณสุข และมหาวิทยาลัย มาร่วมประชุมเพื่อหารือเรื่องการใช้อากาศยานในการขนส่งผู้ป่วยต่อไป"

ด้าน ผศ.ดร.จรวยพร ได้กล่าวทิ้งท้ายถึงการเชื่อมโยงกับงานวิจัยว่า "แนวทางการแก้ปัญหานี้ จะต้องเชื่อมโยงกับงานวิจัยการศึกษามาตราฐานความปลอดภัยระบบสาธารณสุขทางทะเล เพื่อให้งานวิจัยสามารถเข้ามาเป็นเครื่องมือสนับสนุนการจัดทำแนวทางปฏิบัติ (Protocol) ต่างๆ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด"

การประชุมในครั้งนี้จึงเป็นการรวบรวมข้อมูลจากผู้ปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การถอดบทเรียนและสร้างแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนสำหรับการส่งต่อผู้ป่วยทางอากาศยานในเวลากลางคืน เพื่อลดการสูญเสียและเพิ่มโอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินในพื้นที่ทางทะเลและหมู่เกาะของประเทศไทยต่อไป

รูปภาพเพิ่มเติม
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้