ข่าว/ความเคลื่อนไหว
วันที่ 17 กรกฎาคม 2568 ณ โรงพยาบาลเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) นำโดย ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้เดินทางเข้าร่วมการประชุมติดตามและประเมินผลโครงการสำคัญ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาต้นแบบระบบความปลอดภัยทางทะเล (ระยะที่ 1) และโครงการติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศความปลอดภัยทางทะเลแบบบูรณาการ (ระยะที่ 2) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางสุขภาพและยกระดับการท่องเที่ยวทางทะเลของไทยให้มีมาตรฐานสากล
การประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจากปลัดอำเภอเกาะสมุย กล่าวต้อนรับและเน้นย้ำถึงความสำคัญของโครงการนี้ ที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยทางการท่องเที่ยวทางทะเลในพื้นที่เกาะสมุย
จากนั้นในเวลา 09.00 น. ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการ สวรส. ได้นำเสนอผลการติดตามและประเมินผลโครงการ โดยย้ำว่าการวิจัยนี้มีการติดตาม ประเมินผล โดยมีเป้ามุ่งหวังต่อการนำผลวิจัยไปใช้และถ่ายทอดเพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์จริง เป้าหมายหลักคือการเสริมสร้างความมั่นคงทางสุขภาพเพื่อรับมือเหตุฉุกเฉินระดับประเทศ โดยใช้วิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมถึงการพัฒนาระบบนิเวศ Marine EMS (ระบบแพทย์ฉุกเฉินทางทะเล) วัตถุประสงค์และผลลัพธ์หลัก (OKR) ของโครงการประกอบด้วย การพัฒนาระบบสุขภาพ Marine EMS แบบบูรณาการ, การสร้างเครือข่ายงานวิจัยและผู้ใช้งาน, การพัฒนานวัตกรรมเช่นระบบข้อมูลความปลอดภัยทางทะเล, การผลักดันนโยบายที่ประกาศใช้,โดยเน้นย้ำถึงประโยชน์ที่ประชาชนได้รับจากการนำข้อมูลที่เชื่อถือได้ไปใช้ในพื้นที่
ต่อมาเวลา 09.30 น. นายแพทย์ประสิทธิ์ วุฒิสุทธิเมธาวี หัวหน้าทีมวิจัย ได้นำเสนอกิจกรรมวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบท่องเที่ยวปลอดภัย โดยนำเสนอกรอบแนวคิดความปลอดภัยทางทะเลของไทยที่มุ่งสู่ "การสาธารณสุขทางทะเลประเทศไทยมาตรฐานสากล" ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักคือการดูแลสุขภาพในพื้นที่ทางทะเลอย่างมีคุณภาพ และหนุนเสริมขีดความสามารถทางเศรษฐกิจ โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์ 5 ข้อหลัก ได้แก่
1.Maritime Promotion and Prevention: พัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคภัยและสุขาภิบาลอาหารและน้ำบนเกาะ.
2.Maritime Standard Service: พัฒนาบุคลากรแพทย์, ทีมกู้ชีพทางน้ำ, และห้องฉุกเฉิน.
3.Maritime EMS: พัฒนาศูนย์รับแจ้งเหตุ, สั่งการทางการแพทย์, และหน่วยแพทย์ฉุกเฉินในอุทยานแห่งชาติ.
4.Maritime Information & Innovation: พัฒนาศูนย์รวบรวมข้อมูลและนวัตกรรม.
5.Maritime Integration & Collaboration: บูรณาการทำงานกับทุกภาคส่วนและท้องถิ่น.
ซึ่งเป็นโมเดลระบบการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่ห่างไกลที่ครอบคลุมการดูแลในโรงพยาบาล, ชุมชน, ณ จุดเกิดเหตุ, การส่งต่อ, และการดูแลฉุกเฉินเบื้องต้น รวมถึงการสื่อสาร, การจัดการข้อมูล, และความรอบรู้ด้านสุขภาพ. ผลจากโครงการนี้ทำให้ประชาชนมีความรู้และทักษะเวชศาสตร์ทางทะเลเบื้องต้น, มีแนวปฏิบัติการดูแลรักษาโรคสำคัญและการจัดการภาวะฉุกเฉินทางทะเลที่ครอบคลุมทั้งทางบก, น้ำ, และอากาศ เกิดเครือข่ายความร่วมมือ และสร้างความเชื่อมั่นด้านการจัดการภาวะฉุกเฉิน นายแพทย์ประสิทธิ์ยังกล่าวเสริมว่า หากสาธารณสุขดี จะสามารถยกระดับคุณภาพในด้านต่างๆ และโครงการนี้จะช่วยเสริมระบบสุขภาพโดยรวม
ด้าน นพ.มรรษยุว์ อิงคภาสกร แพทย์เวชศาสตร์ทางทะเลและทีมนําการพัฒนาระบบท่องเที่ยวปลอดภัย ได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์ผู้ประสบภัย และชี้แจงถึงจุดอ่อนที่พบคือ บุคลากรสาธารณสุขยังขาดความรู้ในการจัดการ ทั้งด้านวิธีการสื่อสาร, การช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องต้น, และวิธีการส่งต่อผู้ป่วย โดยยกกรณีข้อค้นพบจากงานวิจัยที่สามารถนำมาช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ นพ.มรรษยุว์ยังได้กล่าวถึง น.อ.(พิเศษ) พิสิฐ เจริญยิ่ง รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) โดยอยากให้เข้ามามีบทบาทในการฝึกอบรมให้ความรู้ด้านความปลอดภัยทางทะเล เพื่อลดอุบัติเหตุและการสูญเสียที่เกิดขึ้น
จากนั้นที่ประชุมได้เชิญตัวแทนภาคีความร่วมมือที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการนำข้อมูลที่ได้จากงานวิจัยไปปรับใช้ได้ให้ข้อเสนอจากกรมเจ้าท่าได้รายงานผลการดำเนินงาน โดยปลัดอำเภอได้กล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวทางทะเลในพื้นที่เกาะสมุย
โดยแพทย์หญิงพัชรณิภา ด่วนเดิน ได้ให้ข้อมูลว่า โครงการวิจัยดังกล่าวได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์มีความรู้และสามารถบริหารจัดการดูแลคนไข้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (First Aid), การสำรวจจุดเสี่ยงการจมน้ำช่วยลดเหตุการณ์ได้มากขึ้น, มีกระบวนการช่วยเหลือผู้ประสพภัยทางทะเลที่ดีขึ้น
ด้านน.อ.(พิเศษ) พิสิฐ ได้เน้นย้ำถึงความเพียงพอและมาตรฐานของอุปกรณ์ ตลอดจนความร่วมมือกับเครือข่าย และการกำกับทิศทางให้เป็นไปตามมาตรฐานเพื่อขับเคลื่อนสู่ระดับนโยบายระหว่างประเทศ
ช่วงท้ายนายแพทย์ประกิจ สาระเทพ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาครในฐานะตัวแทนจากฝ่ายกระทรวง ได้กล่าวถึงปัญหาที่ผ่านมาเคยมีแผนปฏิบัติการสาธารณสุขด้านสาธารณสุขทางทะเลที่ประกาศใช้ในปี 2562-2565 แต่ด้วยสถานการณ์และนโยบายเร่งด่วนต่างๆ ทำให้แผนดังกล่าวไม่ถูกนำมาใช้ที่ชัดเจน ซึ่งความพยายามปัจจุบัน โครงการวิจัยร่วมกับ สพฉ. และ สวรส. พยายามนำแผนเดิมมาปรับปรุงให้เข้ากับบริบทของพื้นที่ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ชัดเจนขึ้น ในด้านบทบาทกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะที่เคยอยู่กองสาธารณสุขฉุกเฉิน ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ กระทรวงฯ มีบทบาทในการรับรองหลักสูตรที่ทีมวิจัยคิดขึ้น เพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้จริง และจะช่วยขับเคลื่อนงานในภาพรวม
ในช่วงบ่าย เวลา 13.00-16.30 น. ทีม สวรส. และทีมวิจัย ได้ลงพื้นที่สำรวจบริเวณเกาะสมุยที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจกรรมพัฒนาการท่องเที่ยวปลอดภัย ซึ่งได้แก่ จุดชมวิวเกาะสมุย ที่เคยเกิดเหตุนักท่องเที่ยวเสียชีวิตจากการจมน้ำจากกระแสน้ำวน ซึ่งจุดนี้ถือเป็น 1 จุดเสี่ยงที่งานวิจัยได้ดำเนินการสำรวจและจัดทำข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัย
จากนั้นไดินเดินทางไปจุดที่ 2 บริเวณหาดเฉวง ซึ่งเป็นอีกจุดที่มีนักท่องเที่ยวถูกกระแสน้ำดูด หรือกระแสน้ำดูด" (Rip Current) เสียชีวิตจำนวนมาก จากข้อมูลนี้ทางทีมวิจัยจึงได้นำเอากระบวนการฝึกอบรมการให้ความรู้ด้านการช่วยเหลือผู้ประสพภัยทางทะเลจัดอบรมให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ทำให้เกิดการลดอัตราการเสียชีวิตลงได้อย่างมาก และจากนั้นได้ไปดูการฝึกซ้อมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสพภัยในพื้นที่ห่างไกลฝั่ง โดยได้มีการจำลองเหตุการณ์อุบัติเหตุ การเข้าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ และการนำส่งผู้ป่วยไปรักษา
จากการประชุมและลงพื้นที่ทำให้พบว่าผลจากการวิจัยจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหลายด้าน ได้แก่ การนำงานวิจัยไปกำหนดนโยบาย (Research to Policy), การนำงานวิจัยไปสู่การปฏิบัติ (Research to Practice), การนำงานวิจัยไปเผยแพร่ (Research to Publication) และผู้ได้รับประโยชน์ ได้แก่ สังคมและชุมชน, ภาคเอกชน, และหน่วยงานภาครัฐ เช่น หน่วยงานบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวและหน่วยงานด้านสุขภาพ สิ่งส่งมอบหลักคือกรอบความปลอดภัยทางทะเล (Marine Safety Framework) ซึ่งมีผลผลิต (Output) เป็นมาตรฐานระบบข้อมูลความปลอดภัยทางทะเลแบบ Platform (คู่มือ, แนวทาง, หลักสูตร), ผลลัพธ์ (Outcome) ที่เกิดจากการใช้งานโดยนักท่องเที่ยวและประชาชน, และผลกระทบ (Impact) ต่อประชาชน
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้