ข่าว/ความเคลื่อนไหว
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เปิดเวที HSRI’s Open House บอกเล่าถึงทิศทางการบริหารจัดการงานวิจัยระบบสุขภาพ และกรอบการวิจัยปีงบประมาณ 2569 ของ สวรส. รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากผู้กำหนดนโยบาย ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ/นักวิจัยจากสถาบันการศึกษาต่างๆ บุคลากรทางการแพทย์ และผู้แทนจากหน่วยงานเครือข่าย อาทิ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิเครือข่ายเพื่อสังคมเป็นธรรม มูลนิธิสดศรี สฤษดิ์วงศ์ ฯลฯ กว่า 170 คน ทั้งแบบ online และ onsite เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2568 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวถึงนโยบายและทิศทางการบริหารจัดการงานวิจัยระบบสุขภาพของ สวรส. ว่า การกำหนดกรอบวิจัยหรือการจะบอกว่าประเทศควรลงทุนสร้างองค์ความรู้เรื่องอะไรเพื่อการแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศ นักวิจัยหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องรู้จักระบบสุขภาพและเข้าใจในบริบทต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีที่เปลี่ยนโลกไปอย่างรวดเร็ว เช่น AI, ChatGPT, DeepSeek ฯลฯ, ข้อมูลค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพกับอายุคาดเฉลี่ยตั้งแต่แรกเกิด และอายุคาดเฉลี่ยที่มีสุขภาพดี ซึ่งสะท้อนถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดี และการลงทุนด้านสุขภาพที่เหมาะสม, ปัจจัยลำดับต้นๆ ที่ส่งผลต่อการสูญเสียสุขภาพของคนไทย ได้แก่ น้ำตาลในเลือดสูง บุหรี่ เหล้า ความดันโลหิตสูง ส่วนสิ่งที่ส่งผลต่อสุขภาพมากที่สุดคือ พฤติกรรมส่วนบุคคล นอกนั้นเป็นเรื่องของพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และการดูแลในระบบสุขภาพ ด้านสถานการณ์สังคมและปัญหาของระบบสุขภาพที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งเราต้องช่วยกันสร้างองค์ความรู้เพื่อการแก้ปัญหา เช่น สังคมสูงอายุ เมื่อคนมีอายุยืนมากขึ้น ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพก็สูงตาม อัตราการเกิดที่น้อยลง โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งจากข้อมูลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยพบว่า ความชุกของผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูงในคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป มีความชุกของโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นโรคไต โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจตามมา
นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า สวรส. เน้นสนับสนุนทุนวิจัยที่เป็นการพัฒนาเชิงระบบ ซึ่งขณะนี้มีประเด็นสำคัญที่กำลังขับเคลื่อน อาทิ การวิจัยทางคลินิกของประเทศไทย (Thailand Clinical Research Collaboration หรือ Thailand CRC) เพื่อเพิ่มโอกาสที่ดีในการรักษาพยาบาลให้แก่คนไทย และเพิ่มโอกาสการลงทุนด้านวิจัยให้กับประเทศ, การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย ระยะที่ 2 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากระยะที่ 1 และอีกส่วนหนึ่งจะขยายการดำเนินงานไปที่กลุ่มทารกแรกเกิดและกลุ่มคนที่มีสุขภาพดี, การประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (Health Technology Assessment: HTA) และการทำ Early HTA, การดูแลสุขภาพโดยเน้นคุณค่า (Value Based Health care) ซึ่งเป็นการทบทวนกระบวนการดำเนินงานทั้งระบบเพื่อการจ่ายชดเชยให้กับสถานพยาบาลอย่างสมเหตุสมผล เช่น การผ่าตัดคลอด, การฟอกไต ฯลฯ, การพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิให้เข้มแข็งมากขึ้น โดยเฉพาะการจัดการกับโรค NCDs ฯลฯ และนอกจากการขับเคลื่อนงานวิจัยแล้ว สวรส. ยังให้ความสำคัญกับการสร้างและพัฒนานักวิจัยในระบบให้มีจำนวนมากขึ้น โดยหลังจากนี้ สวรส. จะมีระบบสนับสนุนนักวิจัยหน้าใหม่ ซึ่งจะเป็นระบบพี่เลี้ยงที่คอยช่วยแนะนำแนวทางในการขอทุนสนับสนุน และกระบวนการต่างๆ ในการทำวิจัยให้สามารถนำไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง โดยนักวิจัยทุกคนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นับเป็นทีมไทยแลนด์ที่ต้องช่วยกัน เพื่อทำในสิ่งที่จะเกิดประโยชน์กับประเทศต่อไป
นอกจากนี้ ผู้บริหารและผู้จัดการงานวิจัย สวรส. ได้แก่ ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์, ทพ.จเร วิชาไทย, ดร.ภญ.นพคุณ ธรรมธัชอารี, ดร.จุไรรัตน์ พรหมใจ คุณบุณยวีร์ เอื้อศิริวรรณ และคุณธีรธัช กันตามระ ได้นำเสนอกรอบประเด็นวิจัย ปีงบประมาณ 2569 โดยแผนงานวิจัยจีโนมิกส์ประเทศไทย มีกรอบวิจัยมุ่งเป้า 5 กลุ่มโรค 1) โรคมะเร็ง 2) โรคหายาก 3) โรคติดเชื้อ 4) โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 5) เภสัชพันธุศาสตร์, วิจัยโดยใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลประชากรไทยและสนับสนุนการสร้างเครือข่ายการวิจัยแบบ consortium ทั้งในและต่างประเทศ, วิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ขั้นสูงในโรคที่ซับซ้อน, วิจัยพัฒนาเพื่อพยากรณ์การเกิดโรค การเฝ้าระวัง และควบคุมการแพร่กระจายของโรค แผนงานเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรอบวิจัยเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริการสุขภาพด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ อาทิ การพัฒนาระบบทะเบียนมาตรฐาน (Registry) ของโรคสำคัญต่างๆ, การบริหารจัดการและการวางแผนระบบบริการในการรักษาพยาบาล, การศึกษาระบาดวิทยาเพื่อการป้องกันและการดูสุขภาพ, การบูรณาการข้อมูลและระบบเฝ้าระวังโรค, การปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงกระบวนวิธีการรักษาหรือแนวเวชปฏิบัติให้เหมาะสม, การลดต้นทุนการตรวจและเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลรักษา และการขยายผลโมเดล/รูปแบบ/แนวเวชปฏิบัติในพื้นที่ แผนงานวิจัยและพัฒนาระบบยา กรอบวิจัยการอภิบาลระบบยา เช่น พัฒนากลไกการเข้าถึงยาราคาแพง, การจัดการข้อมูลสิทธิบัตร/ทรัพย์สินทางปัญญา, เศรษฐศาสตร์การเมืองกับนโยบายกัญชา ปฏิบัติการเกี่ยวกับยาและการให้บริการด้านสุขภาพ เช่น การจัดบริการสุขภาพในระดับ self-care, งานชุมชนในระดับปฐมภูมิ,การใช้นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี, การจัดการห่วงโซ่อุปทาน บทบาทของภาคประชาสังคมในกระบวนการนโยบายด้านยา เช่น การติดตามเฝ้าระวัง, การเข้าถึงยาจำเป็น, การใช้ยาอย่างสมเหตุผล, การจัดการปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพในชุมชนและการพัฒนาอุตสาหกรรมยาของประเทศเพื่อการพึ่งพาตนเองด้านยา เช่น การพัฒนาระบบนิเวศที่สนับสนุนอุตสาหกรรมยา, สมุนไพร, กำลังคน เป็นต้น
แผนงานวิจัยพัฒนาระบบสุขภาพในการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพและภัยสุขภาพ เน้นการพัฒนาความเข้มแข็งของระบบสุขภาพ โดยมีกรอบวิจัย อาทิ การมีส่วนร่วมของชุมชนในการปรับพฤติกรรมการป้องกันโรค NCDs, ประสิทธิภาพการตรวจสอบและป้องกันการทุจริตการให้บริการ, กลไกอภิบาลระบบสุขภาพที่เหมาะสม, การจัดสรรบุคลากรในหน่วยบริการที่มีผลต่อการเข้าถึงการดูแลสุขภาพ, การตอบสนองของระบบสุขภาพต่อการรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติ, การจัดบริการดูแลประคับประคองในรูปแบบต่างๆ และการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ เช่น ระเบียบกฎหมายในการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ, ระบบจัดเก็บข้อมูล การพัฒนามาตรการและประเมินผลติดตามนโยบายที่เกี่ยวข้องกับระบบบริการปฐมภูมิ, เครื่องมือหรือวิธีการวัดผลลัพธ์ Health outcome, แนวทางให้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) เป็นต้น แผนงานการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยการกระจายอำนาจด้านสุขภาพ: การถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อาทิ การออกแบบระบบการรายงาน/ส่งข้อมูลสุขภาพภายใต้บริบทถ่ายโอน รพ.สต, การปรับปรุงแนวทางการดำเนินการสอบสวนและควบคุมโรคระบาด, นวัตกรรมการจัดการเชิงระบบสำหรับบริการปฐมภูมิ, แนวทางการจัดการด้านยาของ รพ.สต. เป็นต้น และแผนงานวิจัยพัฒนาความเป็นธรรมระบบสุขภาพ กรอบวิจัย เช่น การดูแลสุขภาพโดยเน้นคุณค่า, การประเมินความคุ้มค่าและผลกระทบด้านงบประมาณที่เป็นเทคโนโลยี ตลอดจนมาตรการบริการสุขภาพเพื่อพัฒนาสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, การประเมินความครอบคลุมการเข้าถึงบริการที่เป็นสิทธิประโยชน์ ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ รวมถึงข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการปรับปรุงนโยบายหรือการมีนโยบายจำเพาะสำหรับประชากรเปราะบางบางกลุ่ม, วิจัยพัฒนาระบบสุขภาพเพื่อลดความเสี่ยงต่อสถานการณ์เปราะบางด้านสุขภาพ เช่น ระบบบริการสุขภาพระยะยาว, สิ่งแวดล้อมกับสุขภาพ, ระบบบริการสุขภาพจิตในชุมชน, บริการที่จัดบริการโดยกลุ่มเปราะบางด้วยกัน, การวิจัยโรคติดเชื้อและเชื้อดื้อยา เช่น การประเมินนโยบายและสถานการณ์ระบบบริการโรควัณโรค, การพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย และนวัตกรรมเชิงสังคม เพื่อสนับสนุนการยุติวัณโรค เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีประเด็นวิจัยในการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศไทยที่เป็นความคิดเห็นจากผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ อาทิ ประเด็นผู้สูงอายุ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง สุขภาพจิต กลุ่มเปราะบาง อาหารและโภชนาการ ความเสมอภาคและความเป็นธรรมทางสุขภาพ การแพทย์แม่นยำ ระบบสุขภาพปฐมภูมิ การดูแลสุขภาพในกลุ่มแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ การเงินการคลังด้านสุขภาพ/การประเมินผลกระทบและประสิทธิภาพ การวิจัยทางคลินิก สุขภาพกับระบบดิจิทัล การพัฒนาสุขภาพแบบองค์รวม การพัฒนาระบบยา/เชื้อดื้อยา มลพิษทางอาการที่มีผลต่อสุขภาพ กำลังคนด้านสุขภาพ เป็นต้น ซึ่งหลังจากนี้ สวรส. จะนำทุกความคิดเห็นไปพิจารณาเพื่อการพัฒนากรอบวิจัย ปีงบประมาณ 2569 ให้ครอบคลุมบริบทของระบบสุขภาพ และสามารถตอบโจทย์การพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ สวรส. จะเปิดรับข้อเสนองานวิจัย ประจำปีงบประมาณ 2569 ตั้งแต่วันที่ 17 ก.พ.- 30 เม.ย. 2568 ผ่านระบบ NRIIS โดยสามารถดูรายละเอียดกรอบวิจัยได้ทางเว็บไซต์ สวรส. www.hsri.or.th
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้