เป็นเวลาถึง 170 ปีแล้ว นับตั้งแต่การลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริงในปี 2398[1] ทีประเทศไทยและสหราชอาณาจักรได้มีความร่วมมือกันมาอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ด้าน เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการวิจัยด้านสุขภาพ และการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมทางการแพทย์ ที่ช่วยให้เกิดความก้าวหน้าทางการแพทย์ให้กับทั้ง 2 ประเทศ และระดับโลก เช่น การลงนามในบันทึกความเข้าใจด้านจีโนมิกส์ (Genomics) ระหว่างสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)ของไทย และกระทรวงสาธารณสุขของสหราชอาณาจักร ในปี 2566[2] ซึ่งเปิดโอกาสให้เกิดความร่วมมือในการวิจัยเกี่ยวกับโรคหายาก โรคมะเร็ง โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โรคติดเชื้อ เภสัชพันธุศาสตร์ และการทำงานร่วมกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บข้อมูลจีโนมและการใช้เทคโนโลยีด้านจีโนมิกส์
ในโอกาสครบรอบความสัมพันธ์ทางการฑูตดังกล่าว สวรส. จึงร่วมกับสถานเอกอัครราชฑูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย จัดการประชุมหัวข้อ “Advancing health solutions through technologies: Supporting health, research and innovation ecosystem from UK-Thailand partnerships” ซึ่งเป็นการประชุมคู่ขนาน (side meeting) กับการประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล (Prince Mahidol Award Conference 2025: PMAC 2025) เพื่อพูดคุยถึงความร่วมมือด้านสุขภาพในอดีต ปัจจุบัน และก้าวต่อไปในอนาคตระหว่างประเทศไทยกับสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2568 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์
นายเดวิด โธมัส (David Thomas) อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย กล่าวเปิดการประชุมว่า สหราชอาณาจักรและไทยมีความร่วมมือกันมายาวนานในด้านวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์และการวิจัยด้านสุขภาพ ซึ่งรวมถึงการจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการ ทุนการศึกษา ฯลฯ นอกจากนี้ ในปี 2567 สหราชอาณาจักรยังเป็นประเทศในทวีปยุโรปประเทศแรกที่ยกระดับความสัมพันธ์กับไทยให้เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ โดยความร่วมมือนี้มีแผนงานที่เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นร่วมกันในการพัฒนาด้านสุขภาพในระดับโลก ผ่านการสนับสนุนการเข้าถึงการดูแลสุขภาพอย่างทั่วถึง และการเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อป้องกันภัยคุกคามสุขภาพระดับโลก ตั้งแต่การรับมือกับการดื้อยาต้านจุลชีพ การระบาดของโรคติดเชื้อ ไปจนถึงการพัฒนาและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนวัตกรรม เช่น จีโนมิกส์ ฯลฯ
“งานในวันนี้ถือเป็นโอกาสให้เราได้ทบทวนถึงความร่วมมือด้านสุขภาพระหว่างสหราชอาณาจักรและประเทศไทยว่าได้พัฒนาไปอย่างไรเพื่อการแก้ไขปัญหาสุขภาพระดับโลก รวมทั้งหารือกันถึงความท้าทายและโอกาสในอนาคต” นายเดวิด ระบุ
สพญ.สุธิดา (ม่วงน้อยเจริญ) เฮิร์น ที่ปรึกษาด้านสุขภาพ สถานทูตอังกฤษประจำประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมถึงว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรและไทยในด้านสุขภาพ เกิดขึ้นผ่านความร่วมมือด้านการศึกษาและการวิจัย เช่น การสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างนักวิชาการไทยกับสถาบันการศึกษาในสหราชอาณาจักร การให้ทุนกับสถาบันวิจัยในไทย ฯลฯ เพื่อให้เกิดการนำความรู้ไปใช้ในการรับมือกับปัญหาทางสุขภาพ รวมถึงความร่วมมือเมื่อปี 2567 ที่ผ่านมา ที่ได้กำหนดพันธกรณีในการทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมาย 3 ประการ ได้แก่ 1) การเร่งความก้าวหน้าในระดับชาติและระดับภูมิภาคไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ภายในปี 2573 2) การส่งเสริมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และ 3) การเสริมสร้างความพร้อมและการตอบสนองต่อการป้องกันโรคระบาด
ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า ความร่วมมือด้านสุขภาพระหว่างทั้ง 2 ประเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นอกจากจะทำให้การแก้ไขปัญหาทางสุขภาพมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นแล้ว ยังส่งผลให้ทั้งไทยและสหราชอาณาจักร กลายเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาสุขภาพที่สำคัญในระดับโลกอีกด้วย ซึ่งต้องขอขอบคุณผู้เกี่ยวข้องทุกคนที่ทุ่มเทในการส่งเสริมความร่วมมือเหล่านี้ ส่วนความร่วมมือที่สำคัญระหว่างประเทศไทยและสหราชอาณาจักรในด้านสุขภาพหลังจากนี้ ก็คือ ‘แผนจีโนมิกส์ประเทศไทย (Genomic Thailand) ระยะที่ 2’ ภายหลังจากที่ได้ร่วมมือกันในการดำเนินการในระยะที่ 1 มาแล้ว และขณะนี้ประเทศไทยได้ดำเนินการถอดรหัสพันธุกรรมในผู้ป่วย 5 กลุ่มโรค จำนวน 5 หมื่นคน ได้มากกว่า 90% แล้ว และน่าจะแล้วเสร็จใน 2 หรือ 3 เดือนข้างหน้า รวมถึงได้มีการขับเคลื่อนให้มีการนำข้อมูลจีโนมที่ได้ไปสู่การใช้จริงแล้วด้วย เช่น การขับเคลื่อนจนเกิดสิทธิประโยชน์ตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาการกลายพันธุ์ของยีนโรคมะเร็งเต้านม BRCA1/BRCA2 ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เป็นต้น
สำหรับแผนจีโนมิกส์ประเทศไทย ระยะที่ 2 ผู้อำนวยการ สวรส. อธิบายว่า จะขยายจำนวนกลุ่มเป้าหมายเป็น 2 แสนคน และเพิ่มกลุ่มเป้าหมายในการถอดรหัสพันธุกรรมเพิ่มอีก 1 กลุ่ม คือ กลุ่มเด็กแรกเกิด (New born) รวมถึงจะมีการขับเคลื่อนเกี่ยวกับประเด็นเรื่องกฎหมายและจริยธรรมในการนำข้อมูลรหัสพันธุกรรมไปใช้ประโยชน์ พร้อมกับพัฒนาบุคลากรในด้านนี้ให้มีมากขึ้นเพื่อรองรับการให้บริการ
นพ.ศุภกิจ ยังย้ำด้วยว่า “เราจะยังพยายามให้มีการนำองค์ความรู้ที่ได้จากโครงการจีโนมิกส์ ในระยะที่ 2 นี้ ไปประยุกต์ใช้จริงในระบบสุขภาพของประเทศ เช่นที่เกิดขึ้นมาแล้วในระยะที่ 1 เพราะนี่ถือเป็นประโยชน์สูงสุดของคนไทย”
ทพ.จเร วิชาไทย ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. กล่าวเพิ่มเติมถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักรในด้านการวิจัยว่า จริงๆ ไม่ใช่แค่การร่วมมือกับสหราชอาณาจักร แต่การร่วมมือกันระหว่างประเทศต่างๆ ถือเป็นส่วนสำคัญอย่างมากในด้านการวิจัย เพราะจะส่งผลให้การทำวิจัยทำได้เร็วขึ้น และด้วยบริบทที่แตกต่างกัน แต่ละประเทศมีโอกาสสูงมากที่งานวิจัยเหล่านั้นจะถูกนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่ง สวรส. มีเป้าหมายอีกอย่างหนึ่งคือ อยากให้ผลลัพธ์ของงานวิจัย สวรส. ส่งผลกระทบไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่อาจไปถึงต่างประเทศด้วย
“โดยเฉพาะเรื่องโรคติดเชื้อ ที่ขณะนี้ชัดเจนแล้วว่าเป็นปัญหาระดับโลก ซึ่งหากมีการร่วมมือกันในการวิจัยระดับนานาชาติ ในอนาคตถ้าเกิดมีโรคระบาด เรากับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือประเทศอื่นๆ จะมีการสร้างพื้นฐานในการรับมือร่วมกันที่มีประสิทธิภาพสูงมาก เพราะฉะนั้นการวิจัยในเรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องของแค่ประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของทุกประเทศทั่วโลก” ทพ.จเร ขยายความให้เห็นภาพชัดขึ้น
ทพ.จเร กล่าวต่อว่า ส่วนบทบาทของ สวรส. ที่จะสนับสนุนให้เกิดสิ่งเหล่านั้นคือ 1) การสนับสนุนทุนวิจัย 2) การทำให้เกิดความร่วมมือในระยะยาว 3) การบูรณาการเพื่อให้มีการพัฒนานักวิจัยร่วมกับต่างประเทศ ตลอดจนการปรับระบบนิเวศภายในของ สวรส. เพื่อสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือกับนานาชาติในระยะยาว
อนึ่ง ภายในการประชุม side meeting ดังกล่าว ได้มีการอภิปรายแลกเปลี่ยนกันใน 2 หัวข้อย่อย ได้แก่ Advancing Genomic Sciences through UK-TH collaboration และ Advancing health research and innovation ecosystem โดยมีความคิดเห็น และข้อเสนอที่น่าสนใจ เช่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ควรมีการปรับระบบนิเวศในการตั้งงบประมาณการวิจัยในระยะยาวเพื่อให้หน่วยงานบริหารและจัดการทุนวิจัย (PMU) สามารถสร้างข้อตกลงความร่วมมือระยะยาวได้, การสร้างเครือข่ายและสภาพแวดล้อมที่เอื้อกับการทำวิจัย จะทำให้ผลลัพธ์ของงานวิจัยสร้างผลกระทบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น, การใช้ข้อมูลรหัสพันธุกรรมของประเทศไทย โดยเฉพาะการนำไปใช้ในการศึกษาด้านสังคมวิทยาและสังคมศาสตร์ ยังมีข้อจำกัด ทั้งในเรื่องสังคม กฎหมาย และจริยธรรม, ประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรในการให้บริการด้านการแพทย์จีโนมิกส์อยู่อีกจำนวนมาก เช่น นักพันธุศาสตร์คลินิก ผู้ให้คำปรึกษาด้านพันธุกรรม นักระบาดวิทยาทางพันธุกรรม ฯลฯ
...........................
ข้อมูลจาก
[1](US.archive.org)
[2](london.thaiembassy.org)