ข่าว/ความเคลื่อนไหว
ประเทศไทยมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (UC) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 โดยรัฐบาลได้จัดสรรเงินงบประมาณเพิ่มขึ้นตามลำดับ จากเริ่มต้นประมาณ 48,000 ล้านบาท เป็น 217,628 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2567[1] และมุ่งหวังที่จะสร้างหลักประกันสุขภาพให้แก่คนไทย เพื่อให้ได้รับบริการด้านสุขภาพตามความจำเป็นอย่างครอบคลุม ทั่วถึง และไม่มีภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งผลสำเร็จสำคัญคือการขยายความครอบคลุมและช่วยทำให้สัดส่วนของประชากรที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพลดลงจากร้อยละ 29 ในปี พ.ศ. 2544 เป็นร้อยละ 2.6 ในปี พ.ศ. 2552 รวมถึงทำให้สัดส่วนค่ารักษาพยาบาลที่ประชาชนต้องจ่ายเงินเองต่อค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดลดลง จากประมาณร้อยละ 40 ในปี พ.ศ. 2538 เหลือไม่เกินร้อยละ 15 ในปี พ.ศ. 2555[2] โดยมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นหน่วยบริหารจัดการตามนโยบายดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมางานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับ UC ของไทยส่วนใหญ่มุ่งเน้นศึกษาด้านการให้บริการสุขภาพ ความครอบคลุมประชากร ภาระการคลัง และการลดอุปสรรคทางการเงินของประชาชน แต่ประเด็นเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของวัตถุประสงค์ในการสร้างหลักประกันสุขภาพไทย รวมถึงที่ผ่านมางานวิจัยมักศึกษาถึงผลสัมฤทธิ์เชิงนโยบายและระบบที่เกี่ยวข้อง เช่น กระบวนการพัฒนานโยบายและการออกแบบระบบ บริบทด้านนโยบายรัฐและการปฏิรูปอื่นของรัฐ การดำเนินนโยบาย การอภิบาลระบบ และผลกระทบของนโยบายที่มีต่อระบบสาธารณสุข เป็นต้น ขณะที่ธรรมาภิบาลในระบบการจัดการสุขภาพเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ แต่การศึกษาวิจัยในประเด็นดังกล่าวยังมีไม่มากนัก ดังนั้นเนื่องจากหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นหลักประกันสุขภาพหลักของคนไทย จึงควรมีการประเมินถึงผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงาน เพื่อการพัฒนาด้านการบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพ ควบคู่กับการสร้างความยั่งยืนด้านการเงินการคลังในระบบสุขภาพ
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จึงร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น (focus group) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการวิจัย “การประเมินหลักประกันสุขภาพแห่งชาติด้านการบริหารจัดการและนัยยะจากการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย” เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมประชุมหลากหลายกลุ่ม อาทิ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนจากหน่วยบริการสุขภาพ ผู้แทนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ผู้แทนภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) กว่า 40 คน เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2568 ณ โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์
ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า นอกจาก สวรส. จะพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายจากการสร้างความรู้ในเรื่องต่างๆ แล้ว อีกรูปแบบหนึ่งของงานวิจัยที่สำคัญไม่น้อยกว่าการสร้างองค์ความรู้ใหม่ คือการวิจัยเพื่อประเมินผลการดำเนินงานด้านต่างๆ เช่น การประเมินผลลัพธ์จากการดำเนินนโยบาย การประเมินความคุ้มค่าของงานวิจัย การประเมินผลลัพธ์ทางสุขภาพ ฯลฯ ซึ่งงานวิจัยเรื่องการประเมินหลักประกันสุขภาพแห่งชาติด้านการบริหารจัดการและนัยยะจากการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย ถือเป็นอีกหนึ่งงานวิจัยสำคัญของ สวรส. ที่จะสนับสนุนข้อมูลเพื่อการพัฒนาประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ทางสุขภาพที่ดี
แก่ประชาชน ทั้งนี้ที่ผ่านมา สวรส. เคยมีการประเมินระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในช่วง 10 ปีแรกของการดำเนินงาน ซึ่งพบว่า ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพมากขึ้น หากแต่ปัจจุบันก้าวสู่ทศวรรษที่ 3 ของการดำเนินงาน ฉะนั้นจึงควรมีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงานและการบริหารจัดการ โดยงานวิจัยดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่การประเมินการอภิบาลองค์กรของ สปสช. โดยใช้เกณฑ์การประเมิน 5 ด้าน ได้แก่ 1) การจัดการการเบิกจ่ายงบประมาณหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและการจัดซื้อจัดจ้างของ สปสช. 2) การกำหนดนโยบายและกำกับองค์กร 3) กฎระเบียบของ สปสช. 4) การกำกับคุณภาพบริการ 5) การอภิบาลข้อมูล เพื่อสะท้อนระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการวิจัย โดยเน้นย้ำความคิดเห็นที่มีข้อมูลเชิงประจักษ์สนับสนุนเป็นสำคัญ เพื่อการวิเคราะห์และประมวลผลการวิจัยที่มีความถูกต้อง และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้าน ดร.ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร หัวหน้าทีมวิเคราะห์ตลาดแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และหัวหน้าโครงการวิจัยการประเมินหลักประกันสุขภาพแห่งชาติด้านการบริหารจัดการและนัยยะจากการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย นำเสนอว่า การประเมินหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แบ่งเป็น 2 ส่วนที่สำคัญคือ การบริหารจัดการระดับนโยบายและการบริหารจัดการระดับองค์กร ซึ่งการประเมินที่ครอบคลุมทั้ง 2 ส่วนนี้ จะสะท้อนให้เห็นถึงผลสัมฤทธิ์ในประเด็นต่างๆ และมีข้อเสนอแนะที่เฉพาะเจาะจงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการตามนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ส่วนการวิเคราะห์ผลจากการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายจะสะท้อนให้เห็นถึงการบรรลุวัตถุประสงค์ในการที่จะทำให้ประชาชนไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้น ว่าทำได้มากน้อยเพียงใด รวมทั้งศึกษาการบริหารจัดการของ สปสช. เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงผลลัพธ์จากเงินลงทุนของรัฐบาลในกองทุนประกันสุขภาพที่จัดสรรให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะผลลัพธ์ทางสุขภาพที่มาจากนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ส่วนกรอบแนวคิดการวิจัยที่นำมาพิจารณามีดังนี้ การบริหารจัดการกองทุนประกันสุขภาพ ทั้งในด้านประสิทธิภาพของการจัดการกองทุนฯ และความยั่งยืนในระยะยาว, ผลตอบแทนการลงทุนในด้านความคุ้มค่าของเงินลงทุน และผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน, ผลลัพธ์ทางสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย โดยมองในมิติของการเข้าถึงบริการอย่างครอบคลุมตามความจำเป็น ประสิทธิภาพและความยั่งยืนของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กลไกการบริหารจัดการที่ดำรงไว้ซึ่งธรรมาภิบาล, กลไกอภิบาลและระบบบริหารจัดการองค์กรและการมีส่วนร่วมของภาคียุทธศาสตร์และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยพิจารณาจากกรอบนโยบายและโครงสร้างกฎหมาย การดำเนินงานของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการต่างๆ การบริหารจัดการและการเบิกจ่ายงบประมาณ การให้บริการและคุณภาพ ระบบสารสนเทศและการจัดการข้อมูล ทั้งนี้ในส่วนของการประเมินผลลัพธ์ทางสุขภาพและผลตอบแทนจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (SROI) งานวิจัยเน้นการพิจารณาชุดสิทธิประโยชน์ที่เป็นกลุ่มใหญ่ๆ เช่น การบริหารจัดการกองทุนเอชไอวี/เอดส์ การฟอกไต การปลูกถ่ายอวัยวะ นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ร้านยา-คลินิกนวัตกรรม ฯลฯ ทั้งนี้ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นส่วนหนึ่งพบว่า สปสช. มีการเปิดเผยงบประมาณที่มีความโปร่งใส แต่สัดส่วนของธุรกรรมการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้ากว่า 15 วันมีลักษณะเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ในแต่ละปี, การบังคับใช้กฎหมายในการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่บรรลุวัตถุประสงค์หลักได้บางส่วน, การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ทำได้ตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายในหลายด้าน แต่ยังมีส่วนที่ต้องการการปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์และวัตุประสงค์ของกฎหมาย, กลไกอภิบาลอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของคณะกรรมการสอดคล้องกับกรอบวัตถุประสงค์ของกฎหมายในส่วนใหญ่ แต่ยังมีบางส่วนที่ต้องปรับปรุง ฯลฯ หลังจากนี้ยังต้องมีการเก็บข้อมูลจากหลายส่วน ทั้งการสัมภาษณ์และการวิเคราะห์ฐานข้อมูลอย่างรอบด้าน แล้วจึงนำมาใช้เกณฑ์การประเมิน (scoring rubric) ในการสรุปผลหัวข้อต่างๆ ต่อไป โดยงานวิจัยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2568
...........................
ข้อมูลจาก
[1]วิโรจน์และคณะ (2555)
[2]Huang and Yoshino (2016)
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้