ข่าว/ความเคลื่อนไหว
สวรส. จัดทบทวนเส้นทาง “หนุนทุนวิจัย” เพื่อขยับปรับก้าวต่อไป
นำความรู้สู่การพัฒนาระบบสุขภาพได้อย่างแท้จริง
เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อประยุกต์ใช้แผนที่งานวิจัยในการบริหารจัดการงานวิจัย สวรส. ณ รร. อัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น โดยผู้บริหารและบุคลากรสวรส. เข้าร่วมแลกเปลี่ยนในครั้งนี้
ทั้งนี้ตลอดการประชุมฯ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการ สวรส. ได้ให้ทิศทางสำคัญตลอดจนข้อเสนอแนะต่อประเด็นการพัฒนาแผนงานและระบบบริหารจัดการวิจัยจากการวิเคราะห์ข้อมูลที่พบ โดยมีประเด็นสำคัญช่วงหนึ่งว่า “ ใช่หรือไม่ : กับการสนับสนุนทุนวิจัยของสวรส.ที่ผ่านมา และเราจะต้องทำอะไรต่อไป เช่น เราบอกว่า ระบบบริการปฐมภูมิของประเทศไทยเราดีเยี่ยม แต่ทำไม เราควบคุมเบาหวานได้เพียง 30% งานวิจัยเราต้องทำอะไร เพื่อให้ระบบหรือสิ่งนี้เข้มแข็งได้อย่างแท้จริง” ซึ่งเป็นหนึ่งในคำกล่าวของ ผู้อำนวยการ สวรส. เพื่อท้าทายการพัฒนาองค์กรในก้าวต่อไป พร้อมยังได้กำหนดแนวทางการทบทวนการสนับสนุนทุนวิจัย โดยเน้นย้ำว่างานวิจัยที่สนับสนุนออกไปต้องนำไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งนอกจากการทบทวนในเชิงปริมาณว่าเราทุ่มงบประมาณไปในงานวิจัยประเภทใดแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมองในเชิงคุณภาพ ซึ่งอาจนำเกณฑ์การพิจารณางานวิจัยในเชิงคุณภาพของประเทศมาร่วมวิเคราะห์ไปพร้อมกัน โดยต้องมองให้เห็นว่างานวิจัยเรานำไปใช้ประโยชน์ หรือสร้างผลกระทบต่อสังคมได้มากน้อยแค่ไหน ขายได้หรือไม่ นำไปสู่การพัฒนาหรือยกระดับระบบสุขภาพ ตลอดจน ตอบสนองต่อฝ่ายนโยบายได้มากน้อยเพียงใด ทั้งนี้การทบทวนดังกล่าวเพื่อการก้าวต่อไป และนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ร่วมกันในเชิงบริหารและตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพในการสนับสนุนทุนวิจัยในระยะต่อไป
ทั้งนี้การสนับสนุนทุนวิจัยอาจมองในลักษณะเป็นแผนงานใหญ่ (แพ็กเกจ) ที่มีผลกระทบมากขึ้น มีความคุ้มค่าสูง รวมทั้งงานวิจัยต้องมีความแข็งแรงหรือมีคุณภาพที่จะสะท้อนปัญหาหรือตอบโจทย์ประเทศได้อย่างชัดเจน โดยต้องมองเรื่องการลดความซ้ำซ้อนของงานวิจัยไปพร้อมกัน นอกจากนั้นด้านกลยุทธ์การบริหารจัดการงานวิจัยที่สำคัญ คือการต้องวิเคราะห์ให้เห็นถึง กลุ่มผู้มีส่วนเสีย (STAKEHOLDER) ว่าใครคือ Key player สำคัญ ตลอดจนมีบทบาทอย่างไรกับงานวิจัยในแต่ละช่วง จังหวะของการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงนโยบาย หรือการสร้างให้เกิดกระแสความสนใจในสาธารณะ ตลอดจนกระตุ้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ต้องการการสนับสนุนจากสังคม โดยมองเครือข่ายภาคีเพื่อการสื่อสารสาธารณะร่วมขับเคลื่อนงานไปด้วยกัน
ทั้งนี้ ในการประชุมช่วงต้น ทพ.จเร วิชาไทย ผู้จัดการงานวิจัย ได้นำเสนอ ข้อค้นพบเบื้องต้นจากการวิเคราะห์แผนงานวิจัยของ สวรส. ปีงบประมาณ พ.ศ.2563-2568 ภายใต้แนวคิดการสร้างความเข้มแข็ง ของระบบสุขภาพ จากการทำ RESEARCH MAPPING ภายใต้กรอบแนวคิดสำคัญ ได้แก่ 1. Governance & Leadership 2. Health Workforce & Capacity Building 3. Health Equity & Social Inclusion 4. Health System Resilience & Emergency Preparedness 5. Health Systems Strengthening & Integration 6. Financial & Strategic Resource Management 7. Social determinant of health 8. Global and Local Contexts of Health Systems โดยมีการเติมเต็มช่องว่างที่มีในระบบสุขภาพ บนเป้าหมายที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามบริบท สมรรถนะในปัจจุบันของระบบสุขภาพ ซึ่งมีการพิจารณาบนเกณฑ์การพิจารณาลำดับความสำคัญของงานวิจัยระบบสุขภาพของประเทศ ทั้งนี้ ข้อสังเกตุที่พบ สวรส. ยังมีงานวิจัยพื้นฐาน เช่น งานด้านการพัฒนาเทคโนโลยี การพัฒนานักวิจัยหรือเครือข่าย การพัฒนาระบบการจัดการวิจัย ฯลฯ ที่มีความจำเป็นที่ต้องดำเนินการ แต่อาจอยู่นอกเหนือกรอบแนวคิดดังกล่าว ต่อจากนั้น ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. ได้ร่วมวิเคราะห์แผนงานวิจัยที่รับผิดชอบ เพื่อกำหนดสิ่งที่จะดำเนินการต่อ (STAY) งานวิจัยที่ควรยุติ (STOP) และงานวิจัยที่ควรริเริ่มใหม่ให้ทันต่อสถานการณ์หรือบริบทในปัจจุบันและอนาคตโดยมีการระดมสมองเพื่อพัฒนากลไกการทำงานร่วมกันของการบริหารจัดการงานวิจัยของสวรส. การขับเคลื่อนงานวิจัยใช้ประโยชน์ ตลอดจนการพัฒนาสมรรถนะของบุคลากรสวรส. ให้พร้อมรองรับการขับเคลื่อนงานวิจัยสู่เป้าหมายสำคัญ
สำหรับประเด็นที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่ง ในด้านการพัฒนาบุคลากร นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สรุปสาระสำคัญในประเด็นการพัฒนาบุคลากรไว้ว่า วิธีการสำคัญของการพัฒนาบุคลากรที่ต้องนำมาใช้ เช่น การอบรมพัฒนาความรู้ในประเด็นสำคัญขององค์กร ในด้านระบบสุขภาพ ด้านสุขภาพ และด้านงานวิจัย ตลอดจนความรู้ทักษะที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพ เช่น ภาษา การบริหารจัดการงานวิจัย การมีทักษะหรือสมรรถนะที่จะมองเห็นเป้าหมายเพื่อการสนับสนุนงานวิจัยที่มุ่งประโยชน์แท้จริงได้ ตลอดจนการมีกระบวนการในการให้คำแนะนำ หรือช่วยพัฒนา (Coaching) โดยกลุ่มบุคลากรอาวุโส เป็นต้น
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้