4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

สธ. เดินหน้า “วิจัยคลินิกประเทศไทย” พร้อมหนุน สวรส. แกนหลักจัดตั้ง “ทีมไทยแลนด์ : เครือข่ายศูนย์วิจัยคลินิกระดับประเทศ” ยกระดับระบบสุขภาพ สร้างความยั่งยืน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

           “งานวิจัยคลินิก” เป็นการศึกษาวิจัยในคนโดยอาศัยหลักการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อแสวงหาความรู้ใหม่ที่เป็นความจริงที่สามารถนำความรู้ดังกล่าวมาอธิบายปรากฏการณ์ทางการแพทย์และ(หรือ)นำไปประยุกต์ใช้ในเวชปฏิบัติ ซึ่งแม้ว่าเป้าหมายของการวิจัยทางคลินิกจะมุ่งให้เกิดความรู้ใหม่ที่เป็นความจริงและนำไปประยุกต์ใช้ได้ แต่สิ่งที่ได้จากการวิจัยมักประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ความรู้ที่เป็นความจริง รวมถึงความคลาดเคลื่อน ซึ่งผู้วิจัยจำเป็นต้องป้องกัน ลด และแก้ไขความคลาดเคลื่อนให้หมดไป จนถึงเหลือน้อยที่สุด โดยการวางแผนการวิจัยที่ดี ในส่วนของรูปแบบการวิจัย การเลือกประชากรศึกษา และการใช้วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติที่เหมาะสม การประเมินผลการศึกษา รวมทั้งการใส่ Intervention ที่เหมาะสม[1]
 
          ทั้งนี้งานวิจัยทางคลินิก มีความสำคัญต่อการพัฒนายา เทคโนโลยี อุปกรณ์การแพทย์ ตลอดจนแนวทางหรือวิธีการรักษาใหม่ๆ ส่งผลให้เกิดความก้าวหน้าทางการแพทย์ และการเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ ทั้งนี้สถานการณ์ระดับโลกของการลงทุนวิจัยและพัฒนา (R&D) ในภาพรวมมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยผลตอบแทนจากการลงทุนมีสูงถึง 7% ซึ่งประเทศแถบยุโรปเป็นพื้นที่ที่บริษัทยามีการลงทุนทำวิจัยมากที่สุด แต่มีแนวโน้มลดลง ขณะที่แนวโน้มเพิ่มขึ้นในประเทศจีน อเมริกา อาฟริกา และเอเชีย ตามลำดับ
         
          ปัจจุบันประเทศไทยมีเครือข่ายสถานพยาบาลขนาดใหญ่ รวมกว่า 902 โรงพยาบาล และมีศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษา 37 แห่ง มีศูนย์วิจัยคลินิกทั้งประเทศ 36 แห่ง หากแต่มีศูนย์ฯ ที่ได้มาตรฐานระดับสากล ไม่เกิน 9 ศูนย์ โดยการทำงานด้านการวิจัยทางคลินิกยังขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ รวมถึงไม่มีการทำงานแบบเครือข่าย ระบบนิเวศน์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องยังไม่มีประสิทธิมากพอ เช่น คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ (IRB/EC) ยังไม่มีมาตรฐานเดียวกัน ระบบการขึ้นทะเบียนยาใหม่มีความซับซ้อน นักวิจัยไม่เข้าใจขั้นตอน ขาด platform กลางในการทำงานร่วมกันของทุกฝ่าย ขาดคนกลางในการบริหารจัดการ ฯลฯ 

          สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จึงจัดประชุมมอบนโยบายเครือข่ายศูนย์วิจัยคลินิกระดับประเทศ ซึ่งเป็นเวทีสำคัญในการมอบนโยบายการดำเนินงานการวิจัยทางคลินิกให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยมี สวรส. เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาและจัดตั้งเครือข่ายศูนย์วิจัยคลินิกระดับประเทศ ทั้งนี้ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้มอบนโยบายดังกล่าวในการประชุมฯ พร้อมด้วย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ร่วมชี้ให้เห็นทิศทางการดำเนินงาน ร่วมกับการให้ข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการวิจัยคลินิกของประเทศไทย โดยผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ศ.พญ.ขวัญชนก ยิ้มแต้ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายนวัตกรรมและคู่ความร่วมมือ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี นพ.เกษม ตั้งเกษมสำราญ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข ดร.นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผู้อำนวยการกองวิชาการและแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข และ ดร.กิตติมา ศรีวัฒนกุล สมาคมผู้วิจัยและผลิตภัณฑ์ (PReMA) ทั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 70 คน ทั้งที่เป็นผู้บริหารจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ผู้รับผิดชอบงานศูนย์วิจัยคลินิกจากสถาบันต่างๆ นักวิจัย นักวิชาการ บุคลากรสาธารณสุข ตลอดจนภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยการประชุมฯ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2567 ณ โรงแรม ทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น   

          นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวในการมอบนโยบายการวิจัยคลินิกระดับประเทศ  โดยเน้นย้ำว่า จะเดินหน้าเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม โดยจะมีการจัดทำระเบียบการวิจัยคลินิก ที่เกี่ยวข้องหรือเป็นสิ่งที่ยังติดขัดและไม่ชัดเจน เพื่อปลดล็อกการดำเนินงานต่างๆ เช่น การรับทุนสนับสนุนงานวิจัย การแบ่งปันค่าตอบแทนเมื่อมีผลประโยชน์จากงานวิจัย ฯลฯ ที่ผ่านมาประเทศไทยอาจยังขาดงานวิจัยที่จะสามารถพัฒนาเป็นนวัตกรรมที่ใช้ได้จริง เห็นได้จากยังต้องมีการสั่งซื้อนวัตกรรมง่ายๆ จากต่างประเทศ เพราะฉะนั้นการที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับระบบสุขภาพ จำเป็นต้องมีการพัฒนางานวิจัยที่สามารถนำมาต่อยอดนวัตกรรมที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ ซึ่งงานวิจัยควรต้องสร้างเม็ดเงินให้ประเทศ ถึงจะส่งผลให้เกิดความยั่งยืนให้ระบบสุขภาพได้ ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำระเบียบการวิจัยคลินิก โดยจะมีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จัดทำมาตรฐานกลางของประเทศ ซึ่งการพัฒนาเครือข่ายศูนย์วิจัยคลินิกระดับประเทศจะเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำระดับโลกด้านการวิจัยคลินิก

          นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข  กล่าวว่า งานวิจัยคลินิกเป็นงานวิจัยที่เป็นฐานความรู้สำคัญของการพัฒนายาและเทคโนโลยีทางการแพทย์เรื่องต่างๆ และข้อมูลงานวิจัยที่ถูกต้อง ภายใต้การดำเนินงานตามมาตรฐานสากลมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงเห็นชอบให้ สวรส. ในฐานะหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยระบบสุขภาพของประเทศ เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนการวิจัยทางคลินิกของประเทศไทย (Thailand Clinical Research Collaboration หรือ Thailand CRC) ในนาม “ทีมไทยแลนด์” ซึ่งจะมีความเป็นทีมเดียวกัน รวมทั้งมีใจที่อยากทำและพัฒนาเรื่องนี้ไปด้วยกัน จึงจะสามารถขับเคลื่อนไปสู่การสร้างเครือข่ายศูนย์วิจัยคลินิกที่ได้มาตรฐาน เกิดประโยชน์ต่อการดูแลผู้ป่วย โดยการดำเนินงานของ สวรส. จะมุ่งให้เกิดศูนย์กลางงานวิจัยคลินิกแบบครบวงจร มีการขึ้นทะเบียนยาใหม่และประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว ตลอดจนมีการคิดค้นผลิตภัณฑ์การแพทย์มูลค่าสูงได้เองในประเทศ มีกระบวนการวิจัยที่มีมาตรฐาน รวมทั้งอาสาสมัครวิจัยได้รับการคุ้มครองอย่างเหมาะสม โดยการวิจัยจะเป็นช่องทางการเข้าถึงยาใหม่ของอาสาสมัครโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

         นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีโอกาสในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้การดำเนินงานวิจัยคลินิก แต่การจัดการระบบที่เกี่ยวข้องอาจยังไม่ดีพอ ในขณะที่บริษัทเอกชนทั้งในและต่างประเทศมีความต้องการในการลงทุนเรื่องดังกล่าวเป็นจำนวนมาก และกระทรวงสาธารณสุขก็มีศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาอยู่แล้ว รวมถึงมีความพร้อมของพื้นที่ในการศึกษาวิจัย เพียงแต่ต้องพัฒนาให้ได้มาตรฐาน ทั้งนี้ สวรส. ตั้งเป้าหมายการพัฒนาเครือข่ายศูนย์วิจัยคลินิกระดับประเทศ โดยจะพัฒนาศักยภาพศูนย์วิจัยคลินิกที่ได้มาตรฐาน จำนวน 30 ศูนย์ มีการพัฒนาบุคลากรทั้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักวิจัย ฯลฯ พัฒนาระบบจัดการงานวิจัยเพื่อรองรับงานวิจัยยาและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เกิดระบบสารสนเทศงานวิจัยคลินิกในประเทศ เกิดระบบสื่อสารงานวิจัยกับประชาสังคม ตลอดจนเกิดการทำงานเป็นเครือข่าย และมีแหล่งทุนวิจัยทั้งในและต่างประเทศมาร่วมลงทุนให้เกิดการพัฒนาเรื่องนี้ไปด้วยกัน  
.....................
ข้อมูลจาก : การประชุมมอบนโยบายเครือข่ายศูนย์วิจัยคลินิกระดับประเทศ
[1]วิษณุ ธรรมลิขิตกุล . การวิจัยทางคลินิก: การวางแผนและการนำผลไปประยุกต์ใช้ . Siriraj Med J 2006;58:1112-1120

รูปภาพเพิ่มเติม

แสดงความคิดเห็น

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้