4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

จาก “International Migrants Day 2024” สู่การแก้ปัญหาในพื้นที่ชายแดน กับความร่วมมือเครือข่ายทั้งใน-ระหว่างประเทศ ร่วมขับเคลื่อน “แผนสุขภาพประชากรข้ามชาติ” เพื่อการเข้าถึง พร้อมสร้างความมั่นคงทางสุขภาพ กับสิทธิขั้นพื้นฐานที่พึงมี

          สถานการณ์การเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติและการย้ายถิ่นฐานของประชากรข้ามพรมแดนยังเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ความขัดแย้งทางการเมือง ตลอดจนภาวะสงครามทั้งภายในและระหว่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทย ข้อมูลปี 2567 มีแรงงานต่างด้าวมากกว่า 3 ล้านคน[1] เข้ามาทำงาน โดย 74.5%[2] เป็นสัญชาติเมียนมา ซึ่งแรงงานข้ามชาติถือเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย หากแต่การเข้ามาของประชากรข้ามชาติ ทั้งกลุ่มที่เป็นแรงงานและครอบครัว ยังมีอุปสรรคในการเข้าถึงบริการสุขภาพ ส่งผลให้มีความเสี่ยงด้านสุขภาพ ทั้งนี้การพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพประชากรข้ามชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ยังคงต้องได้รับการพัฒนา ทั้งในมิติของการเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ และความมั่นคงของระบบสุขภาพโดยรวม

          ทั้งนี้การจัดการปัญหาสุขภาพในพื้นที่ชายแดนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ตลอดจนเงื่อนไขของการได้รับการคุ้มครองสิทธิการเข้าถึงบริการสุขภาพ ความหลากหลายของประชากรข้ามชาติ และรูปแบบการจัดสรรทรัพยากรด้านสุขภาพของระบบหลักประกันสุขภาพ ทำให้ปัญหามีความสลับซับซ้อน และยังคงต้องการความร่วมมือในการทำงานเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ บนฐานการขับเคลื่อนอย่างมีทิศทาง และมีองค์ความรู้ที่ชัดเจนเชิงประจักษ์ 

          สำหรับวันที่ 18 ธ.ค. ของทุกปี ถือเป็น ‘วันผู้อพยพย้ายถิ่นฐานสากล’ หรือ International Migrants Day สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) โดยแผนงานสุขภาพประชากรข้ามชาติ ภายใต้ความร่วมมือยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและองค์การอนามัยโลก ค.ศ. 2022-2029 (WHO-RTG Country Cooperation Strategy: CCS) ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ศูนย์เรียนรู้ทางการแพทย์และสาธารณสุขชายแดนจังหวัดตาก โรงพยาบาลแม่สอด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) จัดประชุมวิชาการสุขภาพประชากรข้ามชาติ เนื่องในวันผู้อพยพย้ายถิ่นฐานสากล ประจำปี 2567 (Migrant Health Forum on International Migrants Day, 2024) ในวันที่ 17-18 ธ.ค. 2567 เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนสถานการณ์และองค์ความรู้ด้านสุขภาพประชากรข้ามชาติระหว่างภาคนโยบาย ภาคปฏิบัติ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับการจัดการด้านสุขภาพประชากรข้ามชาติ อันจะนำไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงนโยบาย และเพื่อให้สังคมเกิดความตระหนักและเห็นความสำคัญต่อการจัดบริการสุขภาพสำหรับประชากรข้ามชาติ ตลอดจนเกิดการยกระดับการทำงานร่วมกันในอนาคต โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ องค์กรภาคเอกชน องค์กรระหว่างประเทศที่มีส่วนสำคัญเกี่ยวข้องกับประเด็นสุขภาพประชากรข้ามชาติเข้าร่วมการประชุมกว่า 300 คน ณ ศูนย์เรียนรู้ทางการแพทย์และสาธารณสุขชายแดนจังหวัดตาก โรงพยาบาลแม่สอด ทั้งนี้ด้วยสภาพพื้นที่ของอำเภอแม่สอดมีลักษณะเป็นช่องทางผ่านเข้าออกประเทศไทยของชาวเมียนมามากที่สุด รวมทั้งมีพรมแดนทั้งทางบกและทางน้ำเป็นทางยาวมากกว่า 100 กิโลเมตร จึงเป็นที่มาของการเลือกเป็นสถานที่ในการจัดประชุมดังกล่าว

          นพ.พิทักษ์พงษ์ จันทร์แดง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก หน่วยงานสำคัญในพื้นที่ที่ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงาน  และร่วมให้เกียรติในการประชุมฯ กล่าวในพิธีเปิดงานประชุมว่า จังหวัดตากเป็นหนึ่งในจังหวัดเศรษฐกิจพิเศษ มีประชากรทั้งชาวไทย ชาวไทยภูเขา และแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะแรงงานด้านเกษตรกรรม ซึ่งปัญหาหลักของการเข้าถึงบริการสุขภาพของแรงงานต่างด้าวคือ การเข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมาย ไม่มีเอกสารยืนยัน ส่งผลทำให้ไม่มีหลักประกันสุขภาพใดๆ โดยเฉพาะในอำเภอแม่สอด เป็นพื้นที่ชายแดนที่อยู่ติดกับประเทศพม่า ในแต่ละปีจึงมีการเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองของชาวต่างชาติประมาณ 1 ล้านคนต่อปี และมีประชากรชาวเมียนมา รวมถึงชนกลุ่มน้อยเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอแม่สอดนับแสนคน ดังนั้นการจัดประชุมวิชาการสุขภาพประชากรข้ามชาติ เนื่องในวันประชากรข้ามชาติสากล ประจำปี 2567 ณ จังหวัดตาก จึงถือเป็นนิมิตหมายอันดี เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญของประชากรข้ามชาติที่มีต่อสังคมไทย รวมถึงเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลการจัดบริการสุขภาพ และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและองค์กรเอกชน 

          นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนเเละประสานกลางการขับเคลื่อนแผนงานสุขภาพประชากรข้ามชาติ กล่าวว่า ประเทศไทยยังคงมีความต้องการแรงงานต่างด้าวสูงอย่างต่อเนื่อง โดยแรงงานต่างด้าวมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างรายได้ต่อหัวของประชากรไทย หรือจีดีพี คิดเป็นสัดส่วนถึงประมาณ 6.2% ส่วนระบบประกันสุขภาพของแรงงานต่างด้าว ปัจจุบันมี 2 ระบบคือ ระบบประกันสังคมและระบบประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นระบบที่มีการให้บริการแตกต่างกัน นอกจากนี้ภาระในการให้บริการแรงงานต่างด้าวของสถานพยาบาลบางพื้นที่ พบผู้ป่วยนอกคิดเป็น 15% ส่วนผู้ป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาลคิดเป็น 27% ซึ่งประเทศไทยต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลปีละหลายร้อยล้านบาท สำหรับหลายประเทศมีการให้บริการบางอย่างฟรีกับคนทุกคน เช่น การให้วัคซีน เนื่องจากไม่ได้เป็นประโยชน์เฉพาะคนที่ได้รับเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์กับชุมชนและคนรอบข้างด้วย หรืออย่างวัณโรค วิธีจัดการโรคคือการหาผู้ป่วยให้เจอและรักษาให้หายขาด เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายต่อ ฉะนั้นการให้บริการสุขภาพพื้นฐาน จึงจำเป็นต้องดูแลทุกคนที่อยู่ในแผ่นดินไทย ทั้งนี้การดูแลสุขภาพของประชากรข้ามชาติในประเทศไทย เป็นเรื่องที่หลายหน่วยงานทั้งในประเทศไทยและนานาชาติมีความร่วมมือกันในการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด และหนึ่งในนั้นคือการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและองค์การอนามัยโลก ค.ศ. 2022-2029 (WHO-RTG Country Cooperation Strategy : CCS) โดยมี สวรส. ทำหน้าที่เป็นแกนกลางในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการบริหารแผนงานสุขภาพประชากรข้ามชาติ ภายใต้ความร่วมมือของเครือข่ายการพัฒนาระบบสุขภาพประชากรข้ามชาติทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการช่วยผลักดันให้เรื่องสุขภาพประชากรข้ามชาติเกิดการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีการระดมงบประมาณจากแต่ละหน่วยงาน เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมสิทธิความเป็นธรรมด้านสุขภาพในการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชากรข้ามชาติและผู้ไม่มีสัญชาติไทยที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทย ตลอดจนเสริมสร้างความเข้มแข็งในระบบการบริหารจัดการด้านสุขภาพสำหรับกลุ่มประชากรข้ามชาติ โดยการดำเนินงานในระยะถัดไป สวรส. จะเน้นไปที่การทำงานเชิงรุก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการส่งเสริมสนับสนุนสิทธิและความเป็นธรรมของประชากรข้ามชาติ โดยจะผลักดันให้เกิดหลักประกันและการเข้าถึงบริการสุขภาพสำหรับประชากรข้ามชาติต่อไป 

          ดร.นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ประธานเปิดการประชุมฯ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะองค์กรกำกับดูแลด้านสุขภาพและการสาธารณสุขของประเทศ ได้ให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหาสุขภาพของทุกคนที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทย ซึ่งรวมถึงสุขภาพของประชากรข้ามชาติ โดยงานด้านสาธารณสุขชายแดน เป็นหนึ่งในนโยบายมุ่งเน้นของกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากพื้นที่ชายแดนถือเป็นด่านหน้าในการป้องกันและควบคุมโรคระบาดที่จะเข้าสู่ประเทศ นอกจากนี้ พื้นที่ชายแดนยังมีบริบทของงานสาธารณสุขที่แตกต่างจากพื้นที่ปกติ ทั้งด้านสภาพภูมิศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรม จึงทำให้การปฏิบัติงานในพื้นที่มีลักษณะเฉพาะ ทั้งในด้านความหลากหลายทางประชากร การจัดสรรทรัพยากรและการเข้าถึงบริการ การเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรค รวมไปถึงการวางระบบสุขภาพข้ามพรมแดน ดังนั้น ความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐภายในและภายนอกกระทรวงสาธารณสุข สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน มูลนิธิ และองค์กรต่างๆ รวมทั้งภาคประชาสังคม จึงมีความสำคัญต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการจัดการด้านสาธารณสุขชายแดนเป็นอย่างยิ่ง การประชุมวิชาการในครั้งนี้ จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้หน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการด้านสุขภาพประชากรข้ามชาติ ได้มารวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การพัฒนาสาธารณสุขในพื้นที่ชายแดน และบทเรียนการจัดการสุขภาพสำหรับประชากรข้ามชาติ ทั้งในระดับนโยบาย และระดับปฏิบัติการ รวมไปถึงการเสริมพลังความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาควิชาการ และองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อขับเคลื่อนงานสาธารณสุขชายแดน ตลอดจนการพัฒนาข้อเสนอในการพัฒนาระบบสุขภาพประชากรข้ามชาติในพื้นที่ชายแดน ให้พร้อมรับมือกับปัญหาด้านสาธารณสุขชายแดน ควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากรด้านสาธารณสุข เพื่อให้ทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยมีหลักประกันสุขภาพ และมีสุขภาพที่ดี เมื่อเจ็บป่วยได้รับการดูแลอย่างถูกต้องและเหมาะสม

          ผศ.(พิเศษ)นพ.รเมศ ว่องวิไลรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สอด และผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้ทางการแพทย์และสาธารณสุขชายแดนจังหวัดตาก กล่าวว่า จากนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขในเรื่องการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ทางการแพทย์และสาธารณสุขชายแดน และพื้นที่พิเศษ เพื่อรองรับการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขในประเทศ รวมถึงพัฒนาระบบบริการในพื้นที่ชายแดน และพื้นที่พิเศษ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขให้มีความรู้ และมีทักษะที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงานสาธารณสุขในพื้นที่ชายแดน ศึกษาวิจัยเพื่อเรียนรู้และพัฒนางานสาธารณสุขชายแดน ตลอดจนการพัฒนาระบบข้อมูลสุขภาพและองค์ความรู้ร่วมกับเครือข่ายองค์กรภาคเอกชนในพื้นที่ รวมทั้งจากความร่วมมือภายใต้แผนงานสุขภาพประชากรข้ามชาติ ได้นำมาสู่การดำเนินงานสำคัญของศูนย์เรียนรู้ทางการแพทย์และสาธารณสุขชายแดนจังหวัดตาก อาทิ การจัดทำหลักสูตรเฉพาะของพื้นที่ เช่น ระบาดวิทยาในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา ระบบสาธารณสุขชายแดน การดูแลรักษาโรคเวชศาสตร์เขตร้อน อนามัยแม่และเด็กชายแดน การจัดการสิทธิและสถานะของประชากรในพื้นที่ชายแดน เป็นต้น รวมทั้งการจัดประชุมในครั้งนี้ ซึ่งศูนย์การเรียนรู้ฯ มีการพัฒนาความร่วมมือทางด้านวิชาการร่วมกันในพื้นที่ขยายกว้างออกไป โดยจัดให้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ 6 สถาบันการศึกษา ได้แก่ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยพะเยา และสภากาชาดไทย เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านสุขภาพในการจัดบริการสุขภาพประชากรข้ามชาติ 
 
          ทั้งนี้ในการประชุมวิชาการดังกล่าว มีประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ สถานการณ์ด้านสุขภาพของผู้อพยพระหว่างประเทศ: ระดับโลก ประเทศไทย และพื้นที่ชายแดน และความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน เงื่อนไขและปัญหาอุปสรรคที่ยังท้าทาย ทางรอด ทางออก กับการพัฒนาความร่วมมือของหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ สถานการณ์การจัดการปัญหาสุขภาพที่สำคัญในพื้นที่ชายแดน (เมียนมา ลาว และไทย) การพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านสุขภาพในการจัดบริการสุขภาพประชากรข้ามชาติ พร้อมมีการเปิดให้เยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ทางการแพทย์และสาธารณสุขชายแดนจังหวัดตาก
...............................
ข้อมูลจาก
[1]กองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข และ UNHCR ณ ก.ย. 2567
[2]สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กระทรวงแรงงาน ณ ต.ค. 2567 
 
 
 
 
รูปภาพเพิ่มเติม

แสดงความคิดเห็น

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้