4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

สวรส.เดินหน้าขยายผลวิจัย telehealth ดูแลผู้ป่วยเบาหวาน-ความดันสูง ลดค่าใช้จ่าย-ลดความแออัด รพ. เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ป่วยพื้นที่ห่างไกล

          ระบบ V-OPD (Virtual OPD) เทคโนโลยีดูแลสุขภาพทางไกล เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาบนพื้นฐานของ AMED Telehealth ซึ่งใช้ในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 แบบทางไกล ที่แยกกักตัวที่บ้าน ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรค โดยมีแนวคิดในการพัฒนาให้ครอบคลุมการบริการทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วย 1) การเฝ้าสังเกตการทางไกล 2) การให้คำปรึกษาทางไกล 3) การให้ความรู้ทางไกล และ 4) การจัดการการดูแลผู้ป่วยทางไกล ซึ่งผู้ป่วยสามารถติดตามภาวะสุขภาพด้วยตนเอง และสามารถปรับพฤติกรรมตามระดับความเสี่ยง ภายใต้การดูแลและให้คำแนะนำของบุคลากรทางการแพทย์วิชาชีพต่างๆ อาทิ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ฯลฯ ตามมาตรฐานการรักษาพยาบาล ซึ่งระบบ V-OPD เป็นการพัฒนาภายใต้งานวิจัย “โครงการใช้เทคโนโลยีสุขภาพทางไกลเพื่อดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และความดันโลหิตสูง” ที่สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ดำเนินการร่วมกับทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ทั้งนี้ระบบ V-OPD เป็นระบบที่ใช้ในการดูแลกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และความดันโลหิตสูงที่มีอาการปกติ และมีความพร้อมในการใช้สมาร์ทโฟน เพื่อลดการมาโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น แต่ยังสามารถได้รับการบริการดูแลอย่างต่อเนื่องตามมาตรฐานการนัดหมายของโรงพยาบาล และได้รับคำแนะนำด้านสุขภาพในการดูแลตนเอง โดยผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการให้บริการสุขภาพผ่านการใช้งานในระบบ Line OA โดยระยะแรกมีทดลองใช้งานจริงในพื้นที่นำร่อง ได้แก่ โรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช และมีการปรับระบบจนสามารถใช้งานได้ตามมาตรฐานการดูแลรักษาผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง รวมถึงขั้นตอนและเมนูต่างๆ ในการใช้เทคโนโลยีมีความสะดวกทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ โดยเมื่อเดือน ก.ค.67 ที่ผ่านมา ได้มีการขยายผลไปยังโรงพยาบาลสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ห่างไกลและอยู่บนเกาะ ดังนั้น ทพ.จเร วิชาไทย ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. จึงได้นำทีมผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมี พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ และนักวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดร.กิตติ วงศ์ถาวราวัฒน์ และนายวัชรากร หนูทอง ลงพื้นที่ติดตามการขยายผลงานวิจัย เพื่อเห็นถึงขั้นตอนการใช้งานระบบจริง และรับฟังปัญหาพร้อมข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนางานวิจัยต่อไป เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2567 ณ โรงพยาบาลสมุย จ.สุราษฎร์ธานี

          ทั้งนี้การขยายผลงานวิจัยในช่วงแรกเน้นไปที่การแนะนำโครงการกับผู้บริหาร และการอบรมการใช้งานระบบ V-OPD ให้กับวิชาชีพต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น แพทย์ เภสัชกร พยาบาล แล้วจึงคัดกรองผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ เพื่ออบรมการใช้งานระบบ V-OPD และรับการรักษาด้วยระบบทางไกล โดยปัจจุบันมีผู้ป่วยที่รับบริการด้วยระบบ V-OPD ที่โรงพยาบาลสมุย จำนวนทั้งหมด 20 คน แม้จำนวนอาจยังไม่มากนัก เพราะเป็นช่วงเริ่มต้นของการขยายผล แต่ผู้ใช้ประโยชน์ทั้งด้านผู้ให้บริการและผู้รับบริการ สะท้อนให้เห็นถึงความพึงพอใจและประโยชน์ที่ได้รับอย่างชัดเจน

          นางสาวภิญญาพัชญ์ ศรีแสงพันธ์ พยาบาลวิชาชีพที่ให้บริการระบบ V-OPD โรงพยาบาลเกาะสมุย ให้ข้อมูลว่า ผู้ป่วยเบาหวานของโรงพยาบาลสมุย ปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 4,200 คน ส่วนผู้ป่วยที่สามารถคุมระดับน้ำตาลได้ดีมีมากถึง 47% ซึ่งถ้าสามารถนำระบบ V-OPD มาใช้กับกลุ่มนี้ได้ ก็จะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายทั้งของผู้ป่วยและโรงพยาบาลได้จำนวนมาก โดยที่ผู้ป่วยยังได้รับการบริการดูแลอย่างต่อเนื่องตามมาตรฐานการนัดหมายของโรงพยาบาล และอยากเห็นชาวสมุยได้ใช้ระบบ V-OPD นี้ต่อเนื่อง เพราะเกิดประโยชน์กับผู้ป่วยมาก คนที่สามารถควบคุมระดับน้ำตาล ความดันได้ในระดับปกติ ไม่ควรต้องเสียเวลาเป็นวันๆ เพื่อมารอพบคุณหมอและรอรับยา 

          พญ.นัทมน พรหมเกาะ แพทย์ที่ให้บริการระบบ V-OPD โรงพยาบาลเกาะสมุย กล่าวว่า อยากให้งานวิจัยขยายผลไปในพื้นที่เกาะเล็กๆ เนื่องจากผู้ป่วยหลายรายไม่ได้มารับการรักษาต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ถ้าลูกหลานไม่มีเวลาพามาโรงพยาบาล ก็จะขาดหายจากระบบการรักษา ซึ่งการรักษาด้วยระบบ V-OPD สามารถช่วยแก้ปัญหาได้ โดยมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ช่วยประกบในการส่งข้อมูลให้ถูกต้อง เช่น น้ำหนัก ส่วนสูง ปริมาณน้ำตาล ความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ ฯลฯ

          ด้าน ทพ.จเร วิชาไทย ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. กล่าวว่า หลังจากงานวิจัยได้พัฒนาระบบ V-OPD เพื่อดูแลสุขภาพทางไกลในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และความดันโลหิตสูงแล้ว สวรส. เน้นการนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง และมีการติดตามเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพงานวิจัยเป็นระยะ ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวแสดงข้อมูลเชิงประจักษ์ให้เห็นชัดเจนว่า ถ้าสามารถขยายผลและนำไปใช้ในพื้นที่ห่างไกล จะสามารถช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งของผู้ป่วยและโรงพยาบาลได้อย่างชัดเจน ซึ่งหลังจากนี้ สวรส. และทีมวิจัยให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ตลอดจนการขยายผลในพื้นที่ห่างไกลอื่นๆ ต่อไป 

รูปภาพเพิ่มเติม

แสดงความคิดเห็น

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้