4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

สวรส. ชงแผน 68 ตอบสนองนโยบายประเทศ เร่งผลักดันวิจัยสนับสนุน “30 บาทรักษาทุกที่ฯ” ลดค่าใช้จ่ายสุขภาพจากโรคพยาธิใบไม้ตับ พร้อมนำเทคโนโลยีจีโนมิกส์ ยกระดับการแพทย์และเศรษฐกิจสุขภาพ

          สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จัดประชุมคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (บอร์ด สวรส.) ครั้งที่ 10/2567 โดยมี นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมช.สธ.) เป็นประธานการประชุม และ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (ผอ.สวรส.) กรรมการเเละเลขานุการ พร้อมด้วยกรรมการจากผู้เเทนกระทรวงเเละผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ร่วมประชุม เมื่อวันที่ 28 ต.ค.2567 ณ ห้องประชุมสุปัญญา ชั้น 4 อาคารสุขภาพแห่งชาติ

          นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผอ.สวรส. เสนอแผนการบริหารสถาบันฯ ต่อบอร์ด สวรส. เพื่อขับเคลื่อนองค์กรในปี 2568 ว่า จากนโยบายรัฐบาลด้านสาธารณสุขที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพ และบริการทางการแพทย์ เพื่อยกระดับระบบสาธารณสุขให้ดียิ่งกว่าเดิม ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้เร่งรัดพัฒนาและสานต่อนโยบายดังกล่าวให้เกิดเป็นรูปธรรม ทั้งการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว การแก้ปัญหายาเสพติด การแพทย์ปฐมภูมิ เศรษฐกิจสุขภาพ การเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพ การส่งเสริมสุขภาพกายและสุขภาพจิต สถานชีวาภิบาล เป็นต้น ทั้งนี้ สวรส. ในฐานะองค์กรวิชาการด้านการวิจัยระบบสุขภาพของประเทศ จึงมีบทบาทสำคัญในการสร้างความรู้เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายด้านสาธารณสุขและการพัฒนาประเทศดังกล่าว ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างก้าวกระโดด การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรที่เด็กเกิดใหม่มีจำนวนลดลง สัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นกว่า 20% และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่อายุคาดเฉลี่ยของคนไทยมากขึ้น โดยอายุคาดเฉลี่ยกับอายุคาดเฉลี่ยในปีที่มีสุขภาพดี ปัจจุบันอยู่ที่ 6.9 ปี ซึ่งสิ่งที่ควรจะเป็นคือ การมีอายุยืน ควรมีสุขภาพดีด้วย ทั้งนี้ปัจจัยที่ส่งผลต่อการสูญเสียสุขภาพของคนไทย 14.2% มาจากน้ำตาลในเลือดเกินค่าปกติ บุหรี่ 12% เหล้า 9.8% ความดันโลหิตสูง 9.2% ซึ่งพบในจำนวนมาก จึงเป็นปัญหาในลำดับต้นๆ ที่ควรเร่งแก้ไข สำหรับนโยบายที่จะทำให้ประเทศไทยพึ่งตนเองได้คือ การแพทย์ชั้นสูง ยา เวชภัณฑ์ ซึ่งจีโนมิกส์ไทยแลนด์เป็นส่วนหนึ่งที่จะผลักดันให้เกิดนโยบายดังกล่าว และขณะนี้ สวรส. อยู่ระหว่างการยกร่างแผนจีโนมิกส์ไทยแลนด์ ระยะที่ 2 เพื่อเสนอรัฐบาลให้ความเห็นชอบต่อไป ในส่วนของการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปัจจุบันมีการชะลอตัวลง โดยปี 2568 มีการถ่ายโอน 256 แห่ง จากปี 2567 ที่มีการถ่ายโอน 933 แห่ง ปี 2566 ถ่ายโอน 3,363  แห่ง ทั้งนี้ในส่วนของ รพ.สต. ที่ถ่ายโอนไปแล้ว สวรส. จะสนับสนุนข้อเสนอแนะทางด้านวิชาการเพื่อให้เกิดการบริการสุขภาพปฐมภูมิอย่างต่อเนื่อง และเกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมา สวรส. ได้มีการตั้งคณะทำงานเชิงรุก Health System Intelligent Unit (HSIU) และได้มีการจัดทำ Dashboard ที่เป็นศูนย์กลางข้อมูลที่เกี่ยวกับเรื่องการถ่ายโอนฯ ทั้งหมด เช่น ข้อมูลสถานการณ์และสรุปภาพรวมการถ่ายโอนตั้งแต่เริ่มจนถึงปัจจุบัน ข้อมูลงานวิจัย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถมาสืบค้นรายละเอียดและนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้อย่างสะดวก 

          ผอ.สวรส. เสนอต่อว่า จากปัญหาด้านสุขภาพที่สำคัญของประเทศ เช่นประเด็นพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งเป็นปัญหามาอย่างยาวนาน โดยมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคดังกล่าวสูงถึง 6,500 รายต่อปี ส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่าย 13,500 ล้านบาทต่อปีนั้น นำมาสู่งานวิจัยมุ่งเป้าของประเทศ ซึ่งในปี 2568 สวรส. จะเป็นหน่วยงานบริหารและจัดการทุนวิจัย (Program Management Unit: PMU) หลัก ในการขับเคลื่อนประเด็นปัญหาดังกล่าว เพื่อให้ประเทศไทยปลอดโรคพยาธิใบไม้ตับและลดอัตราการตายจากมะเร็งท่อน้ำดีได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ สวรส. ยังมีแผนที่จะยกระดับการวิจัยทางคลินิก โดยจะพัฒนาให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีความพร้อม สามารถสร้างงานวิจัยที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีศูนย์วิจัยทางคลินิกที่มีมาตรฐานระดับสากล เพียงแค่ 9 แห่ง ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุขมีศูนย์วิจัยทางคลินิกอยู่จำนวนไม่น้อย หากแต่ยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ดังนั้น สวรส. จึงตั้งเป้าที่จะพัฒนากลไกและการสนับสนุนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มจำนวนศูนย์วิจัยทางคลินิกของประเทศที่ได้มาตรฐานให้มากขึ้น เพื่อสนับสนุนการสร้างเศรษฐกิจและสุขภาพของประเทศในอนาคต รวมทั้งการผลักดันการแพทย์จีโนมิกส์สู่การใช้ประโยชน์ในระบบบริการสุขภาพมากขึ้น การขยายการทำงานในรูปแบบ HSIU กับประเด็นอื่นๆ ในระบบสุขภาพ ภายใต้การดำเนินงานที่จะนำ AI มาใช้ประโยชน์มากขึ้น และเน้นการสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อช่วยกันผลักดันทุกเป้าหมายให้เกิดขึ้นได้จริง และเกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด

          ทั้งนี้ในการประชุมคณะกรรมการ สวรส. ยังมีการนำเสนอผลการศึกษา “การประเมินผลเชิงพัฒนานโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ในพื้นที่นำร่อง” ซึ่งเป็นงานวิจัยของ สวรส. ที่เป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนนโยบายด้านสาธารณสุขของประเทศ และได้รับรางวัล Silver Award จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 ซึ่งจากผลการวิจัยเบื้องต้นพบว่า ผู้ป่วยและครอบครัวในพื้นที่นำร่องมีต้นทุนในการไปรับบริการสุขภาพลดลง เช่น ใช้เวลาน้อยกว่า ใช้ค่าใช้จ่ายน้อยกว่า เมื่อเทียบกับผู้ป่วยและครอบครัวในพื้นที่เปรียบเทียบ ส่วนความรอบรู้ด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการดูแลสุขภาพ ประชาชนในพื้นที่นำร่องมีความรอบรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในการดูแลสุขภาพมากกว่าประชาชนในพื้นที่เปรียบเทียบ ซึ่งบ่งบอกว่า นโยบายดังกล่าวอาจทำให้ประชาชนตื่นตัวและได้เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการดูแลสุขภาพ ซึ่งอาจส่งผลดีในด้านอื่นๆ ในอนาคต ทั้งนี้ในด้านต้นทุนต่อหน่วยบริการ ผลการวิจัยพบข้อมูลว่า มีอัตราการเบิกจ่ายที่ไม่เหมาะสม ซึ่งภาคเอกชนมีต้นทุนสูงกว่าอัตราการเบิกจ่ายของ สปสช. โดยระหว่างการดำเนินงานวิจัย ได้มีการสื่อสารข้อค้นพบจากงานวิจัยให้กับคณะทำงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นระยะ 

รูปภาพเพิ่มเติม
aYlNlfdX
08 พ.ย. 67
หัวข้อ

1

รายละเอียด

20


aYlNlfdX
08 พ.ย. 67
หัวข้อ

1

รายละเอียด

20


nZkkAbWB
14 ธ.ค. 67
หัวข้อ

1

รายละเอียด

20


hvqBoCKg
23 ธ.ค. 67
หัวข้อ

1

รายละเอียด

20


แสดงความคิดเห็น

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้